
“พาณิชย์” เชิญผู้ประกอบการค้าปลีก-ร้านค้า หารือเตรียมรับมือโครงการดิจิทัลวอลเลต คาดเปิดลงทะเบียนได้ต้นเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ด้านซัพพลายเออร์ขยับตัวดอดคุยค้าปลีกค้าส่งต่างจังหวัด ปูทางผนึกกำลังปลุกจับจ่าย-ดูดเม็ดเงินช่วงปลายปี มั่นใจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
โครงการดิจิทัลวอลเลตยังเดินหน้าตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่กระทรวงการคลังกำลังเร่งหารือกับแบงก์รัฐ-แบงก์พาณิชย์ ในการพัฒนาระบบและเชื่อมข้อมูล Open Loop รองรับใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท
อาทิ การจัดทำเว็บไซต์ ระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติประชาชนและร้านค้า ระบบการใช้จ่าย ระบบการชำระเงินระบบตรวจสอบธุรกรรม รวมถึงการเชื่อมข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และกระทรวงการคลัง ขณะเดียวกันก็มีการกำหนดไทม์ไลน์การลงทะเบียนของประชาชนและร้านค้า ภายในไตรมาส 3 และเงินกระจายถึงมือประชาชนเริ่มใช้จับจ่ายได้ในไตรมาส 4
ลงทะเบียน ก.ค.นี้
แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีกเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้เชิญผู้ประกอบการค้าปลีกต่าง ๆ เข้าไปหารือและสอบถามข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ของร้านค้าแต่ละประเภท เพื่อที่จะเตรียมพัฒนาและวางระบบเพื่อรองรับการลงทะเบียนของผู้ประกอบการร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งตามกรอบที่วางไว้ โครงการต้องการจะวางระบบให้เสร็จและเปิดให้ผู้ประกอบการร้านค้าลงทะเบียนได้ภายในต้นเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้ประกอบการค้าปลีกนั้นมีหลากหลายประเภท เช่น ร้านสะดวกซื้อที่เป็นบริษัท ร้านสะดวกซื้อที่เป็นแฟรนไชส์ ร้านค้าที่เป็นรายเล็ก หรือโชห่วย รวมถึงร้านค้าตามตลาดนัด ซึ่งร้านค้าแต่ละประเภทก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันไป
เช่น ร้านสะดวกซื้อ A มี 10,000 สาขา มีบริษัท ABC เป็นเจ้าของ จะขึ้นทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการอย่างไร หรือร้านสะดวกซื้อ B เป็นร้านในระบบแฟรนไชส์ จะขึ้นทะเบียนแบบไหน หรือพวกร้านค้าที่เป็นร้านตลาดนัด ก็จะต้องไปดูว่าเปิดร้านอยู่กี่ร้าน หรือกี่แผง และมีการจดทะเบียนอย่างไรหรือไม่
หรือกรณีของบริษัทที่มีร้านค้าหรือมีสาขาจำนวนมาก ต้องมีการขึ้นทะเบียนอย่างไร จะต้องมีการมอบอำนาจใครอย่างไร และที่สำคัญคือ เมื่อมีการใช้เงินจากโครงการเกิดขึ้น เงินจากการซื้อขายดังกล่าวจะไหลไปเข้าบัญชีของบริษัท หรือเจ้าของกิจการหรือร้านค้า
วางระบบชำระเงิน
“เนื่องจากรายละเอียดที่ค่อนข้างมาก และเป็นอะไรที่คนเขียนโปรแกรมหรือวางระบบจะต้องทำความเข้าใจ นอกจากนี้ โครงการยังต้องการจะป้องกันการรั่วไหลและการทุจริตด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการวางระบบอย่างรัดกุม ดังนั้นกว่าจะได้ข้อสรุปที่ลงตัว อาจจะมีการคุยหรือหารือกันอีกเป็นระยะ ๆ
ส่วนกรณีที่ว่า ผู้ประกอบการจะต้องมีกิจกรรมทางการตลาดอะไรขึ้นมารองรับหรือไม่ ตอนนี้อาจจะเร็วไปที่จะพูดถึงแคมเปญหรือโปรโมชั่นเพื่อรองรับ และในทางปฏิบัติ หากทุกอย่างลงตัว การจัดโปรโมชั่นในทางปฏิบัติก็ไม่ใช่เรื่องยาก หรือมีความซับซ้อนอะไร”
เตรียมแคมเปญรองรับ
แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคกล่าวในเรื่องนี้ว่า เพื่อรองรับโครงการดิจิทัลวอลเลตที่คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในช่วงไตรมาส 4 เบื้องต้นบรรดาซัพพลายเออร์สินค้าต่าง ๆ ได้เริ่มมีความเคลื่อนไหวในการพูดคุย หารือกับช่องทางจำหน่ายทั้งที่เป็นค้าส่งและค้าปลีกรายใหญ่ในต่างจังหวัด ในการร่วมมือหรือจัดกิจกรรมขึ้นมารองรับ
แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ได้มีการพูดคุยลงในรายละเอียดหรือรูปธรรมที่ชัดเจน เนื่องจากยังต้องรอรายละเอียดต่าง ๆ ที่ชัดเจน จากทางการอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าเม็ดเงินจำนวน 5 แสนล้านบาท ของโครงการจะทำให้เศรษฐกิจมีความคึกคักมากขึ้น
ขณะที่ ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น แสดงความเห็นว่า ถ้าเงินจากโครงการดิจิทัลวอลเลตสามารถใช้ได้ในช่วงไตรมาส 4 ตามที่รัฐบาลประกาศหรือวางไทม์ไลน์ไว้ก็คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้
เนื่องจากช่วงปลายปีจะมีเทศกาลสำคัญหลาย ๆ เทศกาล ซึ่งผู้ประกอบการต่าง ๆ ทั้งสินค้า ร้านค้า ก็จะมีการทุ่มงบฯเพื่อจัดแคมเปญออกมากระตุ้นอยู่แล้ว แต่สำหรับแคมเปญที่จะเกี่ยวข้องกับตัวดิจิทัลวอลเลตก็ต้องรอดูใกล้ ๆ อีกทีว่าจะมีอะไรออกมา