เอเยนซี่ล้มบิ๊กดีล “เรตติ้งทีวี” หันกลับเจรจา “นีลเส็น-GFK”

เปลี่ยนระบบวัดเรตติ้งทีวีใหม่เหลว สมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อล้มดีล “กันตาร์ฯ” เปิดทางเจรจารายใหม่ “จีเอฟเค” หรือหันกลับซบ “นีลเส็น” หลังพบช่องโหว่สัญญาเพิ่มสิทธิ์ “สามารถยกเลิกสัญญาได้” ใน 6-12 เดือน ถ้าหาสมาชิกได้ไม่ครบ สถานการณ์ทีวีช่องใหม่ มีเดียเอเยนซี่ หมดหวังเพิ่มรายได้โฆษณา

สมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ ล้มดีลวัดเรตติ้งทีวี “กันตาร์ฯ” ถอยทัพ พร้อมลุยเดินหน้ายกเครื่องเรตติ้งต่อ เปิดทางเจรจารายใหม่ “จีเอฟเค” หรือกลับไปใช้ “นีลเส็น” หลังช่องโหว่”กันตาร์ฯ” เพิ่มสิทธิ์สามารถยกเลิกสัญญาได้ใน 6-12 เดือนหากหาสมาชิกได้ไม่ครบตามจำนวนเงิน ขณะที่ทีวีช่องใหม่หมดหวังเพิ่มรายได้โฆษณา

สะเทือนวงการทีวีรอบใหม่ เมื่อสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) MRDA ล้มสัญญาการวัดเรตติ้งมัลติแพลตฟอร์ม หลังบริษัท กันตาร์ มีเดีย จำกัด ผู้ชนะการประมูล และได้เซ็นสัญญาเป็นที่เรียบร้อยไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2558 ตัดสินใจถอยทัพ เนื่องจากประเมินว่าไม่คุ้มค่าการลงทุน เนื่องจากสมาคมวิจัยฯไม่สามารถหาลูกค้า (ช่องทีวี-มีเดีย

เอเยนซี่) มาเพิ่มได้ ซึ่งการเปลี่ยนระบบวัดเรตติ้งใหม่ในครั้งนี้จะเป็นความหวังของช่องทีวี มีเดียเอเยนซี่ และเจ้าสินค้าในการสร้างมาตรฐานใหม่ และความน่าเชื่อถือให้แก่อุตฯ ขณะที่ทีวีหลาย ๆ ช่องก็คาดหวังว่าเมื่อเรตติ้งชุดใหม่เสร็จสมบูรณ์จะส่งผลดีต่อระบบโฆษณาของ แต่ละช่องด้วย

ล้มดีล “กันตาร์ฯ”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ล่าสุดเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (25-29 กันยายน) สมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) หรือ MRDA ได้ส่งหนังสือสรุปรายงานการประชุมครั้งที่ 3/2560 ลงวันที่ 21 กันยายน 2560 ให้แก่สมาชิกสมาคม เช่น ช่องทีวีดิจิทัล มีเดียเอเยนซี่ เป็นต้น เพื่อชี้แจงทางออก หลังจากตัดสินใจยกเลิกสัญญาวัดเรตติ้งกับบริษัท กันตาร์ มีเดีย จำกัด เนื่องจากกันตาร์ฯส่งสัญญาเพิ่มเติม ซึ่งเนื้อหาระบุว่า มีสิทธิยกเลิกสัญญาหลักภายใน 6-12 เดือน หลังจากมีรายงานข้อมูลเรตติ้ง ถ้าไม่สามารถหาสมาชิกได้ครบตามจำนวนเงินที่จะชดเชยค่าติดตั้ง เพราะเสี่ยงต่อการขาดทุนสะสม

ขณะเดียวกัน สมาชิกยังมีมติเห็นด้วยให้สมาคมจัดทำวิจัยเรตติ้งต่อไปใน 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ติดต่อกับจี เอฟเค บริษัทวิจัยทางการตลาดสำหรับเสนอแผนงานการจัดทำวิจัยเรตติ้ง 2.สมาคมจะเปิด TOR สำหรับการนำเสนอราคารอบใหม่ และ 3.ในกรณีที่ไม่มีบริษัทวิจัยไหนเข้าร่วม สมาคมจะเจรจากับบริษัทที่ทำข้อมูลเรตติ้งปัจจุบัน ซึ่งได้แก่ บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด และปัจจุบันสมาคมอยู่ระหว่างติดต่อกับบริษัทจีเอฟเค เพื่อหาข้อสรุป ซึ่งจะรายงานความคืบหน้าให้กับสมาชิกทราบเป็นระยะ ๆ

