“ไอศกรีมญี่ปุ่น” ยกทัพบุกอาเซียน “ล็อตเต้-เมจิ-โมรินากะ” มาแน่

ไอศกรีมญี่ปุ่น
คอลัมน์​ : Market Move

หน้าร้อนปี 2567 ที่กำลังจะมาถึงนี้ตลาดไอศกรีมในอาเซียนฉายแววร้อนฉ่าสวนทางกับอุณหภูมิของไอศกรีม เมื่อแบรนด์ญี่ปุ่นหลากหลายเจ้าไม่ว่าจะเป็น ล็อตเต้ เมจิ โมรินากะ และอื่น ๆ ต่างเดินหน้าส่งสินค้าเด็ดของตนเข้ามาชิงเม็ดเงินในตลาด หลังกระแสความนิยมรสชาติสไตล์ญี่ปุ่น เช่น มัทฉะ และถั่วแดงกวน ร่วมกับความพร้อมด้านการขนส่งสินค้าแช่แข็ง ช่วยให้ช่วงที่ผ่านมาไอศกรีมแบรนด์ญี่ปุ่นได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคในหลายประเทศ

สำนักข่าว นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ผู้ผลิตไอศกรีมสัญชาติญี่ปุ่นเตรียมรุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเต็มที่ในช่วงหน้าร้อนที่จะถึงนี้ ด้วยจุดเด่นอย่างไลน์อัพสินค้าที่แตกต่างจากไอศกรีมทั่วไปที่มีขายในท้องตลาดอยู่เดิม หลังช่วงที่ผ่านมายอดส่งออกไอศกรีมของญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น ทางด้านเม็ดเงินและปริมาณ

โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกไอศกรีมและขนมแช่แข็งอื่น ๆ ของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 23% จากปี 2022 เป็น 7.9 พันล้านเยน หรือประมาณ 1.88 พันล้านบาท ส่วนปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 20% เป็น 10,137 ตัน และเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าตัว หากเทียบกับช่วงทศวรรษก่อนหน้า

ทั้งนี้ สมาคมไอศกรีมของญี่ปุ่นระบุว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นตลาดที่ยอดส่งออกไอศกรีมของญี่ปุ่นเติบโตสูงเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนตลอดทั้งปีทำให้ดีมานด์ไอศกรีมพุ่งสูงตามไปด้วย

อีกปัจจัยหนึ่งที่หนุนการเติบโตของการส่งออกไอศกรีม คือ เครือข่ายขนส่งสินค้าแช่เย็นและแช่แข็งในภูมิภาคเอเชียที่ขยายตัวและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น หนุนให้สินค้ากลุ่มไอศกรีมซึ่งต้องอาศัยเครือข่ายการขนส่งเฉพาะตัวที่ต้องรักษาอุณหภูมิระดับแช่แข็งตั้งแต่โรงงานไปจนถึงร้านค้าแตกต่างจากขนมขบเคี้ยวอื่น ๆ ที่สามารถขนส่งภายใต้อุณหภูมิปกตินั้นสามารถเติบโตอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ผู้ผลิตไอศกรีมสัญชาติญี่ปุ่นยังมีสินค้าที่รสชาติและรูปแบบแตกต่างจากไอศกรีมที่วางขายในตลาดของแต่ละประเทศในภูมิภาคนี้ อย่าง ไอศกรีมรสมัทฉะ หรือไส้ถั่วแดงกวน ช่วยดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคให้หันมาทดลองทาน

Advertisment

ตัวอย่าง เช่น ล็อตเต้ ซึ่งยอดขายไอศกรีมในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 6 เท่า ในช่วงระหว่างปี 2015 จนถึงปี 2022 หลังบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับการส่งออกมากขึ้น โดยสินค้าเด่นอย่าง Yukimi Daifuku Mochi ที่มีจุดเด่นด้านรสสัมผัสแบบขนมไดฟุคุของญี่ปุ่น ได้รับความนิยมสูงจนมีฐานแฟนในหลายประเทศ

