สธ. จ่อขึ้นเกณฑ์ความหวาน จะติดฉลากทางเลือกสุขภาพ ต้องไม่เกิน 5%

สธ. จ่อขึ้นเกณฑ์ความหวาน จะติดฉลากทางเลือกสุขภาพ ต้องไม่เกิน 5%

สธ. เตรียมปรับเกณฑ์ความหวาน สำหรับสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพจาก 6% ลงเป็น 5% หวังลดคนไทยติดหวาน

วันที่ 28 มีนาคม 2566 นายแพทย์เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เตรียมปรับเกณฑ์ความหวานของการรับรองสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพให้เข้มงวดขึ้นจาก 6% ให้เป็น 5% หรือมีความหวานน้อยลง

พร้อมจัดงาน “ประเทศไทย หวานแค่ไหนพอ” เพื่อสร้างการรับรู้ให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมปรับตัว รวมถึงประชาชนทราบถึงเกณฑ์ความหวานที่ดีต่อสุขภาพ

การปรับนี้เพื่อให้เกณฑ์ความหวานของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของไทยเป็นเกณฑ์เดียวกันทั้งเครื่องดื่มแบบชงสด และเครื่องดื่มแบบพร้อมดื่ม หลังก่อนหน้านี้ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วย กระทรวงสาธารณสุขประกาศนโยบาย “หวานน้อยสั่งได้” เพื่อลดปริมาณความหวานของร้านเครื่องดื่มชงลงเหลือ 5%

ทั้งนี้ปัจจุบันมีธุรกิจแฟรนไชส์เครื่องดื่มรายใหญ่เข้าร่วมนโยบาย “หวานน้อยสั่งได้” จำนวน 27 แบรนด์ รวมทั้งร้านค้าที่เป็นโลคอลแบรนด์ทั่วประเทศ อีกจำนวน 2,355 ร้าน

ด้านอาหารที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” มีจำนวน 14 กลุ่มอาหาร และจำนวนผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพมีจำนวน 2,749 ผลิตภัณฑ์ จาก 444 บริษัท

คนไทยดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเฉลี่ย 3 แก้ว/วัน

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เสริมว่า ปัจจุบันคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานมีปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยจากข้อมูลด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหารของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560–2562 พบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลทราย 2.5-2.6 ล้านตันต่อปี และปี 2562 คนไทยดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเฉลี่ย 3 แก้วต่อวัน

นอกจากนี้ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ยังคงเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของประเทศ ทั้งจำนวนการเสียชีวิตและภาระโรคโดยรวม โดยสถานการณ์ประเทศไทยปี 2559-2563 พบว่ามีอัตราการเสียชีวิต เนื่องมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น


โดยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นสาเหตุการตาย 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคมะเร็งทุกประเภท โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตเท่ากับ 123.3, 47.1 และ 31.8 ต่อประชากรแสนคน สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีความหวาน ความมัน และความเค็มมากเกินเกณฑ์ ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น