เปิดประวัติ Shake Shack ฟาสต์ฟู้ดอเมริกัน กับสาขาแรกในไทย

Shake Shack ประเทศไทย เซ็นทรัลเวิลด์

เปิดประวัติ Shake Shack (เชค แช็ค) ร้านฟาสต์ฟู้ดสัญชาติอเมริกันที่เตรียมปักหมุดประเทศไทย เปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์ 30 มีนาคม 2566

อย่างที่ทราบกันว่า Shake Shack (เชค แช็ค) ร้านฟาสต์ฟู้ดจากสหรัฐอเมริกา เตรียมปักธงประเทศไทย เปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์ (centralwOrld) ในวันที่ 30 มีนาคมที่จะถึงนี้

แม้จะเป็นครั้งแรกในไทยที่ร้านฟาสต์ฟู้ดแบรนด์นี้ เลือกปักหมุดในพื้นที่ที่เป็นแหล่งช้อปปิ้งระดับโลกของไทย แต่เส้นทางการเกิดขึ้นของแบรนด์นี้ เดินทางมานานถึง 2 ทศวรรษ จากร้านเล็ก ๆ ในสวน จนปักหมุดการเติบโตไปตามเมืองสำคัญทั่วโลก และเข้าตลาดหลักทรัพย์

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จักแบรนด์ร้านฟาสต์ฟู้ดสุดชิคนี้ให้มากขึ้น

จุดเริ่มต้น Shake Shack

จุดเริ่มต้นของ Shake Shack ร้านฟาสต์ฟู้ดสุดชิคนี้ เริ่มต้นเมื่อปี 2544 โดย Union Square Hospitality
Group (USHG) ของ แดนนี่ มายเยอร์ (Danny Meyer) ซึ่งเป็นเจ้าของและบริหารร้านอาหารยอดนิยมในนครนิวยอร์ก เช่น Union Square Cafe, Gramercy Tavern และ Blue Smoke เป็นต้น

แต่การเริ่มต้นของ Shake Shack ณ เวลานั้น ยังไม่ได้เป็นร้านฟาสต์ฟู้ดแบบที่เห็นกันบ่อย ๆ แต่เริ่มต้นด้วยการเป็นรถเข็นขายฮ็อตด็อกที่สวนสาธารณะเมดิสัน สแควร์พาร์ค เพื่อสนับสนุนองค์กรอนุรักษ์สวนสาธารณะเมดิสันสแควร์พาร์ค (Madison Square Park Conservancy) ซึ่งจัดกิจกรรม “Art In the Park” งานแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยกลางแจ้ง

ความน่าทึ่งของงานในวันนั้น คือ การมีผลงานศิลปะที่จัดแสดงในปีนั้นคือ งานแสดง Installation Art “I Heart Taxi” โดยศิลปินชาวไทย นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล

การสนับสนุนของร้านฮ็อตด็อกรถเข็นในวันนั้น ทำให้หน่วยงานของนครนิวยอร์กในเวลานั้น ให้การสนับสนุนโดยการให้พื้นที่สำหรับตั้งคีออส (Kiosk) เพื่อเป็นพื้นที่ให้ธุรกิจเล็ก ๆ นี้ในการสนับสนุนการระดมทุนแก่สวนสาธารณะแห่งนี้ต่อไป

จากนั้น ร้าน Shake Shack แห่งแรก จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2547 และกลายเป็นจุดรวมตัวของผู้คนในเมือง ทั้งนักท่องเที่ยวและผู้คนในท้องถิ่น

ธุรกิจ Shake Shack เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีการขยายสาขาไปในหลาย ๆ รัฐ ทั่วสหรัฐอเมริกา และขยายสาขาไปในหลายประเทศทั่วโลก จนกระทั่งปี 2558 ได้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE: SHAK)

ข้อมูลจากจดหมายถึงผู้ถือหุ้น Shake Shack ประจำไตรมาสที่ 4/2565 ระบุว่า ปัจจุบันมีสาขาถึง 439 แห่ง แบ่งเป็น 287 สาขาในสหรัฐอเมริกา และสาขาในต่างประเทศ 149 สาขา โดยปีที่ผ่านมา Shake Shack เปิดสาขาใหม่ทั้งสาขาปกติ และสาขาแบบไดรฟ์-ทรู รวม 39 สาขา

ขณะที่มูลค่าบริษัท ตามข้อมูลจาก macrotrends.net ระบุว่า ปัจจุบันมีมูลค่ามากถึง 2.33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณกว่า 79,000 ล้านบาท)

Shake Shack กับหมุดหมายใหม่ที่ประเทศไทย

หลังจาก Shake Shack ปักหมุดหมายแล้วหลายประเทศ ในที่สุดก็ถึงเวลาที่แบรนด์ดังจากต่างประเทศ จะมาชิมลางตลาดร้านอาหารประเทศไทย

