“สิงห์-ช้าง” มุ่งโตทางลัด รุกฆาตเบียร์อาเซียน

สงครามน้ำสีอำพันระหว่าง “สิงห์” กับ “ช้าง” นอกจากจะไม่จบกันง่าย ๆ แล้ว ยังเพิ่มดีกรีความดุเดือดขึ้นไปอีกขั้นหลังจากที่แลนด์สเคปการแข่งขันของทั้งคู่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเมืองไทยอีกต่อไป แต่ทั้ง 2 ค่ายกำลังมุ่งกรีฑาทัพไปสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้นอย่าง “อาเซียน” โดยเฉพาะแถบ CLMV บ้านใกล้เรือนเคียงในกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม


ปีที่ผ่านมา ทั้งสิงห์และช้างต่างก็เริ่มเดินเครื่องการผลิตเบียร์ของตัวเองจากโรงงานที่ตั้งอยู่ต่างประเทศเป็นครั้งแรกในเวลาไล่เลี่ยกัน

โดยสิงห์ได้นำสูตรของ “ลีโอเบียร์” ไปผลิตยังมาซานบริวเวอรี่ โรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของมาซาน กรุ๊ป ที่เวียดนาม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ภายใต้การบริหารงานของบริษัท สิงห์ เอเชีย โฮลดิ้ง จำกัด จากเดิมที่ใช้วิธีผลิตในไทยและส่งออกไปทำตลาดเพื่อรองรับการบุกตลาดเบียร์ในเวียดนามและอาเซียนที่จะเข้มข้นมากขึ้นในช่วงต่อจากนี้

คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่าสิงห์มองยุทธศาสตร์นี้เอาไว้ตั้งแต่แรกที่ตัดสินใจซื้อหุ้นของมาซาน กรุ๊ป หนึ่งในบริษัทคอนซูเมอร์รายใหญ่ของประเทศเวียดนามเมื่อปลายปี 2558 ด้วยเม็ดเงินกว่า 4.4 หมื่นล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้นในมาซาน คอนซูเมอร์ โฮลดิ้ง 25% และในมาซานบริวเวอรี่ 33% ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานที่ผลิตเบียร์ลีโอในเวียดนามอยู่ในขณะนี้

เป็น “ทางลัด” ที่ทำให้สิงห์สามารถยกระดับการรุกตลาดเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลา 4 ปี แถมยังได้ทั้งโรงงานผลิต กับดิสทริบิวชั่นไปพร้อม ๆ กัน ไม่ต้องไปเสี่ยงกับการลงทุนตั้งโรงงาน หรือการกระจายสินค้าเอง ซึ่งมีกระบวนการที่ยุ่งยากและซับซ้อนกว่า

ตัวเลขของสมาคมเครื่องดื่มของเวียดนาม (VBA) คาดการณ์ไว้ว่า การดื่มเบียร์ของคนเวียดนามภายในปี 2564 จะเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 62% จากปี 2560 มีอัตราการบริโภคอยู่ที่ 4,000 ล้านลิตรต่อปี และยังถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ในเอเชีย รองจากจีน และญี่ปุ่น

สอดคล้องกับไดเร็กชั่นของ “ยอร์ค สเปนเซอร์” กรรมการผู้จัดการธุรกิจภูมิภาค บริษัท สิงห์ อินเตอร์เนชั่นแนล เฮดควอเตอร์ จำกัด ที่ต้องการพัฒนาแบรนด์โพซิชั่นนิ่งของลีโอและสิงห์ให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อผลักดันการเติบโตในตลาดต่าง ๆ ของภูมิภาคเอเชีย

Advertisment

โดยลีโอถูกวางให้เป็น “South East Asia”s official beer of nighttime fun” หรือเบียร์ที่เป็นตัวแทนของความสนุกสนานในทุก ๆ ราตรีของภูมิภาคอาเซียน ในขณะที่สิงห์ถูกวางให้เป็น Asia”s global premium beer เบียร์พรีเมี่ยมระดับโกลบอลที่เป็นแบรนด์จากเอเชีย

จากนั้นไม่นาน “ช้าง” ก็กดปุ่มเดินเครื่องการผลิตเบียร์ในต่างประเทศครั้งแรกเช่นกันที่โรงงาน Emerald Brewery ในเมืองย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา โดยมีแพ็กไซซ์ที่ผลิตได้ทั้งหมด 5 ขนาด ได้แก่ แบบขวด 320 มล. และ 620 มล. แบบกระป๋อง 330 มล. และ 500 มล. และถัง keg ขนาด 30 ลิตร

Advertisment

โรงงานดังกล่าวมีกำลังผลิต 50 ล้านลิตรต่อปี และสามารถขยายได้ถึง 120 ล้านลิตรต่อปี ใช้งบฯลงทุนประมาณ 2 พันล้านบาท แต่เป็นการลงทุนของ F&N หรือบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ จำกัด บริษัทอาหารเครื่องดื่มและอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สิงคโปร์และมาเลเซีย ที่กลุ่มไทยเบฟทุ่มเงินซื้อไปเมื่อปี 2556 กว่า 3 แสนล้านบาท

