ภาษีความหวานฉุด “ดอยคำ” ปรับแผนฟื้นยอด-กำลังซื้อ

ตลาดน้ำผลไม้ช็อกรับภาษีหวานน้อย “ดอยคำ” โอด ยอด 4 เดือนแรกหายกว่า 200 ล้าน เร่งปรับตัวครึ่งปีหลังรับมือกำลังซื้อซึม หันโปรโมตแคทิกอรี่อื่น-แตกไลน์สินค้ามะเขือเทศเพิ่ม 4-5 เอสเคยู-ให้ความรู้ผู้บริโภค หลังคนระวังบริโภคน้ำตาลมากขึ้น คาดพยุงยอดขายให้สิ้นปีเติบโตเท่าปีที่ผ่านมา

นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยอดขายของบริษัทในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงกว่าช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมากว่า 200 ล้านบาท โดยเบื้องต้นประเมินว่า เกิดจากสภาพเศรษฐกิจกำลังซื้อที่ยังทรงตัว ทำให้ผู้บริโภคระวังการจับจ่าย ส่งผลให้ทราฟิกที่เข้ามายังร้านลดลง รวมถึงการที่คนหันมาระวังเรื่องการบริโภคน้ำตาลกันมากขึ้น และภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บจากเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกินที่กำหนด (6 กรัมต่อ 100 มล.) ทำให้ผู้ผลิตมีต้นทุนของสินค้ามากขึ้น ในขณะที่สินค้าของดอยคำยังไม่มีมาตรการที่จะปรับราคากลยุทธ์ของดอยคำในช่วงครึ่งปีหลัง จึงต้องปรับมาโฟกัสกับการกระตุ้นสินค้าแคทิกอรี่อื่นมากขึ้น เช่น กลุ่มผลไม้แปรรูป น้ำผึ้ง น้ำสมุนไพรน้ำตาล 0% ฯลฯ พร้อมกับต่อยอดความแข็งแกร่งในสินค้ากลุ่มมะเขือเทศ หลังจากที่เครื่องดื่มน้ำมะเขือเทศดอยคำหลายรายการได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีสินค้าในกลุ่มดังกล่าวออกใหม่จำนวน 4-5 รายการ อาทิ มะเขือเทศอบแห้ง, มะเขือเทศปลอกผิว, ซอสมะเขือเทศ, มะเขือเทศสำหรับทาขนมปัง, มะเขือเทศเข้มข้น (tomato paste) เป็นต้น

ตลอดจนการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องน้ำตาลธรรมชาติเพิ่มขึ้น เพราะสินค้ากลุ่มใหญ่ของดอยคำเป็นน้ำผลไม้ 100% ซึ่งให้ความหวานจากธรรมชาติ ไม่ได้ปรุงแต่งเพิ่ม เช่น มะม่วง เป็นผลไม้ที่มีความหวานประมาณ 20 องศาบริกซ์ เมื่อมาทำเป็นน้ำผลไม้หากจะให้ค่าความหวานลดลงอยู่ที่ไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มล.คงไม่เหมาะ

“เมื่อมีภาษีความหวานเข้ามาต้องบอกว่ามันกระทบกับตลาดน้ำผลไม้ทั้งหมด เรามองว่าถ้าเครื่องดื่มที่มีความหวานจากธรรมชาติไม่ควรจะนำมาคิด แต่ถ้าเอาน้ำตาลมาเติมแล้วมันเกิน 6 กรัม อันนั้นก็เป็นเหตุเป็นผลที่รับได้ แล้วเมื่อยอดขายพวกนี้ลดลง ผู้ประกอบการก็ลดออร์เดอร์วัตถุดิบ คนที่จะได้รับผลกระทบมากสุดก็คือเกษตรกร”

นายพิพัฒพงศ์ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า ดอยคำยังหันมาเจรจากับพาร์ตเนอร์ หรือผู้ที่เป็นเจ้าของโรงงานอยู่แล้ว มาผลิตสินค้าในกลุ่มมะเขือเทศให้ภายใต้การรับรองคุณภาพของบริษัท แทนการเข้าไปลงทุนเอง เนื่องจากภาพรวมของโรงงานมะเขือเทศหลายแห่งของชาวบ้านประสบกับปัญหายอดขาย ในขณะที่บริษัทยังมีศักยภาพที่จะสร้างการเติบโตในสินค้ากลุ่มนี้ ตลอดจนแบรนด์ที่แข็งแกร่ง จึงร่วมมือกันเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถเติบโตไปได้ด้วยกัน เป็นการสานต่อแนวทางตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9

โดยขณะนี้มีโรงงานพาร์ตเนอร์ที่ตกลงจะผลิตให้แล้ว 2 ราย ในส่วนของซอสมะเขือเทศเข้มข้น ซึ่งจะเริ่มในปีนี้ และส่วนของมะเขือเทศสับ และปลอกผิวในช่วงต้นปีหน้า ส่วนผลประกอบการภาพรวมในปีนี้ ตั้งเป้าที่จะพลิกจากการหดตัวลงในช่วงต้นปี กลับมามีรายได้เท่าปีที่ผ่านมาหรือประมาณ 2 พันล้านบาท