เจ้าหน้าที่ของบริษัท ล็อตเต้ กล่าวว่า เดิมการขนส่งสินค้าแช่แข็งในภูมิภาคเอเชียนั้นนับเป็นเรื่องท้าทาย แต่ปัจจุบันจำนวนโกดังและรถบรรทุกที่มีระบบควบคุมอุณหภูมิเพิ่มจำนวนขึ้นมากจนสามารถขนส่งไอศกรีมไปยังร้านค้าในประเทศต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องห่วงเรื่องคุณภาพ

Advertisment

สอดคล้องกับความเห็นของเจ้าหน้าที่ของ บริษัท โมรินากะ มิลก์อินดัสทรี (Morinaga Milk Industry) ผู้ผลิตขนมสัญชาติญี่ปุ่นรายใหญ่อีกรายระบุว่า หลังจากนี้ตลาดไอศกรีมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสามารถเติบโตได้อีกมาก หากเครือข่ายการขนส่งสินค้าแช่แข็งยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องเช่นนี้

การเติบโตในช่วงที่ผ่านมาและเครือข่ายการขนส่งที่พร้อมมากขึ้น กระตุ้นให้ผู้ผลิตไอศกรีมหลายรายเดินหน้าทำตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้มข้นขึ้น ไม่ว่าจะเป็น บริษัท อิมุระยะ กรุ๊ป (Imuraya Group) ที่เริ่มผลิตและจำหน่ายไอศกรีมแท่ง Azuki Bar ในประเทศมาเลเซีย เมื่อปี 2021 พร้อมตั้งเป้าใช้มาเลเซียเป็นฐานการผลิตไอศกรีมเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย โดยใช้โอกาสที่ทั้ง 2 ประเทศมีสัดส่วนประชากรผู้นับถือศาสนาอิสลามสูง ทำให้ไอศกรีมแท่ง Azuki Bar ซึ่งได้สัญลักษณ์ฮาลาลอยู่แล้วจากการผลิตและจำหน่ายในมาเลเซีย สามารถต่อยอดส่งออกไปยังอินโดนีเซียได้ง่าย

อิมุระยะ กรุ๊ป อธิบายว่า ไอศกรีมแท่ง Azuki Bar ของบริษัทมี 3 รสชาติ ประกอบด้วย รสถั่วแดง, รสมัทฉะ และรสนม รวมถึงบริษัทยังปรับสูตรเพื่อให้ถูกปากผู้บริโภคชาวมาเลเซียมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายโซลูชั่นอาหารของบริษัท เมจิ กล่าวว่า ไอศกรีมสัญชาติญี่ปุ่นได้รับการตอบรับดีจากผู้บริโภคท้องถิ่น เนื่องจากจุดเด่นด้านคุณภาพสะท้อนจากการที่บริษัทสามารถขายไอศกรีมแบรนด์ Essel Super Cup ในไต้หวัน ด้วยมูลค่าประมาณ 69 ดอลลาร์ไต้หวันใหม่ หรือประมาณ 78 บาทต่อถ้วย ซึ่งราคานี้แพงกว่าในญี่ปุ่นถึง 2 เท่า

ไปในทิศทางเดียวกับไอศกรีมแบรนด์ Pino ของบริษัท โมรินากะ ที่ทำยอดขายได้ดีในไต้หวันเช่นกัน แม้จะมีราคาถึง 65 ดอลลาร์ไต้หวันใหม่ หรือประมาณ 73 บาทซึ่งคิดเป็นเกือบ 2 เท่าของราคาที่ขายในญี่ปุ่นเช่นกัน

หลังจากนี้ต้องรอลุ้นว่าช่วงหน้าร้อนปี 2567 นี้ นอกจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียแล้ว ผู้ผลิตไอศกรีมสัญชาติญี่ปุ่นจะมีแผนส่งสินค้าใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มในประเทศไทยด้วยหรือไม่