ออกกฎหมายคุมเนิร์สซิ่งโฮม สธ.ต้อน7พันแห่งขึ้นทะเบียน

แฟ้มภาพ

ตลาด “เนิร์สซิ่งโฮม” โตไม่หยุด รายใหม่ทยอยดาหน้าเปิดบริการ รับสังคมผู้สูงอายุ เผยสำรวจล่าสุดมีไม่ต่ำกว่า 6-7 พันแห่งทั่วประเทศ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเร่งออกกฎหมายคุม ชง รมว.สาธารณสุขประกาศเป็นกฎกระทรวง หวังยกระดับบริการ-สร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการ ประชาพิจารณ์ 4 ภาคครบแล้ว คาดคลอดภายในสิ้นปีนี้ สมาคมขานรับ พร้อมรุดคุย สคบ.สัญญามาตรฐาน

นายแพทย์ฆนัท ครุธกุล นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันธุรกิจการรับดูแลผู้สูงอายุ หรือเนิร์สซิ่งโฮม ขยายตัวมากขึ้น โดยมีผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยไทย ซึ่งมีทั้งที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์ และไม่จดทะเบียนอีกเป็นจำนวนมาก และตลาดนี้ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตอีกมาก สังเกตจะเห็นได้ว่าช่วงหลัง ๆ มานี้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งที่สนใจและเปิดศูนย์ดูแลผู้สูงวัยให้บริการ

นายแพทย์สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยันฮี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากโครงสร้างประชากรเปลี่ยนไปและมีผู้สูงอายุมากขึ้น ที่ผ่านมายันฮีได้เปิดเนิร์สซิ่งโฮมเพื่อรองรับความต้องการที่เพื่มมากขึ้น จากเดิมมีเพียง 40 เตียง แต่จากดีมานด์ที่มีมาก รพ.มีแผนจะขยายบริการโดยจะเพิ่มเป็น 400 เตียง

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากเนิร์สซิ่งโฮมรายใหญ่ กล่าวในเรื่องนี้ว่า เนื่องจากตลาดนี้เป็นตลาดที่มีความต้องการสูง ประกอบกับจำนวนผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มมาก ทำให้ธุรกิจนี้มีบุคลากรหรือคนดูแลผู้สูงอายุ หรือแคร์กิฟเวอร์ (caregiver) ไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ผู้ประกอบการหลาย ๆ แห่งจับมือกับสถาบันการศึกษาเปิดหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ หรือมีการเปิดโรงเรียนบริบาลจำนวนมาก

ยอดรวมกว่า 7 พันแห่ง

แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลจำนวนผู้ประกอบการศูนย์ผู้รับเลี้ยงดูผู้สูงอายุทั่วประเทศเบื้องต้นพบว่า ปัจจุบันมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 6-7 พันแห่ง ซึ่งมีทั้งที่ได้ยื่นจดทะเบียบตั้งบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์และไม่ได้จดทะเบียน โดยจังหวัดที่มีเนิร์สซิ่งโฮมมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ รองลงไปเป็นนนทบุรี ปทุมธานี นครราชสีมา เชียงใหม่ ขอนแก่น

จากการตรวจสอบจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-กรกฎาคม) มีผู้ประกอบการจดทะเบียนตั้งบริษัทเนิร์สซิ่งโฮมเพิ่มกว่า 45 แห่ง จากปี 2560 ทั้งปีที่มียอดจดทะเบียนเพียง 61 แห่ง ทั้งนี้ หลัก ๆ เปิดในกรุงเทพฯ 17 แห่ง รองลงไปเป็นนนทบุรี 5 แห่ง และปทุมธานี 3 แห่ง ส่วนนครสวรรค์, สุพรรณบุรี, นครปฐม, ระยอง, เชียงใหม่, ชลบุรี, ลพบุรี จังหวัดละ 1-2 แห่ง

