เรือประมงจอดคาฝั่ง 22 จังหวัด แพปลาหยุดกิจการสูญ 400 ล้านบาท

เรือประมง

เศรษฐกิจไม่ดี น้ำมันแพงกระทบหนัก “ธุรกิจประมง” เรือหยุดหาปลาแล้ว 50% ผู้ประกอบการสมุทรสาครจี้รัฐช่วยเหลือคลายกฎ IUU ชี้ปัญหาลามถึง 22 จังหวัดชายฝั่ง หวั่นแรงงานหนีหาย ตลาดทะเลไทยเงียบเหงา เงินหมุนเวียนต่อวันจาก 1,000 ล้านบาทเหลือแค่ 400 ล้านบาท

นายจุมพล ฆนวารี ประธานชมรมผู้ขายปลาจังหวัดสมุทรสาคร (ตลาดทะเลไทย) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้การค้าขายสัตว์น้ำในตลาดทะเลไทยซบเซาลง จากเงินหมุนเวียนวันละ 1,000 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือ 400-500 ล้านบาท เนื่องจากน้ำมันแพงต่อเนื่อง ส่งผลให้เรือประมงต้องหยุดออกเรือ 60-70% ทำให้ตลาดทะเลไทยมีสัตว์น้ำจำหน่ายลดลง

ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดีจะปรับราคาขายให้สูงขึ้นก็ไม่ได้ กลายเป็นว่าต้นทุนขึ้น แต่ราคาขายเท่าเดิม สุดท้ายชาวประมงจะได้รับผลกระทบหนัก ขอให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือเรื่องราคาน้ำมันที่เป็นตัวขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรมประมง

“ภาพรวมตอนนี้แย่ลงมาก ผลกระทบเป็นลูกโซ่ ถ้าเรือประมงหยุดลากปลา แพก็มีของขายน้อย ตลาดทะเลไทยที่เคยมีรถสัตว์น้ำเข้ามาวันละ 10 ตู้ตอนเทนเนอร์ ก็เหลือแค่ 3-5 ตู้คอนเทนเนอร์ ในทางกลับกันรายจ่ายกลับเพิ่มขึ้นเท่าตัว ขณะที่ต้นทุนแพปลามีอยู่ทุกวัน ทั้งพนักงานที่ไม่สามารถเลิกจ้างได้ รายได้ก็หายไป 70% แพปลาอยู่ลำบาก”

“ด้านเรือประมงบางส่วนหยุดทำไป ส่วนเรือที่ไม่สามารถหยุดได้ เพราะต้องแบกรับภาระค่าแรงงาน ปลาที่จับมาขายก็พอจ่ายค่าน้ำมันกับค่าแรงงาน แต่ไม่มีกำไร เรือบางลำออกไปจับปลาก็ขาดทุน หากเรือหยุดทำประมงหลายวัน แรงงานจะย้ายไปทำที่อื่น หาทดแทนยาก”

ส่วนสัตว์น้ำที่นำเข้าจากเมียนมา ตอนนี้ตลาดทะเลไทยนำเข้าประมาณ 10% สินค้านำเข้ายังสู้ของสดจากเรือประมงที่เข้ามาวันต่อวันไม่ได้ จริง ๆ แล้วเรือประมงของเมียนมาใช้น้ำมันราคาแพงกว่าเรือประมงไทย แต่ในเรื่องระเบียบกฎหมายในการควบคุมเรือประมงน้อยกว่าไทย และไม่โดนสหภาพยุโรป (EU) ให้ใบเหลืองการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) เหมือนประเทศเรา ทำให้มีความคล่องตัวในการทำประมงมากกว่าไทย

นายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจประมงได้รับผลกระทบจากระเบียบข้อกฎหมายเรื่อง IUU มาตลอด 8 ปี ธุรกิจภาคประมงไปต่อลำบาก ยิ่งราคาน้ำมันสูงขึ้นก็ยิ่งเป็นต้นทุนสำหรับอาชีพนี้ โดยส่งผลให้ 22 จังหวัดที่ทำธุรกิจประมงได้รับผลกระทบหมด