การมีเบียร์ช้างที่ผลิตในเมียนมาไม่เพียงแต่เป็นไมล์สโตนที่สำคัญของไทยเบฟเท่านั้น แต่ยังเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีของ F&N ที่สามารถหวนกลับไปบุกตลาดเบียร์นี้ได้อีกครั้ง หลังจากที่ F&N เคยเป็นผู้ผลิตเมียนมาเบียร์อันดับ 1 ในเมียนมา แต่ถูกยื่นฟ้องอนุญาโตตุลาการสิงคโปร์จนต้องยอมขายหุ้นที่อยู่ในเมียนมาบริวเวอรี่เมื่อปี 2558 เพื่อยุติเรื่องดังกล่าว

ผู้บริหารระดับสูงของ F&N ระบุว่า การก่อตั้งธุรกิจเบียร์ครั้งใหม่ของเอฟแอนด์เอ็นในตลาดเมียนมา สะท้อนภาพของตลาดเบียร์ในเมียนมาที่มีศักยภาพและเติบโตอย่างรวดเร็วได้เป็นอย่างดี

และด้วยประสบการณ์การบริหารโรงเบียร์ และดำเนินธุรกิจนี้มานานว่า 2 ทศวรรษ เชื่อว่าจะสามารถผลักดันให้โรงงานแห่งนี้เป็นหนึ่งในโรงเบียร์อันดับต้น ๆ ได้ในอนาคต

สอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์ที่ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้เน้นย้ำมาตลอดว่า ไทยเบฟต้องการเป็นผู้นำเครื่องดื่มครบวงจรในอาเซียน เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ จากตลาดที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เช่น เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา ลาว ฯลฯ โดยเฉพาะธุรกิจเบียร์ที่ปัจจุบันครองมาร์เก็ตแชร์ในอาเซียนไว้ถึง 26-27% จากยอดขายของไทยเบฟบวกกับซาเบคโก้ หรือบริษัทไซง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น ผู้ผลิตเบียร์เบอร์ 1 ในเวียดนาม ที่ไทยเบฟซื้อกิจการไปเมื่อปี 2560 ด้วยเม็ดเงินกว่า 1.6 แสนล้านบาท

การมีเครือข่ายที่เป็นผู้ผลิตเบียร์เบอร์ 1 ในตลาดสำคัญอย่างเวียดนามที่มีโรงเบียร์ขนาดใหญ่อยู่ถึง 26 แห่งทั่วประเทศ คงไม่ใช่เรื่องยากหากไทยเบฟจะนำเบียร์ช้างไปผลิตที่เวียดนามในสเต็ปต่อจากนี้

ล่าสุดผู้บริหารระดับสูงของไทยเบฟ “เอ็ดมอนด์ เนียว คิม ซูน” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มบริหารการลงทุนตราสินค้า ไทยเบฟก็ออกมายอมรับว่า อยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องนี้อยู่เช่นกัน

ในเวทีระดับภูมิภาค ไทยเบฟมีความได้เปรียบทั้งเรื่องเงินทุนและพาร์ตเนอร์บิ๊กเนม เมื่อซินเนอร์ยี่กันอาจได้ผลลัพธ์ที่มากกว่า “ทางลัด” แต่เป็น “fast track” หรือทางด่วนพุ่งตรงไปถึงจุดหมายได้เร็วกว่า

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาก็มีข่าวความเคลื่อนไหวจากฟากของไทยเบฟ ว่า บริษัทอาจแยกธุรกิจเบียร์ออกมา IPO หรือการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก โดยมูลค่าการระดมทุนครั้งนี้อาจสูงถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งไทยเบฟเองก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องดังกล่าว และยังเน้นย้ำต่อไปด้วยว่าเป็นธรรมดาของธุรกิจที่จะต้องมองหาและสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ ในสินทรัพย์ที่มีอยู่ ซึ่งก็มีอยู่หลายวิธี ไม่เฉพาะแค่การนำธุรกิจเบียร์แตกออกมาเพื่อระดมทุนในตลาดเท่านั้น

แต่ก็ต้องยอมรับว่า ศึกในบ้านตลาดเบียร์ในประเทศไทยที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะขึ้นเป็นผู้นำให้ได้นั้น ก็เป็นงานหินไม่ใช่เล่นเพราะสิงห์ก็คงไม่ยอมให้บัลลังก์นี้หลุดไปจากมือตัวเองได้ง่าย ๆ เช่นกัน

จับตาตลาดเบียร์ไทย-อาเซียนปีหน้า ตื่นเต้นและมีอะไรสนุก ๆ เกิดขึ้นแน่นอน