ย้อนกลับไปเมื่อพฤษภาคม 2565 ช่องทางโซเชียลมีเดียของ Shake Shack โพสต์ประกาศเตรียมเปิดสาขาแรกในประเทศไทย แต่ ณ ขณะัน้น ยังไม่มีการเปิดเผยอย่างชัดเจนว่าจะเปิดที่ไหน

จากนั้น ต้นปี 2566 เริ่มมีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่า จะปักหมุดสาขาแรกในประเทศไทย บนพื้นที่ช้อปปิ้งระดับโลกอย่าง เซ็นทรัลเวิลด์ (centralwOrld) ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเปิดตลาดใหม่ของ Shake Shack โดยการเปิดสาขาแรก ๆ ที่เมืองหลวงหรือเมืองสำคัญของแต่ละประเทศ

การเข้ามาของ Shake Shack ในประเทศไทยนั้น บริษัท แม็กซิมส์ เคเทอร์เรอร์ จำกัด (Maxim’s Caterers Limited) เป็นผู้นำเข้าแบรนด์ดังกล่าวมาเปิดสาขาในประเทศไทย ซึ่งในแง่ประสบการณ์การดูแลและบริหารร้านอาหาร ถือว่ามากพอสมควร เพราะบริษัทดังกล่าว เป็นเจ้าของแบรนด์อาหารดัง ทั้งขนมไหว้พระจันทร์ Hong Kong MX, อิปปุโดะ ราเมง และอื่น ๆ ซึ่งมีสาขาตามหัวเมืองใหญ่รวมกันกว่า 1,900 แห่ง

การมาประเทศไทยครั้งแรกอย่างเป็นทางการของ Shake Shack มากับความไม่ธรรมดา เพราะจับมือกับ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ศิลปินชาวไทย ที่เคยร่วมสร้างสรรค์ผลงาน “I Heart Taxi” บนรถเข็นขายฮ็อตด็อก เมื่อ 22 ปีที่แล้ว มาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะบน Hoarding ให้กับ Shake Shack สาขาแรกในประเทศไทย

ผลงานศิลปะบน Hoarding สาขาแรกของไทยนั้น Shake Shack เล่าว่า เป็นการต่อยอดจากเรื่องราวจุดกำเนิดของแชค แช็ค เมื่อ 22 ปีก่อน ที่ Madison Square Park จากผลงาน I Heart Taxi โดยนาวิน สร้างตัวละคร Taxi Man ขึ้นมาใหม่ เล่าเรื่องการเดินทางของ Taxi Man จากนิวยอร์กถึงกรุงเทพฯ ผ่านบุคคลผู้เชื่อมโยงเรื่องเล่าของสองเมือง

เริ่มตั้งแต่ แดนนี่ มายเยอร์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ แรนดี้ การุตติ CEO ของแบรนด์ ภาพของตัวเขาเอง, มารี ลูกสาวของเขา ที่หน้าร้าน Shake Shack รวมถึงบุคคลสำคัญท่านอื่น ๆ หลอมรวมกันอยู่ในงานศิลปะอันเต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา

ภาพศิลปะบน Hoarding สาขาแรกในประเทศไทย (ภาพจาก shakeshack.co.th)

ขณะที่การออกแบบของร้าน Shake Shack สาขาแรกในไทยนั้น มาในคอนเซ็ปท์ “Urban Oasis” ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสาขาแรกที่มหานครนิวยอร์ก ผสานกับความเป็นกรุงเทพมหานครที่ไม่เคยหลับไหล

เน้นโทนสีชมพูและสีเขียวพาสเทลที่ให้สัมผัสของความรู้สึกละมุน ตัดกับเพดานโลหะเงินสูงโปร่งที่มีลักษณะร่วมสมัย ผนังลูกฟูกสลับจังหวะพอดีกับกระเบื้องสีชมพูและสีเขียวของใบไม้ชุ่มฉ่ำเพื่แเชื่อมโยงไปถึงเมดิสันสแควร์พาร์ค นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ด้านนอกไว้รับรอง สัมผัสบรรยากาศของผู้คนที่สัญจรไปมารอบเซ็นทรัลเวิล์ด

SHAKE SHACK

SHAKE SHACK

นอกจากนี้ เป้าหมายของ Shake Shack ในประเทศไทย ตั้งเป้าเปิดสาขาในไทย 15 สาขา ภายในปี 2575 หรือภายใน 10 ปีข้างหน้า โดยมีการคาดการณ์ว่า สาขาต่อไป จะไปเปิดที่ Emporium/EmQuartier ซึ่งถือเป็นอีกย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่มีกำลังซื้อสูง

เปิดเมนูเด็ด Shake Shack

สำหรับเมนูอาหารภายในร้าน Shake Shack จะคล้าย ๆ กับร้านฟาสต์ฟู้ด มีทั้งอาหาร เบอร์เกอร์ และเครื่องดื่ม แต่ความต่างสำคัญเทียบร้านฟาสต์ฟู้ดอื่น ๆ คือ การเป็นร้านแบบ Fine Casual Dining เน้นการเสิร์ฟแบบปรุงสุกจานต่อจาน ไม่มีการแช่แข็ง และคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพ

ส่วนเมนูแนะนำของ Shake Shack มีดังนี้

  • ฮ็อตด็อกไส้กรอกเนื้อ เมนูเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์
  • Shack Burger เมนูซิกเนเจอร์ ทำจากเนื้อวัวแองกัสที่ไม่ผ่านการฉีดยาปฏิชีวนะหรือเร่งฮอร์โมน
  • Shroom Burger เบอร์เกอร์มังสวิรัติ ที่ทำจากเห็ดพอร์โทเบลโลทอดสอดไส้ชีส
  • Smoked Shack เบอร์เกอร์เบคอนรมควัน
  • Chicken Shack เบอร์เกอร์อกไก่ทอดกรอบ
  • Hot Chicken เบอร์เกอร์เนื้อสะโพกไก่ชุดแป้งรสเผ็ดทอดกรอบ

ขณะเดียวกัน เมนูของหวานของ Shake Shack มีทั้ง Concretes หรือไอศกรีมพรีเมี่ยม ปั่นผสมกับคัสตาร์ดและไข่แดงแบบ Cage-Free ปั่นสดใหม่ทุกวัน และเมนูมิลค์เชคแบบต่าง ๆ

นอกจากนี้ อีกความพิเศษของ Shake Shack คือ การมีเมนูพิเศษที่นำเสนอความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ และจำหน่ายเฉพาะประเทศนั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งประเทศไทยมีเมนูพิเศษ หรือ City Shack ดังนี้

  • Pandan Sticky Rice Shake (มิลค์เชคข้าวเหนียวเจลลีใบเตย) แรงบันดาลใจจากข้าวเหนียวแก้วใบเตย ทำจากวานิลลา โฟรเซ่น คัสตาร์ด ไอศกรีมพรีเมียมสูตรพิเศษของเชค แช็ค ผสมผสานความกลมกล่อมกับน้ำนมข้าว ใส่ข้าวเหนียวและน้ำตาลโตนด เสิร์ฟพร้อมวิปครีมออนท็อปด้วยผงใบเตย
  • CentralSwirled ที่ทำจากจากวานิลลาโฟรเซ่นคัสตาร์ด ผสมกับคาราเมลน้ำปลาหวาน ตกแต่งด้วยขนมผิงและมะพร้าว ให้รสชาติเค็มนิด ๆ หอมน้ำปลา
  • Coconuts About You คอนกรีตที่มีส่วนผสมของวานิลลา โฟรเซ่น คัสตาร์ด ผสมกับเนื้อมะพร้าวกะทิ ท็อปด้วยคุ้กกี้ชอร์ตเบรด ทับทิมกรอบ และโรยด้วยถั่วทอง
  • Shake Attack เมนูซิกเนเจอร์ช็อกโกแลตคอนกรีตรสชาติเข้มเข้ม ที่ได้ผนึกกำลังกับ “อาฟเตอร์ยู” ร่วมรังสรรค์บราวนี่ที่ผสมผสานกับโฟรเซ่นอย่างลงตัว

นอกจากนี้ Shake Shack ยังออกแบบให้เป็นสาขา Pet-Friendly เช่นเดียวกับในต่างประเทศ และยังมีเมนู Bag O’Bones (แบ็ก โอ’โบนส์) ซึ่งเป็นบิสกิตสำหรับสุนัขจำหน่ายอีกด้วย

Shake Shack กับเป้าหมายเพื่อสังคม

อย่างที่ทราบกันว่า Shake Shack เริ่มต้นจากการทำเพื่อสนับสนุนสาธารณประโยชน์ จนถึงทุกวันนี้ Shake Shack ยังคงสนับสนุนภารกิจเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสนับสนุนความเสมอภาคและเท่าเทียมในพนักงาน ทั้งที่เป็นผู้หญิง กลุ่มคนผิวดำ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) การสนับสนุนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

รวมถึงการสนับสนุนองค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรการกุศลในท้องถิ่นนั้น ๆ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ Shake Shack ให้การสนับสนุนด้วยเช่นกัน ผ่านการแบ่ง 5% ของยอดขายเมนูพิเศษ (City Shake) มอบให้กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ข้อมูลจาก Shake Shack, Shake Shack Thailand