“หน้ากาก” ดีมานด์ทะลัก แฟชั่นปรับแผน…ปั๊ม “ขาย-แจก”

อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย แฟชั่น เสื้อผ้า เป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่แพ้อุตสาหกรรมอื่น ๆ ในช่วงนี้

นอกจากเรื่องของกำลังซื้อที่ตกอยู่ในภาวะ “ซึม” จากสภาพเศรษฐกิจที่ทรงตัวตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดปัญหาไวรัสร้าย และเมื่อมาเจอสถานการณ์การแพร่ระบาด ยิ่งทุบให้มู้ด ความเชื่อมั่น และกำลังซื้อลดต่ำลงไปอีก เพราะคนส่วนใหญ่เลือกที่จะคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อเซฟเงินเอาไว้ใช้จ่ายกับเรื่องจำเป็น อย่างสินค้าอุปโภค บริโภค ในการดำรงชีวิตมากกว่า

ไหนจะผลพวงจากคำสั่งของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีผลให้ห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าต้องปิดให้บริการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม-30 เมษายน นับเป็นเวลากว่า 1 เดือน ที่ธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งมียอดขายหลักมาจากช่องทางของห้างสรรพสินค้า จะไม่สามารถขายสินค้าได้ตามปกติ และอาจมีแนวโน้มที่ห้างจะขยายระยะเวลาการปิดให้บริการ หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น

โอกาสทางการขายที่หายไป ทำให้ภาคธุรกิจต้องเร่งมือทบทวนแผน รวมถึงการร่วมด้วยช่วยกัน นำความเชี่ยวชาญด้านการผลิตที่มีอยู่ มาช่วยบรรเทาวิกฤตที่เกิดขึ้น

หนึ่งในปรากฏการณ์ที่เป็นกระแสในเวลานี้ก็คือ การที่กลุ่มผู้ผลิตชุดชั้นในที่มีโรงงานผลิตเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น “ซาบีน่า” หรือ “วาโก้” ได้ออกมาแอ็กชั่นกับเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว โดยการปรับไลน์การผลิตชุดชั้นใน มาผลิตหน้ากากผ้าเพื่อแจกจ่ายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแจกจ่ายไปยังบุคคลทั่วไปให้สามารถเข้าถึงสินค้าดังกล่าวง่ายขึ้น

“บุญชัย ปัณฑุรอัมพร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายชุดชั้นในแบรนด์ “ซาบีน่า” ระบุว่า จากปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทได้เข้ามาทำการผลิตหน้ากากผ้ามาระยะหนึ่งแล้ว นำร่องที่โรงงานจังหวัดยโสธร และพุทธมณฑลสาย 5 โดยช่วงแรกที่ผลิตเพื่อแจกจ่ายให้กับพนักงานในโรงงาน

จนกระทั่งได้รับการตอบรับ และการติดต่อจากหน่วยงานราชการ รวมถึงโรงพยาบาลและสาธารณสุข จึงตัดสินใจเปิดสายการผลิตใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับผลิตหน้ากากผ้า ไม่ว่าจะเป็นผ้าที่มีคุณภาพ ได้รับมาตรฐานการรับรองด้านความปลอดภัยจาก OEKO-TEX Standard ปลอดสารและไม่เป็นอันตรายเมื่อสัมผัสร่างกาย และสามารถซักเพื่อใส่ซ้ำได้ ภายใต้มาตรฐานการผลิตของซาบีน่า

ขณะที่แผนการทำธุรกิจหลังจากที่ห้างสรรพสินค้าต้องปิดให้บริการชั่วคราวนั้น กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งกรณีของรายได้ยอดขายของสาขาต่าง ๆ รวมถึงพิจารณาความช่วยเหลือให้กับพนักงานขายประจำห้างสรรพสินค้า ทั้งที่เป็นเคาน์เตอร์และซาบีน่า ช็อป ที่ได้รับผลกระทบ ว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือพนักงานในกลุ่มนี้อย่างไรต่อไป

