แก้ IUU คว้าน้ำเหลว 7 ปีทุบเรือประมงสูญ 2 ล้านล้านบาท

ประมง
แฟ้มภาพ

7 ปีแก้ไขประมงผิด IUU ทุบประมงพาณิชย์พัง 2 ล้านล้านบาท แถมเปิดช่องประมงเถื่อนโผล่ 8 หมื่นลำ ฉุดจำนวนสัตว์น้ำวูบต่อเนื่อง 4 ปี เร่งเสนอ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ไขก๊อก 25 ประเด็น

นายมงคล สุขเจริญคณา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า 7 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) นับจากการบังคับใช้ พ.ร.ก.การประมง 2558 แม้ว่าจะทำให้สหภาพยุโรป (EU) ประกาศปลดใบเหลืองประมงไทยในปี 2562 แต่ทว่ากฎหมายดังกล่าวมีความเข้มงวด รุนแรง ส่งผลกระทบต่ออาชีพชาวประมงมาโดยตลอด

ส่วนความคืบหน้าข้อเสนอให้รัฐบาลจัดงบประมาณ ปี 2565 อย่างน้อย 7,000 ล้านบาท เพื่อซื้อเรือประมงเพื่อคัดออกจากระบบจำนวน 2,500 ลำ จากจำนวนทั้งสิ้น 10,200 ลำ ซึ่งสืบเนื่องมาจากการบังคับใช้ พ.ร.ก.การประมง 2558 นั้นก็ไม่ได้รับการตอบรับ ทั้งยังใช้วิธีปรับลดวันทำประมง เช่น สลับวันเว้นวัน ทำให้เรือประมงแต่ละลำมีเวลาออกเรือเฉลี่ยประมาณ 8 เดือนต่อลำต่อปี และยังมีการปิดอ่าว เพื่อควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำในทะเล หรือ over fishing ซึ่งทำให้รายได้ชาวประมงลดลง จนในปัจจุบันคาดว่า ประมงพาณิชย์หยุดกิจการไปแล้ว 30-40% เหลือเรือเพียงแค่ 6,000 ลำ จากที่เคยมีเรือหลักหมื่นลำ และอีกด้านภาครัฐเปิดเสรีนำเข้าสินค้าประมงเพื่อมาแปรรูปแล้วส่งออกปีละแสนล้าน ยิ่งซ้ำเติมอาชีพชาวประมงของไทยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อีก ซึ่งประเมินว่าความเสียหายภาคประมงตอนนี้มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท

“แม้จะบอกว่าการปรับลดวัน-ปิดอ่าวเป็นการเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำ แต่กลับพบข้อมูลว่าปริมาณสัตว์น้ำปี 2564 ลดน้อยถอยลงมาน้อยกว่าปี 2559 โดยล่าสุดในการประชุมนโยบายการประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้วิเคราะห์จุดอ้างอิง และการกำหนดปริมาณสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมงสำหรับปีการประมง 2565-2566 มีการดูตัวเลขย้อนหลังจำนวนปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำลดลงเรื่อย ๆ ทุกปี โดยปี 2563 มี 1.6 แสนตัน ปี 2564 ลดลงเหลือ 1.5 แสนตัน”

“สมาคมขอตั้งข้อสังเกตการแก้กฎหมายการประมงเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ เพราะมีจำนวนเรือประมงพื้นบ้านที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้อง หรือเรียกเรือเถื่อนกว่า 50,000-80,000 ลำ ซึ่งเรือประมงพื้นบ้านอยู่ในระบบจริงเพียงแค่ 27,000 ลำ และยังไม่ออกใบอนุญาตอีก 3,500 ลำ ดังนั้น การละเลยปล่อยให้เรือเถื่อนเพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุทำให้เรือประมงที่ทำการประมงตามแนวชายฝั่งเพิ่มสูงขึ้นจำนวนมาก ส่งผลให้มีการจับพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำที่เข้าไปวางไข่ตามแนวชายฝั่งและในพื้นที่ปิดอ่าว ถูกจับไปก่อนที่จะวางไข่จนหมด จึงถือว่าเป็นการตัดวงจรชีวิตสัตว์น้ำอย่างมีนัยสำคัญ”

นายมงคลกล่าวว่า ล่าสุดในการหารือร่วมกับสมาชิก 22 จังหวัดในการประชุมวิสามัญสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้สรุปข้อเสนอ 25 ข้อ เพื่อยื่นต่อ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งในฐานะประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ติดตาม ตรวจสอบควบคุมเฝ้าระวังการทำการประมงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับข้อเสนอสำคัญ อาทิ 1.ขอวันทำการประมงเพิ่ม 2.ขอให้เร่งรัดดำเนินการเกี่ยวกับการนำเรือออกนอกระบบที่พัฒนาได้รับปากไปแล้ว โดยขอให้ใช้งบฯกลางโยกงบฯทำปะการังเทียมของหน่วยงานมาซื้อเรือ 3.การยื่นขออนุญาตการทำประมงพาณิชย์รอบใหม่ ขอกรมประมงอย่าเพิ่มเงื่อนไขนอกเหนือจากรอบปีก่อนเพราะไม่สามารถปฏิบัติได้ทัน 4.เขตประมงชายฝั่งยังไม่มีการออกประกาศ

5.ปัญหาเรือประมงเวียดนามเข้ามาลักลอบทำการประมงในเขตประเทศไทยโดยเฉพาะที่เกาะกะ 6.การแก้ไขปัญหาให้ดูที่เจตนา ที่สำคัญคือการออกกฎหมายต่าง ๆ ของกรมประมง และภาครัฐมีการใช้กฎหมายและโทษปรับที่รุนเเรง โดยพบมีการให้ข้อมูลผิด ๆ กับทางผู้มีอำนาจ ทำให้ประเทศชาติเสียหายอย่างมาก และขอความคืบหน้าการขอใช้ ม.83 แห่งพระราชบัญญัติการประมง 2558 ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงาน และ 7.ขอความจริงใจและให้ส่วนราชการเห็นใจชาวประมงพาณิชย์บ้าง ซึ่งเบื้องต้น พล.อ.สุรเชษฐ์รับปากจะนำไปพิจารณาและดูที่เจตนาเป็นหลักและร่วมหารือกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลต้องการให้ลดปัญหาควรจัดงบประมาณซื้อเรือส่วนเกิน ต่อใบอนุญาต และรับฟังปัญหาที่แท้จริง ทั้งนี้ การซื้อเรือที่รัฐบาลสัญญาว่าจะซื้อเรือออกนอกระบบยังติดค้างอยู่ที่งบประมาณ ก็ไม่ได้มีการดำเนินการและรับงบประมาณมาตั้งแต่ต้น ภายในเดือนหน้าจะมีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ หลังจากประชุมประมง 22 จังหวัดในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เพื่อแต่งตั้งประธานสมาคมการประมงคนใหม่แทน นายจำกร มงคลตรีลักษณ์ ที่จะหมดวาระ