ภาษีความหวาน คืออะไร จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าไรหลัง 1 เม.ย. 2566

เครื่องดื่ม น้ำอัดลม ภาษีความหวาน
ภาพจาก https://www.pexels.com/

ภาษีความหวาน กลไกสร้างสุขภาพคนไทยด้วยมาตรการภาษี กำลังจะเดินหน้าเข้าสู่ระยะที่ 3 ในวันที่ 1 เม.ย.2566 นี้ ตามแนวทางปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ใน พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ส่วนเครื่องดื่มหรือผลิตภัณฑ์ที่ให้ความหวานตัวใดต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นบ้างเช็กที่นี่ 

รายงานข่าวเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566  มติชน รายงานว่า นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2566 กรมสรรพสามิต จะเริ่มปรับขึ้นภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาล ระยะที่ 3 (หลังสิ้นสุดระยะเวลาคงภาษี 6 เดือน ตามมติ ครม. ที่เห็นชอบให้คงภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565-31 มี.ค. 2566)

สำหรับภาษีความหวาน ระยะที่ 3 ที่เริ่มเก็บตั้งแต่ 1 เมษายน 2566-31 มีนาคม 2568 มีอัตรา ดังนี้

  • ปริมาณน้ำตาล 0-6 กรัม คิดอัตราภาษี 0 บาทต่อลิตร จากปัจจุบัน 0 บาทต่อลิตร
  • ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม คิดอัตราภาษี 0.3 บาทต่อลิตร จากปัจจุบัน 0.1 บาทต่อลิตร
  • ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม คิดอัตราภาษี 1 บาทต่อลิตร จากปัจจุบัน 0.3 บาทต่อลิตร
  • ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม คิดอัตราภาษี 3 บาทต่อลิตร จากปัจจุบัน 1 บาทต่อลิตร
  • ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร จากปัจจุบัน 3 บาทต่อลิตร
  • ปริมาณน้ำตาล ตั้งแต่ 18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร จากปัจจุบัน 5 บาทต่อลิตร

“ภาษีความหวานจะมีการปรับขึ้นเป็นอัตราก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ ทุก ๆ 2 ปี ซึ่งระยะที่ 3 จะมีผล 1 เมษายนนี้แล้ว ถ้าผู้ประกอบการไม่ปรับตัวในการผลิต โดยลดความหวานลงจะเสียภาษีเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องดื่มที่มีสารความหวาน 10-14 กรัมต่อลิตร จะเสียภาษีเพิ่มจาก 1 บาท เป็น 3 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ผลิตทยอยลดปริมาณน้ำตาลลงแล้ว ซึ่งจะไม่ทำให้มีภาระภาษีเพิ่มแต่อย่างใด” นายณัฐกรกล่าว

เป้าหมายใช้มาตรการภาษี สร้างสุขภาพคนไทย

อย่างไรก็ตาม กาจัดเก็บภาษีความหวาน เป็นไปตาม พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างภาษีหลายอัตรา

โดยการจัดเก็บภาษีสรรสามิตจากค่าความหวาน (ปริมาณน้ำตาล) กรมสรรพสามิตมีวัตถุประสงค์หวังว่าราคาของสินค้าน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานจะมีราคาสูงขึ้น ซึ่งผู้บริโภคน่าจะลดการบริโภคสินค้าเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ลง รวมถึงทำให้คนไทยสุขภาพดีขึ้น

สินค้าที่จัดเก็บภาษีสรรพสามิต จากปริมาณน้ำตาล 2 กลุ่ม

  • เครื่องดื่ม
  • ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เครื่องดื่มที่มีลักษณะเป็นผง เกร็ด หรือเครื่องดื่มเข้มข้นที่มีส่วนผสมของน้ำตาลและสามารถละลายน้ำได้

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีคือ

  • ผู้ประกอบอุตสาหกรรม
  • ผู้นำเข้า

อัตราภาษีสรรพสามิตจากค่าความหวานมี 2 ประเภท

1.อัตราภาษีตามมูลค่า จะคำนวณจากราคาขายปลีกแนะนำ
2.อัตราภาษีตามปริมาณจะคำนวณตามปริมาณน้ำตาลที่อยู่ในเครื่องดื่มนั้น ๆ

สูตรคำนวณภาษีความหวาน

วิธีคำนวณภาษีสรรพสามิต กฎหมายกำหนดให้เสียภาษีตามมูลค่า หรือตามปริมาณของสินค้า หรือทั้งตามมูลค่าและตามปริมาณของสินค้า (1) ภาษีตามมูลค่า (2) ภาษีตามปริมาณ

(1) ภาษีตามมูลค่า = อัตราภาษี x ฐานภาษี (ราคาขายปลีกแนะนำ)
(2) ภาษีตามปริมาณ = อัตราภาษี x ขนาดบรรจุ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตได้เริ่มจัดเก็บภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลในสินค้าเครื่องดื่มตั้งแต่ปี 2560 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมมีการปรับสูตรลดปริมาณน้ำตาล เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนมาโดยตลอด

โดยมีการกำหนดโครงสร้างภาษีในอัตราแบบขั้นบันได 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 ในวันที่ 16 กันยายน 2560 ถึง 30 กันยายน 2562
  • ระยะที่ 2 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2564
  • ระยะที่ 3 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง 30 กันยายน 2566 (แต่มีมติ ครม. 20 ก.ย. 2565 ให้คงอัตราภาษีระยะที่ 2 ออกไปอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยมีกำหนดสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2566 เพื่อบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน)

ภาษีความหวาน มติ ครม 20 ก.ย.2565

ภาษีความหวานเต็มเพดาน ระยะที่ 4 เริ่ม 1 เม.ย. 2568

ทั้งนี้ ตามเพดานภาษีความหวาน ใน พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีทั้งสิ้น 4 ระยะ ซึ่งหลังจากนี้ จะต้องติดตามว่า การจัดเก็บเต็มเพดานระยะที่ 4 จะเกิดขึ้นตามกำหนด ที่จะเริ่มวันที่ 1 เม.ย. 2568 หรือไม่ โดนเพดานภาษีความหวาน ในระยะที่ 4 มีอัตรา ดังนี้

  • ปริมาณน้ำตาล 0-6 กรัม คิดอัตราภาษี 0 บาทต่อลิตร
  • ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม คิดอัตราภาษี 1 บาทต่อลิตร
  • ปริมาณน้ำตาล 8-10 กรัม คิดอัตราภาษี 3 บาทต่อลิตร
  • ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร
  • ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร
  • ปริมาณน้ำตาล ตั้งแต่ 18 กรัม คิดอัตราภาษี 5 บาทต่อลิตร

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กรมสรรพสามิต กล่าวด้วยว่า เครื่องดื่มที่มีสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 200 กว่ารายการ ล่าสุดในเดือนมกราคม 2566 เพิ่มเป็น 1,800 รายการ หรือเพิ่มมากกว่าเดิม 9 เท่าตัว เพราะฉะนั้นจึงเชื่อว่าเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยกว่า 6 กรัม (อัตราภาษีความหวาน 0 บาทต่อลิตร) กำลังมีมากขึ้นด้วย