สรรพสามิตเลื่อนขยับขึ้นอัตราภาษีความหวาน “เครื่องดื่ม”

น้ำตาล

สรรพสามิตเล็งเลื่อนปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีความหวาน บรรเทาภาระ “ผู้ประกอบการ-ผู้บริโภค” ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ลั่นปีนี้ทั้งปีไม่ออกภาษีประเภทใหม่-ไม่รีดเพิ่ม หันดึงเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้แทน มั่นใจปีงบประมาณ 2564 เก็บภาษีได้ไม่ต่ำกว่า 5.5 แสนล้านบาท

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างพิจารณาชะลอปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มที่มีความหวาน เพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการในช่วงโควิด-19 จากที่ในวันที่ 1 ต.ค. 2564 นี้จะครบกำหนดเวลาที่ต้องปรับขึ้นภาษีตามอัตราขั้นบันได จากระยะที่ 2 ไประยะที่ 3 ซึ่งหากชะลอปรับขึ้นภาษีดังกล่าว นอกจากจะเป็นการช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการ ยังรวมถึงเป็นการช่วยลดภาระผู้บริโภคด้วย

“กรมจะมีการทบทวนดูว่า จะชะลอการปรับขึ้นภาษีออกไปหรือไม่ โดยจะต้องมีการนำข้อมูลต่าง ๆ มาพิจารณารายละเอียด เพื่อดูความเหมาะสมอีกครั้ง ตอนนี้ยังไม่ได้ยืนยันว่า จะเลื่อนออกไปเป็นระยะเวลาเท่าไหร่”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตได้กำหนดการปรับอัตราภาษีเครื่องดื่มที่มีความหวานเป็น 4 ระยะ ซึ่งอัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบันเป็นระยะที่ 2 แล้ว ขณะที่ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 เป็นต้นไปจะเป็นระยะที่ 3 โดยจะคิดอัตราภาษีก้าวกระโดดขึ้นมาก ได้แก่ ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม ปรับอัตราภาษีขึ้นเป็น 0.30 บาท/ลิตร จากเดิม 0.10 บาท/ลิตร,

น้ำตาล 8-10 กรัม ปรับขึ้นเป็น 1 บาท/ลิตร จากเดิม 0.30 บาท/ลิตร, น้ำตาล 10-14 กรัม ปรับขึ้นเป็น 3 บาท/ลิตร จากเดิม 1 บาท/ลิตร และ น้ำตาล 14-18 กรัม ปรับขึ้นเป็น 5 บาท/ลิตร จากเดิม 3 บาท/ลิตร

นายลวรณกล่าวว่า นโยบายภาพรวมของกรมสรรพสามิตในปีนี้จะไม่มีการเก็บภาษีเพิ่ม และจะยังไม่มีภาษีประเภทใหม่ ๆ ออกมา เช่น ภาษีความเค็ม เป็นต้น เนื่องจากยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เพราะจะสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ

แต่ในปีนี้จะเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีให้ได้ตามเป้าหมายล่าสุดที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดลงเหลือ 5.5 แสนล้านบาท จากเป้าหมายเดิมตามเอกสารงบประมาณต้องจัดเก็บรายได้ถึง 6.3 แสนล้านบาท

“ปีนี้ยังคาดว่ากรมจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้สูงกว่าเป้าใหม่ที่ปรับลดลงมาแล้ว เป็นหลักหมื่นล้านบาท เนื่องจากภาษีสุราเบียร์ยังสามารถจัดเก็บได้ต่อเนื่อง ขณะที่ภาษีรถยนต์ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2563 ก็ยังจัดเก็บได้ดีอยู่ แม้ช่วงเดือน ม.ค. 2564 ที่ผ่านมาจะเริ่มเก็บได้ลดลง เพราะชิ้นส่วนการผลิตรถยนต์ที่รับมาจากต่างประเทศขาดแคลนซึ่งประสบปัญหาทั่วโลก คาดว่าหลังจากเดือนก.พ.ไปแล้วน่าจะกลับมาสู่ปกติ”

สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2564 กรมจะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในส่วนต่าง ๆ เช่น ใช้ในการตรวจสอบการขอคืนภาษีน้ำมันจากการส่งออก เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีบล็อกเชนจะช่วยเก็บเอกสารให้สามารถตรวจสอบและควบคุมได้ว่าน้ำมันได้ถูกส่งออกจริงหรือไม่ โดยเรื่องนี้จะเห็นความชัดเจนในเดือน มี.ค.นี้

นายลวรณกล่าวด้วยว่า ส่วนความคืบหน้าการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ จะชัดเจนในเดือน มี.ค.นี้โดยการพิจารณาจะคำนึงถึง 4 ปัจจัย ได้แก่ 1.รายได้เกษตรกร 2.สุขภาพของประชาชน 3.บุหรี่เถื่อน และ 4.การจัดเก็บรายได้

ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงการคลังรายงานว่า สถานการณ์การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.-ธ.ค. 2563) พบว่าจัดเก็บได้ 145,591 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการไป 3,777 ล้านบาท หรือ 2.5% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนไป 12,670 ล้านบาท หรือ 7.7%