คาดว่าเรือจะหายไป 50% เฉพาะสมุทรสาครจะเห็นภาพชัด เพราะเป็นศูนย์กลางอาหารทะเลจากทั่วประเทศ ซึ่งจังหวัดนี้มีเรืออยู่ 400 ลำ ปัจจุบันหยุดไปแล้วครึ่งหนึ่ง เพราะสู้กับต้นทุนไม่ได้

จึงขอให้รัฐบาลช่วยใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.เร่งแก้ไขกฎระเบียบข้อกฎหมาย IUU ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติ แยกประเด็นความผิดทางธุรการ และความผิดทางทรัพยากร เนื่องจากที่ผ่านมาความผิดทางธุรการเล็ก ๆ น้อย ๆ โดนค่าปรับ ถูกยึดเรือ ยึดสัตว์น้ำ

2.อุดหนุนราคาน้ำมัน อย่าให้ขึ้นสูงมาก 3.การขาดแคลนแรงงาน บางส่วนทยอยหมดอายุ ให้รีบออกประกาศเปิดลงทะเบียน เพื่อไม่ให้แรงงานที่ถูกกฎหมายกลายเป็นแรงงานเถื่อน

“หากย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน ราคาน้ำมันพุ่งสูงถึงลิตรละ 38-39 บาทก็ยังอยู่กันได้ เพราะค่าแรงงานไม่สูง กฎระเบียบการทำประมงก็ไม่ได้มากมาย แต่ปัจจุบันกฎระเบียบเพิ่ม รวมทั้งต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำมันแพง เมื่อก่อนเศรษฐกิจดีกว่านี้ ประชาชนมีกำลังซื้อ แต่ตอนนี้กลายเป็นปัญหาทั้งระบบ ถ้าน้ำมันราคาลง แต่ไม่มีแรงงานก็ไปต่อไม่ได้อยู่ดี”

ถ้าราคาน้ำมันขึ้นถึง 38 บาทต่อลิตร คาดว่าจะมีการหยุดกิจการกว่า 80% เรือประมงที่ออกจับปลาอยู่ในตอนนี้ไม่มีกำไร แต่ออกเพื่อหารายได้ประคองดูแลแรงงาน ตอนนี้เหลือเรือลากอยู่ 100 กว่าลำ หวังว่าสถานการณ์ต่าง ๆ คงดีขึ้น

ส่วนเรื่องปลานำเข้าจากเมียนมา ซึ่งเริ่มเปิดอ่าวจะมีผลต่อราคาสัตว์น้ำของไทย ที่ผ่านมารัฐพยายามจัดระเบียบประมงไม่ให้เป็น IUU ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่สินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ทำผิด IUU กลับเข้ามาขายในประเทศได้อย่างเสรี เป็นปัญหาความเท่าเทียมในการประกอบอาชีพ

นายพรภิรมย์ อื้อศรีชัย เจ้าของเรือประมง และแพปลา ป.รุ่งนาวีลากแขก จ.สมุทรสาคร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทำปลาส่งโรงงานปลากระป๋อง ตอนนี้อยากให้รัฐบาลช่วยเรื่องราคาน้ำมัน จากเดิมออกเรือครั้งหนึ่งใช้น้ำมัน 7 ลิตร ค่าน้ำมัน 3-4 แสนบาท

ตอนนี้เพิ่มเท่าตัวประมาณ 6 แสนบาท ถ้าราคาปรับขึ้นลิตรละ 1 บาทไปเรื่อย ๆ ต้นทุนการขนส่งทุกอย่างจะเพิ่มหมด ทั้งการจ้างรถตู้คอนเทนเนอร์ ค่าจ้าง 12,000 บาทต่อเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 15,000-16,000 บาท

“ช่วงปกติเรือประมงจับปลามาส่งได้ 2 แสนกิโลกรัมต่อวัน แต่ปัจจุบันมีเพียง 14,000 ตันต่อวัน ลดลงไปมาก ทำให้ส่งเข้าโรงงานทำปลากระป๋องได้ลดลงเช่นกัน”