แจกเงินดิจิทัล 10,000 ใช้ “ทางรัฐ” เชื่อม จ่ายได้ทุกแอปธนาคาร-วอลเลต

Digital Wallet Mobile Banking Wallet

คลังยืนยันหลังหารือทํา Open Loop เงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ใช้จ่ายผ่านระบบแอปพลิเคชั่นได้ทุกธนาคารและระบบวอลเลต ย้ำใช้แอป “ทางรัฐ” เป็นตัวเชื่อม

วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 3/2567 เป็นการหารือเรื่องการจัดทำระบบเชื่อมข้อมูลต่าง ๆ ผ่านระบบธนาคาร พร้อมยืนยันว่าดิจิทัลวอลเลต จะเชื่อมต่อทุกระบบจ่ายเงินออนไลน์รวมถึงระบบวอลเลตด้วย

นายจุลพันธ์กล่าวว่า การหารือกันเรื่องของการทํา Open Loop ระหว่างสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Trade Association : TEPA) ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อจัดทำระบบการชำระเงินในโครงการดิจิทัลวอลเลต ส่วนวิธีการจะเชื่อมต่ออย่างไร เชื่อมต่อแบบไหน รวมถึงการยืนยันตัวตนและการให้ยินยอมความเป็นส่วนตัว ทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกันเพื่อหาข้อสรุป

“การใช้จ่ายดิจิทัลวอลเลตจะสามารถใช้จ่ายผ่านแบงก์ของรัฐ-แบงก์พาณิชย์ และวอลเลตต่าง ๆ ได้อย่างแน่นอน ซึ่งการใช้จ่ายดิจิทัลวอลเลตจะปรากฏอยู่บนแอปธนาคารและวอลเลตทุกประเภทที่เข้าร่วม โดยจะใช้แอปพลิเคชั่นชื่อว่า ‘ทางรัฐ’ เป็นตัวเชื่อม ยืนยันว่าการจัดทำระบบทุกอย่างจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 3” นายจุลพันธ์กล่าว

และกล่าวเพิ่มว่า ในส่วนของผู้ได้สิทธิ แต่ไม่มีสมาร์ทโฟน ยืนยันว่าจะสามารถใช้เงินดิจิทัลผ่านบัตรประจำตัวประชาชนได้อย่างแน่นอน ซึ่งอยู่ระหว่างการวางระบบ รวมทั้งกลุ่มผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ต้องการจะรับสิทธิ แต่ไม่สามารถใช้จ่ายเองได้ ก็ต้องมีการมอบสิทธิ ตรงนี้ก็ต้องไปดูระบบให้ครอบคลุม ไม่ให้รั่วไหล ซึ่งจากฐานข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีผู้มีสิทธิในกลุ่มนี้อยู่ราว ๆ ล้านคน

Advertisment

“ข้อมูลที่ได้มาจาก พม. มีการแบ่งกลุ่มไว้หลายกลุ่มมาก ก็ต้องไปทำให้เกิดความชัดเจนที่สุด เช่น กรณีแจ้งตายไปแล้ว แต่มีการนำบัตรประชาชนของผู้ตายมาใช้สิทธิได้ ก็ต้องไม่ให้รั่วไหล หรือแจ้งตายไปแล้วกลับมาแจ้งฟื้นอีก ก็ต้องมีกระบวนการตรวจสอบว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร”

ด้านนายเผ่าภูมิกล่าวว่า จากการประชุมในระดับนโยบายของหน่วยงานที่มีส่วนร่วมกับในระบบนี้ ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีเยี่ยม และเห็นด้วยกับการเชื่อมต่อในลักษณะนี้ โดยเฉพาะ TEPA ที่เป็นระบบวอลเลต แบงก์พาณิชย์และแบงก์รัฐ ซึ่งไม่มีปัญหาอะไรแล้วในขณะนี้ และจะมีการหารือในที่ประชุมอีกวงหนึ่งในเชิงเทคนิคต่อไป

“กรอบเบื้องต้นให้เห็นภาพคือ ในแอปพลิเคชั่นของธนาคาร ตัวดิจิทัลลวอลเลตจะเป็นอีกไอคอนที่อยู่ในแอป เพื่อสะดวกกับการใช้งานก็กดใช้เลือก โดยจะเป็นไอคอนแยกต่างหากที่จะผูกอยู่กับแอปแบงก์” นายเผ่าภูมิกล่าว

สำหรับขั้นตอนการสมัครเข้าใช้งานและยืนยันตัวตนผ่านแอป “ทางรัฐ” ซึ่งจะเป็นตัวเชื่อมต่อการใช้จ่ายเงินดิจิทัล กับแอปของธนาคารและวอลเลต มีรายละเอียดและขั้นตอนการสมัคร ดังนี้

Advertisment

วิธีการใช้งาน “ทางรัฐ”

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ได้ผ่าน App Store และ Google Play โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีขั้นตอนในการสมัครได้ 2 แบบ ได้แก่

แบบที่ 1 สมัครเข้าใช้งานและสามารถเลือกยืนยันตัวตนได้หลากหลายช่องทาง ทั้งเคาน์เตอร์เซอร์วิส ร้าน 7-Eleven ทั่วประเทศไทย, เคาน์เตอร์ไปรษณีย์ไทย, ตู้บุญเติม, ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ และแอป ThaID

แบบที่ 2 สมัครเข้าใช้งานและยืนยันตัวตนผ่านแอป โดยมีขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้

วิธีดาวน์โหลดแอป ทางรัฐ

  • เปิดแอป ทางรัฐ
  • เลือกสมัครสมาชิก
  • สมัครด้วยบัตรประชาชน
  • ศึกษาข้อกำหนดและความเป็นส่วนตัว จากนั้นกดยอมรับ
  • สแกนบัตรประชาชน จากนั้นตรวจสอบข้อมูล
  • เริ่มยืนยันตัวตนด้วยการสแกนใบหน้าของผู้ใช้งาน
  • กำหนดชื่อบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่านเพื่อเริ่มใช้งาน
  • กดเริ่มใช้งานบริการ
  • เมื่อยืนยันตัวตนเรียบร้อยก็สามารถเข้าใช้บริการภาครัฐได้ทันที

เกณฑ์การรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท

อายุ 16 ปี จะต้องมีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2567

เงินฝากกำหนดไม่เกิน 500,000 บาท นับยอดบัญชีเงินฝากถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยเงินฝากดังกล่าวต้องเป็นเงินฝากสกุลเงินบาท ในธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐเท่านั้น ไม่นับรวมสลากออมทรัพย์

รายได้ไม่เกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี วัดจากฐานข้อมูลเงินได้ของกรมสรรพากร ณ ปี 2566 ซึ่งสิ้นสุดไปแล้วเมื่อ 31 ธันวาคม 2566 และนับรวมทุกรายได้ที่ยื่นในระบบภาษี (เงินเดือน, ค่าจ้าง, ค่างานฟรีแลนซ์, ค่ารับเหมา, ค่าเช่า, ดอกเบี้ย ปันผล, รายได้ลิขสิทธิ์ต่าง ๆ)

การลงทะเบียนจะเริ่มต้นภายในไตรมาส 3 ของปี 2567 และจะเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาส 4 ของปี 2567

เกณฑ์ซื้อสินค้า ยังเป็นสินค้ากลุ่มเดิม ยกเว้นบริการและสินค้าต้องห้าม (สินค้าที่ยกเว้นคือ สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม)

เกณฑ์ร้านค้าขนาดเล็ก ยังเป็นเหมือนเดิม เข้าร่วมได้ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา (ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต)