พลอยจันท์ 3 หมื่นล้านฟื้น 65% “สหรัฐ-ยุโรป” ซื้อพุ่ง-ชูนำเข้าวัตถุดิบไนจีเรีย

“พลอยสี” เมืองจันทบุรีเริ่มฟื้น ยอด 4 เดือนแรกโต 65% ตลาดสหรัฐ ยุโรปสั่งซื้อ 100% รุกทำทวิภาคี “ไนจีเรีย” นำเข้าพลอยก้อนคุณภาพดี เล็งเชิญทุนต่างชาติเข้ามา “เปิดประมูลพลอยก้อน” ที่จันทบุรีป้อนรายย่อย

นายชายพงษ์ นิยมกิจ ประธานคณะกรรมการหอการค้าจันทบุรี และอุปนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจังหวัดจันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ของไทย 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน 2565) มีมูลค่า 2,531.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 41.22% สืบเนื่องจากช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยอดการส่งออกตกไป 72% ถึง 2 รอบ ทำให้การฟื้นตัวไม่ถึง 50% ขณะที่จันทบุรีในส่วนพลอยเนื้อแข็งเจียระไน มูลค่าการส่งออกรวม 328 ล้านดอลลาร์ เติบโตขึ้นประมาณ 65%

ชายพงษ์ นิยมกิจ

ทั้งนี้ เดิมคาดการณ์ว่าปี 2565 ธุรกิจอัญมณีและห่วงโซ่การผลิตจะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติและมีแนวโน้มดีขึ้น เพราะความต้องการของตลาดต่างประเทศมีสูงหลังจากสภาวะเศรษฐกิจกลับมาปกติ แต่เมื่อลูกค้าหลักจีนยังล็อกดาวน์เดินทางเข้ามาไม่ได้ จึงเหลือลูกค้าหลักสหรัฐอเมริกา และยุโรปที่มีอัตราการซื้อเพิ่มขึ้นถึง 100% แต่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ยุโรป อาจส่งผลต่อการซื้อ ทำให้อัตราการเติบโตตลอดปี 2565 คงที่เป็นเรื่องยากขณะที่จีนลูกค้าหลักยังไม่เดินทางเข้ามา คงต้องรอดูการเปลี่ยนแปลงปี 2566

“ปี 2566 คาดการณ์ว่าสถานการณ์ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับน่าจะกลับมาดีขึ้น หากตลาดนักท่องเที่ยวจีนกลับมา แต่ภาพรวมยังคงมีสภาวะความเสี่ยงอื่น ๆ อีก เช่น เงินเฟ้อ สภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ รวมถึงค่าเงินบาทอ่อน มีผลกระทบมาก เพราะระยะยาวต้องซื้อสินค้านำเข้าเป็นเงินเหรียญดอลลาร์ จุดนี้รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเร่งวิเคราะห์ปัญหา และแก้ไขอย่างเร่งด่วนในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ แต่ต้องไม่ใช่การขึ้นดอกเบี้ยในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ส่วนโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ๆ ไม่น่าเป็นปัญหาเพราะนโยบายรัฐจำเป็นต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการเปิดประเทศ และแต่ละคนต้องรู้จักดูแลตนเอง”

นายชายพงษ์กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาอัญมณีต้องเผชิญกับการหดตัวเชิงอุตสาหกรรม เพราะปัญหาการขาดแคลนพลอยดิบ (หรือพลอยก้อน) ที่นำมาทำพลอยเนื้อแข็งเจียระไนส่งออก โดยที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้าจากประเทศในแถบแอฟริกากว่า 90% แต่ต่อไปนี้จะเป็นจุดพลิกให้ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับฟื้นตัว จากวัตถุดิบพลอยเนื้อแข็ง

โดยเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2565 นายโอวีคูโรมา โอโรกุน เจบะฮ์ (H.E. Mr.Ovikuroma Orogun Djebah) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย ประจำประเทศไทย พร้อมคณะ ได้เดินทางเยือนจังหวัดจันทบุรี เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีจากการเข้าถึงวัตถุดิบที่มีคุณภาพในลักษณะเป็นคู่ค้าทวิภาคีกับไทย พลอยดิบของไนจีเรียเป็นพลอยสีที่มีคุณภาพ ปกติประเทศไทยจะนำเข้าพลอยดิบจากกลุ่มประเทศในแถบแอฟริกามูลค่า 10,000 ล้านบาท/ปี

เมื่อนำไปเจียระไนสามารถสร้างมูลค่าการส่งออกได้ปีละ 30,000 ล้านบาท หากนำเข้าพลอยไนจีเรียได้โดยตรงจะทำให้จันทบุรีมีวัตถุดิบที่มีคุณภาพ และผลิตสินค้าคุณภาพดีแข่งขันในตลาดโลก สามารถดึงลูกค้าในตลาดที่มีอยู่แล้วให้กลับมา

“หลังจากมีการเจรจากับไนจีเรีย ในระยะสั้นหอการค้า จ.จันทบุรี ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรม จ.จันทบุรี และสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับ จ.จันทบุรี จัดกิจกรรมขับเคลื่อนแบบ B to B 2 ก่อน โดยเชิญทางไนจีเรียนำพลอยก้อนมาร่วมในงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับในจันทบุรี และทำข้อตกลง (MOU) เชื่อมโยงทางการค้า จับคู่กันทางธุรกิจ matching กันโดยตรงกับโรงงาน คาดว่าธุรกิจอัญมณีเชิงอุตสาหกรรมที่หดตัวไปจะฟื้นตัวขึ้นจากการมีวัตถุดิบ และมีโอกาสแข่งขันกับศรีลังกาทางด้านพลอยเนื้อแข็ง และจีน อินเดียที่มีพลอยเนื้ออ่อน”

ในระยะกลาง และระยะยาว การสร้างความสัมพันธ์แบบพาร์ตเนอร์ชิปหรือทวิภาคี จะช่วยส่งเสริมตลาดพลอยก้อนในจันทบุรีให้มีความเข้มแข็ง และต่อไปจะจัดให้ประมูลพลอยก้อนที่จันทบุรี มูลค่าการประมูลแต่ละครั้งกว่า 2,000 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดและช่วยผู้ประกอบการรายย่อยด้วย ซึ่งจะเชื่อมโยงกับตลาดพลอยที่ฟื้นตัวขึ้น กลับมา 60-70% ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ เพราะภาคการท่องเที่ยวของจันทบุรีมีอัตราการเติบโตมากจากตัวเลขนักท่องเที่ยวปี 2564 จำนวน 300,000 คน ไตรมาสแรกปีนี้ มีจำนวน 400,000 คน

นายชัยรัตน์ บุญส่ง พาณิชย์จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ได้หารือกับสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรีและอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี เพื่อขับเคลื่อนให้จันทบุรีเป็น “นครอัญมณี” ตามนโยบายรัฐบาล ด้านการค้าตลาดพลอยก้อนแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก จัดตลาดพลอยก้อน ณ ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีเครื่องประดับจันทบุรี พร้อมทั้งอาคารจัดจำหน่าย และมีหน่วยตรวจสอบคุณภาพพลอยของมหาวิทยาลัยบูรพา ห้องมั่นคง

โดยรวบรวมรายชื่อผู้ค้าพลอยก้อนจากแอฟริกาที่เป็นผู้ประกอบการในพื้นที่อยู่แล้ว จัดเป็นตลาดเล็ก ๆ ให้ผู้ซื้อ ผู้ขายมาพบกันจะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่เข้าถึงวัตถุดิบ โดยจะ kick-off ให้เร็วที่สุดเพื่อทดลองตลาด จากนั้นจะกำหนดวันจัดกิจกรรมเป็นประจำ และต่อไปจะมีโครงการประมูลพลอยก้อนที่จังหวัดจันทบุรี จากปกติจะประมูลในกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่มูลค่าวงเงินประมูลสูง จะเชิญนักลงทุนต่างชาติเข้ามาที่จันทบุรีต้องเตรียมความพร้อมหลายด้าน