KFC ย้ำเจ้าตลาดไก่ทอด ลงทุนรอบใหม่ กวาดลูกค้ารอบทิศ

ถึงวันนี้ “ตลาดไก่ทอด” ยังเป็นตลาดที่หอมหวานและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการมีผู้ประกอบการรายใหม่กระโดดเข้ามาในตลาดเป็นระยะ ๆ และนอกจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวแล้ว จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ “เคเอฟซี” เจ้าตลาดต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ แววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของแฟรนไชส์เคเอฟซี ในประเทศไทย หลังจากการปรับนโยบาย ด้วยการผันตัวเองสู่การเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ 100%

“แววคนีย์” ฉายภาพรวมของตลาดไก่ทอดในปัจจุบันว่า มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 14,700 ล้านบาท มีแนวโน้มเติบโตขึ้น ปัจจัยหลัก ๆ เนื่องจากเมนูไก่ทอด เป็นอาหารที่คนไทยชื่นชอบ และเป็นเมนูที่รับประทานได้ในทุกโอกาสพิเศษ อีกด้านหนึ่งในตลาดก็มีคู่แข่งรายใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการทำการตลาดอย่างหนัก เพื่อสร้างการรับรู้และแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด

ปัจจุบันเคเอฟซียังเป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่ง 65% และจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เคเอฟซีก็ต้องเร่งปรับกลยุทธ์ ด้วยการเพิ่มเมนูใหม่ และจัดโปรโมชั่นทุกช่วงเทศกาล รวมถึงพัฒนาช่องทางขายใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของช่องทางดิจิทัล ที่มีทั้งอีคอมเมิร์ซ โมบายแอปพลิเคชั่น เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่

ที่ผ่านมานอกจากการเพิ่มเมนูใหม่ ๆ เข้ามา เช่น ไก่ทอดชีส ไก่จัดใหญ่ เคเอฟซียังมีโปรโมชั่นเป็นระยะ ๆ อาทิ ไก่ทอด 9 ชิ้น ในราคา 199 บาท ผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ กลยุทธ์ดังกล่าวทำให้ในภาพรวมของเคเอฟซีเติบโตขึ้น

ภายในสิ้นปีนี้ เคเอฟซีจะมีสาขารวมทั้งหมด 701 สาขา โดยในจำนวนนี้เป็นสาขาไดรฟ์ทรู 65 สาขา โดยอยู่ภายใต้การบริหารร้านของพาร์ตเนอร์ ได้แก่ เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ประมาณ 258 สาขา คิวเอสอาร์ออฟเอเชีย (QSA) 273 สาขา และเรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นต์ (RD) 170 สาขา ตั้งเป้าขยายสาขาร้านเคเอฟซีให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากกว่า 1,000 สาขา แบ่งเป็นรูปแบบไดรฟ์ทรูกว่า 100 สาขา ในปี 2563

“แววคนีย์” ยังกล่าวถึงแผนการดำเนินงานที่สำคัญสำหรับปี 2562 ที่กำลังจะมาถึงว่า บริษัทเตรียมลงทุนเพิ่มจุดขายในรูปแบบตู้สั่งอาหาร เพื่อลดความแออัดของปริมาณลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในร้าน และเป็นการตอบโจทย์เทรนด์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ชอบรอคิวสั่งอาหารในเวลานาน ขณะเดียวกันบริการดังกล่าวยังถือเป็นความคุ้มค่าและสะดวกในการใช้บริการ และจะส่งผลต่อยอดขายอีกทางหนึ่ง

เบื้องต้นบริษัทจะเริ่มทยอยติดตั้งตู้สั่งอาหารดังกล่าวตามร้านเคเอฟซีในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และในอนาคตจะทยอยขยายออกไปให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ผู้บริหารเคเอฟซีย้ำว่า ขณะนี้บทบาทของยัมฯ หลัก ๆ จะมุ่งไปที่เรื่องของการสนับสนุนแฟรนไชส์และพันธมิตรในธุรกิจให้สามารถรักษามาตรฐานของแบรนด์ได้อย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญกับการให้ความรู้สำหรับการขยายธุรกิจและการทำกำไร ด้วยรูปแบบกลยุทธ์การทำตลาดเพื่อสนับสนุนให้กับแฟรนไชซี หรือผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าใหม่ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในเรื่องการบริการให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!