รีดภาษี 14 ธุรกิจ อุ้มสังคมสูงวัย สัมปทานเหล้าบุหรี่เพิ่ม 5-10%

กองทุน ผู้สูงวัย

ธุรกิจ-สัมปทาน จับตา 2 ร่างกฎหมายใหม่ รีดภาษี 14 ธุรกิจบริการ สัมปทานรัฐ โปะกองทุนระดับชาติ อุ้มสังคมสูงวัย-อากาศสะอาด เปลี่ยนยระบบจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุจากเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญ เหล้าเบียร์บุหรี่ โอด โดนทุกรอบ คาดสินค้าทำงานสุขภาพ เจอเก็บร้อยละ 5 ของภาษีสรรพสามิต ตั้งองค์กรอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพกำกับดูแลจัดการอากาศแบบบูรณาการ ส่วนอากาศสะอาดโดนอีกร้อยละ 10

ฝ่ายนิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 อยู่ในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายที่ค้างมาจากรัฐบาลที่แล้ว และร่างกฎหมายใหม่ที่มีเสนอขึ้นมาใหม่ และช่วงนี้ก็มีการพิจารณากฎหมายสำคัญหลายฉบับ โดยมีร่างกฎหมายจำนวนหนึ่งที่อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็น ล่าสุดมีร่างกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ ที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง คือ ร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ซึ่งอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็น และร่างพระราชบัญญัติ บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ซึ่งผ่านการพิจารณารับหลักการของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว และอยู่ระหว่างการประชุมเพื่อพิจารณาของคณะกรรมาธิการ

โดยทั้ง 2 ร่างนี้ ได้รับความสนใจจากบรรดาผู้ประกอบการจำนวนมาก และมีการติดตามความคืบหน้าการพิจารณาร่างกฎหมายอย่างใกล้ชิด เนื่องจากร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนอุดหนุนการดำเนินการต่อเนื่อง รวมทั้งมีการกำหนดแหล่งที่มาของเงินกองทุน ซึ่งมาจากธุรกิจหรือสินค้า และบริการหลายประเภท รวมทั้งกิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐที่ต้องร่วมจ่าย

หลังจากนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะนำร่างกฎหมายไปบรรจุระเบียบวาระ เพื่อเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 1 ต่อไป

เปิดร่าง กม.ผู้สูงอายุ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของรัฐสภา www.parliament.go.th ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ก่อนที่จะบรรจุวาระการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร

โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยหลักจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ เพื่อเปลี่ยนระบบการจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุจาก “เบี้ยยังชีพ” เป็น “บำนาญ” เพื่อให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันด้านรายได้แบบรายเดือนจากรัฐ จัดสวัสดิการให้บุคคลทุกคน ที่มีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยจ่ายเป็นบำนาญที่เป็นรายได้แบบรายเดือน โดยที่อัตราเงินบำนาญต้องไม่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนตามเกณฑ์ที่สภาพัฒน์กำหนด และต้องจัดทำแผนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติทุกสามปี

ADVERTISMENT

ขณะที่ในแง่ของบริหารจัดการ จะมี “คณะกรรมการนโยบายและบริหารกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” ที่มีองค์ประกอบทั้งภาครัฐและผู้แทนองค์กรเอกชน นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมา อยู่ภายใต้กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรียกว่า “กองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” มีวัตถุประสงค์เฉพาะให้เป็นแหล่งเงินทุน สำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ โดยมีการบริหารจัดการกองทุนที่แยกต่างหากจาก “กองทุนผู้สูงอายุ” ตามกฎหมายผู้สูงอายุเดิม

ตั้งกองทุนรีดภาษีสุรา ยาสูบ

สำหรับแหล่งที่มาของเงินจะมีการจัดตั้ง “กองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” (มาตรา 12) มาจาก 14 แหล่ง ประกอบด้วย 1) เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ 2) เงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 3) เงินบำรุงที่ได้จากภาษีสรรพสามิตสุรา ยาสูบ น้ำมันเชื้อเพลิง รถ หรือภาษีอื่น ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด 4) เงินที่ได้รับจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

ADVERTISMENT

5) เงินบำรุงที่ได้จากส่วนแบ่งค่าสัมปทาน ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในกิจการสื่อสาร วิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 6) เงินบำรุงที่ได้จากส่วนแบ่งรายได้จากค่าภาคหลวงตามกฎหมายว่าด้วยแร่ 7) เงินที่ได้จากเงินบำรุงจากภาษีตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ 8) เงินบำรุงที่ได้จากส่วนแบ่งค่าสัมปทาน ค่าใบอนุญาต ค่าภาษี หรือค่าธรรมเนียมอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน

9) เงินบำรุงที่คลังได้รับมาตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารทุนหมุนเวียน10) เงินบำรุงที่ได้จากภาษีเงินได้ประจำของบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่ไม่ได้รับการต่อสิทธิพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมการลงทุน 11) เงินบำรุงที่ได้จากภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาตามที่ได้แจ้งความจำนงในการยื่นแบบการเสียภาษีประจำปี 12) เงินบำรุงที่ได้จากส่วนแบ่งรายได้ค่าสัมปทาน ค่าภาคหลวง หรือค่าธรรมเนียมอื่นจากกิจการขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม

13) เงินบำรุงที่ได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีความมั่งคั่ง ภาษีกำไรจากหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ ภาษีมรดก ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ (ภาษีลาภลอย) และ 14) เงินบำรุงอื่น ๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

เกาะติดร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด

นอกจากนี้ ในส่วนของร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ที่มีถึงการนำเสนอ 7 ร่าง อาทิ ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ที่สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เป็นผู้จัดทำและนำเสนอโดยคณะรัฐมนตรี รวมถึงพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ยื่นร่างกฎหมายประกบ ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดทั้ง 7 ร่าง ได้ผ่านการพิจารณารับหลักการของสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 และมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาร่างกฎหมายจำนวน 39 คน และได้มีการประชุมไปแล้ว 5 ครั้ง

สำหรับเนื้อหาที่จะมีการพิจารณารายมาตราในชั้นกรรมาธิการ ที่เป็นวาระเร่งด่วน มาตรา 67 เป็นการกำหนดเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ อาทิ ภาษีอากรสำหรับอากาศสะอาด, ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ เป็นต้น โดยที่ค่าธรรมเนียมและรายได้ต่าง ๆ นี้ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน และให้นำส่งเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (มาตรา 69)

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. … มีการกำหนดให้คณะกรรมการร่วมนโยบายอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ และคณะกรรมการกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ

และมีการจัดตั้งองค์การ ชื่อ องค์การอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ-อ.อ.ส.ส. (Clean Air for Health Organization-CAHO) (มาตรา 40) เพื่อกำกับดูแล ติดตาม และดำเนินการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการที่เชื่อมโยงมิติสุขภาพกับสิ่งแวดล้อม มีฐานะเป็นหน่วยงานรัฐ

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายทั้ง 7 ร่างนี้ ก็กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ โดยเก็บเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดหมอกควันพิษ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพในอัตราร้อยละสิบของภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าและบริการที่อาจก่อให้เกิดหมอกควันพิษ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพนั้น

ปักหมุด 14 ธุรกิจ-บริการร่วมจ่าย

และที่น่าจับตาก็คือ สินค้าและบริการที่เป็นรายได้ของกองทุน (มาตรา 72 และมาตรา 73) ประกอบด้วย 1.สินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 2.สินค้าแบตเตอรี่ 3.สินค้ารถยนต์ 4.สินค้ารถจักรยานยนต์ 5.สินค้าเรือ 6.ผลิตภัณฑ์เครื่องหอม 7.หินอ่อนและหินแกรนิต 8.สินค้าสารทำลายชั้นบรรยากาศ 9.สินค้าสุรา 10.สินค้ายาสูบ 11.ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นเครื่องดื่มที่มีลักษณะผล เกล็ด หรือเครื่องดื่มเข้มข้นที่มีส่วนผสมของน้ำตาล 12.กิจการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 13.กิจการที่ได้รับอนุญาตหรือสัมปทานรัฐ และ 14.สินค้าหรือบริการอย่างอื่นตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิตที่ประกาศกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

แหล่งข่าวจากวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายหนึ่ง ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับว่า เท่าที่ได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการหลาย ๆ ราย ส่วนใหญ่เห็นด้วยและสนับสนุน แต่ก็มีประเด็นที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งกองทุนขึ้นมา แล้วมาจัดหางบประมาณจากภาษีของสินค้าต่าง ๆ ที่เสนอ และเป็นการจัดเก็บแบบไม่ส่งคลัง ซึ่งจะเท่ากับว่าเป็นงบประมาณนอกระบบที่ผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐด้วย

“ทุกครั้งที่มีการจัดตั้งกองทุนในลักษณะนี้ขึ้นมา ส่วนใหญ่ก็จะพุ่งเป้ามาที่เหล้า เบียร์ บุหรี่ เพราะเป็นสินค้าบาปที่ทำลายสุขภาพ ดังนั้นก็ได้แต่ทำใจ”

กม.เตรียมเข้าพิจารณาวาระ 1

ผู้สื่อข่าวร่ายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับขั้นตอนและไทม์ไลน์การเสนอกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 วรรคสอง กำหนดว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน

ดังนั้น ร่างกฎหมายที่มีการเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าร่างกฎหมายที่มาจากคณะรัฐมนตรี ร่างกฎหมายที่เสนอโดย สส.จำนวน 1 ใน 5 หรือร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 หมื่นชื่อ จะต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 จากนั้นประธานสภาผู้แทนราษฎรจะนำไปบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ เพื่อให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา

และเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว รัฐธรรมนูญมาตรา 77 ยังบังคับต่อไปว่า “เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป”