“มาม่า” ทลายกำแพงราคา ปรับกลยุทธ์รุกตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รับมือการแข่งขันจากแบรนด์ต่างชาติ มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าระดับพรีเมี่ยม “มาม่า โอเค” ในราคาที่เข้าถึงง่ายและมีคุณภาพ ควบคู่กับการบริหารต้นทุน-กระแสเงินสด เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” กล่าวในงาน สัมมนา Prachachat THAILAND 2025 โอกาส ความหวัง ความจริง ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ ว่า ภาพรวมตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยยังคงมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง ถึงแม้ในแง่ของการบริโภคต่อคนอาจจะไม่ได้ขยายตัวในอัตราที่สูงมากนัก แต่ก็ยังคงเป็นสัญญาณบวกที่สะท้อนถึงโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ
โดยปัจจุบันคนไทยมีอัตราการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเฉลี่ย 55 ซองต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 52-53 ซองต่อคนต่อปีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
“ซึ่งที่ผ่านมา “มาม่า” เองก็ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรุกตลาดบะหมี่ระดับพรีเมี่ยม เพื่อรับมือกับการแข่งขันจากแบรนด์ต่างชาติ”
บะหมี่ต่างชาติ-ทลายกำแพงราคา
นายพันธ์ กล่าวต่อว่า โดยถ้าหากย้อนกลับไปในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีบะหมี่เกาหลีและบะหมี่จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยสินค้าเหล่านี้มีราคาค่อนข้างสูงเฉลี่ย 35-40 บาทต่อซอง ซึ่งในระยะแรกแน่นอนว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อส่วนแบ่งทางการตลาดของมาม่าอยู่แล้ว
ซึ่ง ณ ตอนนั้นเราเองก็ได้พัฒนาบะหมี่พรีเมี่ยม ภายใต้แบรนด์ “มาม่า ออเรียนทัล คิทเช่น” ออกมาก่อนหน้าที่จะมีแบรนด์จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาด แต่กลับกลายเป็นว่าไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากผู้บริโภคยังไม่คุ้นเคยกับราคาที่สูงกว่าบะหมี่ทั่วไป
โดยต่อมาหลังจากที่มีบะหมี่จากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดไทย ก็ทำให้เราต้องรีแบรนดิ้งใหม่เป็น “มาม่า โอเค” ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค เนื่องจากลูกค้าเริ่มคุ้นชินกับราคาบะหมี่จากต่างประเทศที่ขายในราคาสูง ทำให้เราสามารถทลายกำแพงราคาและขายในราคาที่แพงขึ้นได้ ซึ่งปัจจุบัน “มาม่า โอเค” มีส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 10%
“การเข้ามาของแบรนด์ต่างชาตินั้นเป็นทั้งวิกฤตและโอกาส เพราะนอกจากจะสร้างแรงกดดันในการแข่งขันแล้ว ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “กำแพงราคา” ของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทยถูกทลายลง จากเดิมที่ผู้บริโภคคุ้นเคยกับราคา 5-7 บาทต่อซอง ทำให้ผู้บริโภคเปิดรับสินค้าในระดับราคาที่สูงขึ้น”
มั่นใจ “มาม่า” ยังคงเป็นตัวเลือกหลัก
นายพันธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของความท้าทายในการดำเนินธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทย เบื้องต้นมองว่าการควบคุมต้นทุนยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนั้นการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
ซึ่งนอกจากการควบคุมต้นทุนแล้ว การบริหารกระแสเงินสด ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในระยะยาวได้ ซึ่งที่ผ่านมาที่ “มาม่า” สามารถยืนหยัดในตลาดได้อย่างยาวนาน ก็เป็นเพราะมีจุดแข็งด้านต้นทุนต่ำ และมีการบริหารกระแสเงินสดอย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะฉะนั้นการสร้างยอดขายเป็นสิ่งที่ดี แต่หากขาดทุนก็ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และเรายังมั่นใจว่า “มาม่า” จะยังคงเป็นตัวเลือกหลักของผู้บริโภค เพราะถึงแม้เศรษฐกิจดีแค่ไหน คนที่เป็นลูกค้าหลักของมาม่าเขาก็ไม่รวยขึ้น เพราะเขาติดกับดักของค่าใช้จ่าย สิ้นเดือนก็ต้องกลับมากินมาม่าอยู่ดี