เช่นเดียวกันกับ “บุญดี อำนวยสกุล” ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ระบุถึงนโยบายเร่งด่วนในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 บริษัทได้หยุดการผลิตชุดชั้นใน และหันมาผลิตหน้ากากอนามัยแทน โดยได้นำวัตถุดิบที่ใช้ผลิตชุดชั้นในที่มีอยู่ เช่น ผ้าสเปเซอร์ บวกกับเทคโนโลยีด้านการผลิตที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ ทำให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยจากสีและสารเคมีอันตราย ซึ่งผ่านเกณฑ์ตามที่สถาบันอุตสาหกรรมสิ่งทอกำหนด มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น PM2.5 และป้องกันการกระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถซักทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ซ้ำได้ตลอดอายุการใช้งาน

โดยเฟสแรก ได้นำหน้ากากแจกจ่ายแก่พนักงาน 5,000 ชิ้น และองค์กรอื่น ๆ เพื่อส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน สภากาชาดไทย ฯลฯ รวมกว่า 15,000 ชิ้น และได้เร่งการผลิตเพื่อแจกให้กับประชาชนในเฟสต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะแจกจ่ายได้กว่า 52,000 ชิ้น ในเร็ว ๆ นี้

ขณะที่แบรนด์ชุดนักเรียนตราสมอ ที่หันมาผลิตหน้ากากผ้าและแจกจ่ายให้กับลูกค้าและคนทั่วไป ฟรี 300,000 ชิ้น ที่ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ แบ่งเป็น รอบแรก 120,000 ชิ้น สามารถรับได้ตั้งแต่วันอังคารที่ 31 มีนาคม 2563 และรอบที่ 2 อีก 180,000 ชิ้น อยู่ระหว่างขั้นตอนการผลิต และจะแจกให้กับลูกค้าผ่านทางตัวแทนจำหน่ายต่อไป

รวมถึงแบรนด์เสื้อผ้าหลายแบรนด์ที่สามารถปรับไลน์การผลิตมาผลิตหน้ากากผ้าได้ ต่างก็เดินเครื่องผลิตกันอย่างเต็มที่ และมีการเปิดตัวกันอย่างคึกคักในช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์นารายา, แม็คยีนส์, จีคิว, ตราสมอ, พาซาญ่า ฯลฯ

“ชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องแต่งกายและไลฟ์สไตล์ “แม็คยีนส์” ได้เปิดสายการผลิตหน้ากากผ้าและหมวกป้องกันเชื้อโรค เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 วางจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ของบริษัท เซต 5 ชิ้นราคา 295 บาท มีสีน้ำเงินและสีฟ้า และเตรียมเพิ่มจุดขายในโฮมช็อปปิ้งเร็ว ๆ นี้

สำหรับการปิดสาขาในห้างและศูนย์การค้าเป็นการชั่วคราว ทำให้กระทบกับจุดขายกว่า 230 แห่ง ในพื้นที่ 35 จังหวัด ทำให้บริษัทต้องปรับแผนการดำเนินงานใหม่ โดยจะโฟกัสในการคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หันไปให้น้ำหนักกับการทำตลาดผ่านออนไลน์ รวมถึงเฟซบุ๊กไลฟ์ การทำโปรโมชั่นพิเศษ การให้พนักงานขายหน้าร้านรับออร์เดอร์ออนไลน์ เป็นต้น

เช่นเดียวกับ “วีรธิป ธนาภิสิทธิกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุภารา กรุ๊ป แอนด์ จีคิว แอพพาเรล จำกัด ผู้ผลิต จัดจำหน่าย เสื้อผ้าบุรุษแบรนด์ “จีคิว” ได้นำเทคโนโลยีของเนื้อผ้าใน GQWhite มาผลิตเป็นหน้ากากผ้า คุณสมบัติสะท้อนหยดน้ำและละอองน้ำ ผ้าชั้นในผลิตจากเส้นใย Perma และมีเทคโนโลยียับยั้งการเติบโตของแบคทีเรีย ซักได้กว่า 30 ครั้ง

จำหน่ายในราคาชิ้นละ 150 บาท ตลอดจนการนำหน้ากากผ้า ทำโปรโมชั่นแจกฟรี เมื่อซื้อเสื้อ GQWhite 1,000 ตัวแรก ในช่องทางของลาซาด้า ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม-3 เมษายน

ส่วนแผนการดำเนินงานในภาพรวมได้เลื่อนการโปรโมตและแคมเปญของสินค้าใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปได้ไม่นาน อย่าง GQColor เสื้อเปลี่ยนสีได้ตามอุณหภูมิ ที่เดิมตั้งใจว่าจะโปรโมตช่วงสงกรานต์ และหันมาทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งในด้านของการสื่อสาร และการขายแทน

ขณะที่แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นอย่าง “เกรยฮาวด์” ได้มีการเปิดตัวหน้ากากผ้าคอตตอน 100% และคอตตอน เรยอน ปลอดภัยด้วยสีปลอดสารพิษ สามารถซักได้ ราคา 390 บาท พร้อมกับแบรนด์ในเครืออย่าง “สไมลี่ฮาวด์” ก็หันมาวางขายหน้ากากผ้าจากใยแบมบูชาโคล 2 ชั้น คุณสมบัติชะลอการเติบโตของแบคทีเรีย สามารถซักเพื่อใช้ซ้ำได้ในราคาชิ้นละ 390 บาทเช่นกัน

ตลอดจนแบรนด์กระเป๋าผ้า “นารายา” ถือเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่หันมาทำหน้ากากผ้าเป็นรายแรก ๆ โดยใช้การประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ เฟซบุ๊ก ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำจากผ้าโพลีเอสเตอร์ 2 ชั้น ดีไซน์และตัดเย็บแบบ 3D เพื่อให้โค้งรับกับรูปหน้า มีคุณสมบัติในการป้องการแพร่กระจายสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก ระหว่างกันได้ สามารถนำไปซักได้ วางขายในราคาชิ้นละ 50 บาท

แบรนด์ตุ๊กตาหมี “เท็ดดี้ เฮาส์” เองก็หันมาเปิดตัวสินค้าอย่าง “Teddy mask” หน้ากากผ้าสามารถซักทำความสะอาดได้ มีช่องสำหรับใส่แผ่นกรอง ราคา 1 ชิ้น 79 บาท และ 2 ชิ้น 145 บาท

นอกจากนี้ยังมีแบรนด์เครื่องนอน “พาซาญ่า” ทำหน้ากากผ้า โดยมีคุณสมบัติสะท้อนน้ำ ป้องกันการซึมเปื้อนของละอองน้ำ และเทคโนโลยีแอนตี้แบ็ก สามารถซักและใส่ซ้ำได้ถึง 100 ครั้ง จำหน่ายในราคา 5 ชิ้น 300 บาท รวมถึงแบรนด์เอเนอร์จี้เจล Dever ก็หันมาทำหน้ากากผ้าทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ ที่มีคุณสมบัติสะท้อนหยดน้ำ ป้องกันการเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา โดยสามารถซักทำความสะอาดได้มากกว่า 30 ครั้ง จำหน่ายในราคาชิ้นละ 79 บาท และ 3 ชิ้น ราคา 200 บาท


แม้ตัวเลขของการขายหน้ากากผ้า คงไม่สามารถทดแทนกับตัวเลขยอดขายของแต่ละแบรนด์ที่หายไปได้ แต่อย่างน้อยในวิกฤตเช่นนี้ก็มีโอกาสรออยู่ และสำหรับหลาย ๆ แบรนด์ที่ใช้วิธีแจกจ่ายไปแบบฟรี ๆ ยังได้ใจคนไทยไปเต็ม ๆ สำหรับความช่วยเหลือในยามยาก ที่หยิบยื่นให้กันในภาวะเช่นนี้