สบส.เร่งออกกฎหมายคุม

แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมดูแลเนิร์สซิ่งโฮมโดยเฉพาะ ที่ผ่านมา สบส.ได้ร่างกฎหมายกำหนดกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. …โดยอาศัยอำนาจตามความใน (3) มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 เพื่อนำมาใช้ควบคุมดูแลธุรกิจเนิร์สซิ่งโฮม และอีกด้านหนึ่งก็จะเป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานการบริการเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

ร่างกฎหมายดังกล่าว จะมีการกำหนดมาตรฐานและควบคุมในเรื่องของสถานที่ ความปลอดภัย และการให้บริการตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 เช่น ด้านสถานที่ ก็จะต้องตั้งอยู่ในทำเลและสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาคารที่ทำการจะต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พื้นที่ที่ให้บริการทั้งภายในและภายนอกต้องสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย ต้องมีพื้นที่ส่วนกลางเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตตผู้สูงวัย รวมทั้งต้องมีหน่วยบริการในการประสานงาน แจ้งเหตุเตือนภัย อำนวยความสะดวก และอื่น ๆ ตลอด 24 ชม.

ส่วนเรื่องความปลอดภัย เนิร์สซิ่งโฮมจะต้องจัดให้มีชุดปฐมพยาบาล, มีป้ายหรือข้อความ เพื่อแสดงเครื่องหมายหรือเตือน หรือการติดตั้งเครื่องป้องกันไม่ให้ผู้รับบริการเกิดอันตราย, มีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้, มีระบบป้องกันและควบคุมการติดเชื้อที่เหมาะสม

สำหรับมาตรฐานการให้บริการ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุจะมี “ผู้ดำเนินการ” หรือผู้ดูแลที่เป็นเหมือนหัวหน้าที่คอยดูแลการบริหาร การจัดการ ซึ่งอาจจะเป็นเจ้าของหรือไม่ใช่เจ้าของก็ได้ และจะต้องมีผู้ให้บริการ หรือผู้ดูแลที่เรียกว่า แคร์กิฟเวอร์ (care-giver) ซึ่งตามกฎหมายศูนย์ดูแลผู้สูงอายุจะต้องมีการขึ้นทะเบียนเพื่อรับใบอนุญาตแล้ว ขณะที่ผู้ดำเนินการก็จะต้องมีการยื่นขออนุญาตและมีคุณคุณสมบัติตามที่กำหนด ขณะที่ผู้ดูแลหรือแคร์กิฟเวอร์จะต้องมีการขึ้นทะเบียน และต้องเข้ารับการอบรมและสอบเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหรือหลักสูตรที่กำหนด

“ที่ผ่านมาได้ทยอยทำประชาพิจารณ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งรวบรวมข้อมูลต่อคณะกรรมการก่อนจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประกาศในกฎกระทรวงและบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่ง สบส.พยายามจะเร่งให้เสร็จไตรมาส 3 หรืออย่างช้าที่สุดภายในปลายปีนี้ และจะมีบทเฉพาะการให้ผู้ประกอบการได้มีเวลาปรับตัว 180 วัน”

ชงใช้สัญญามาตรฐาน

นายแพทย์ฆนัทแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า การออกกฎหมายดังกล่าวที่ผ่านมาสมาคมและ สบส.ได้มีการทำงานร่วมกันและประสานงานกันมาโดยตลอด การมีกฎหมายควบคุมดูแลเนิร์สซิ่งโฮมโดยเฉพาะ นอกจากเป็นหลักประกันให้กับผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบแล้ว อีกด้านหนึ่งก็จะเป็นการยกระดับมาตรฐาน-คุณภาพการให้บริการของผู้ประกอบการให้ดีขึ้น


นอกจากนี้ สมาคมอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อเข้าหารือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เนื่องจากธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา จะมีการทำเป็นสัญญามาตรฐาน…ที่ผู้ประกอบการทุกรายต้องใช้