สอดคล้องกับ แหล่งข่าวจากมีเดียเอเยนซี่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การวัดเรตติ้งทีวีมัลติแพลตฟอร์มระหว่างเอ็มอาร์ดีเอกับกันตาร์ฯ มีโอกาสล้มสูง หลังกันตาร์ฯยื่นสัญญาเพิ่มว่า มีสิทธิ์บอกเลิกสัญญากับเอ็มอาร์ดีเอได้ตลอดเวลา เนื่องจากกันตาร์ฯ เกรงว่าจะขาดทุน เพราะที่ผ่านมา กันตาร์ฯเคยขาดทุนจากการวัดเรตติ้งแบบนี้มาในหลายประทศ ซึ่งทำให้การวัดเรตติ้งรอบใหม่อาจจะต้องรอไปก่อนตามขั้นตอนของเอ็มอาร์ดีเอ

ขณะที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรายใหม่ที่เคยหวังว่าการวัดเรตติ้งครั้งนี้จะ ทำให้ช่องเล็ก ๆ มีพื้นที่ยืน และมีรายได้โฆษณาเพิ่มขึ้นจากรูปแบบการวัดเรตติ้งที่สอดรับกับพฤติกรรมของ ผู้ชม ก็อาจจะต้องรอไปก่อน ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันสูงขึ้นและเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อทีวีที่ลดลง เรื่อย ๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากกันตาร์ฯเซ็นสัญญากับเอ็มอาร์ดีเอ ฟากนีลเส็นก็โชว์ภาพเหนือ ด้วยการออกบริการใหม่มาต่อเนื่อง ล่าสุดได้เปิดตัวบริการข้อมูลการวัดเรตติ้งแบบมัลติสกรีน หรือ digital content ratings ให้กับลูกค้าตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยบริการนี้จะส่งมอบข้อมูลเรตติ้งของผู้ชมดิจิทัลคอนเทนต์ (วิดีโอ, เว็บไซต์ และวิทยุ) แบบรายวัน ด้วยมาตรวัดที่สามารถใช้ควบคู่กับเรตติ้งทีวีได้

ย้อนรอยยกเครื่องวัดเรตติ้ง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า การยกเครื่องเรตติ้งทีวีเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา ด้วยการนำทัพของนางวรรณี รัตนพล ในฐานะนายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) โดยขณะนั้นมีกรอบและแนวทางที่ชัดเจน และมีการตั้งสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อตามขึ้นมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 เพื่อจัดทำเรตติ้งทีวีมัลติสกรีน และ “กันตาร์ มีเดีย” เป็นผู้ชนะประมูลครั้งนี้และเซ็นสัญญาเมื่อปลายปี 2558 ขณะที่นีลเส็นไม่ได้เข้าร่วมประมูลดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า บริษัทแม่ตอบกลับไม่ทัน จึงไม่สามารถส่งรายละเอียดได้ตามเงื่อนเวลาที่กำหนดได้

สำหรับราย ละเอียดเบื้องต้นของการดำเนินงานวัดเรตติ้ง กันตาร์ฯ ที่ผ่านมาแบ่งออก 3 เฟส ได้แก่ เฟสแรก (สิงหาคม 2559-เมษายน 2560) คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างการทำเซอร์เวย์พื้นฐาน (establishment survey) จากผู้บริโภคทั่วประเทศ 30,000 ตัวอย่าง เพื่อศึกษาโครงสร้างตลาด และคัดให้เหลือ 3,000 ครัวเรือน ครอบคลุม 9,600 คน ส่วนเฟส 2 ช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม เป็นช่วงที่เริ่มเก็บเรตติ้ง และเฟส 3 จะนำผลเรตติ้งมาใช้ในปลายปีนี้ แต่ก็ถูกยกเลิกไป


จุดเด่นของระบบวัด เรตติ้งนี้ คือ เก็บข้อมูลจากทุกแพลตฟอร์ม รวมถึงคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่เป็นการอิงสัดส่วนตามจำนวนประชากรจากฐาน ข้อมูลของรัฐบาล ทำให้กลุ่มตัวอย่างกระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศสอดรับกับสภาพความเป็นจริง แบ่งเป็นภาคกลาง 29% เพราะมีครัวเรือนมากที่สุดที่ 6.9 ล้านครัวเรือน ภาคเหนือ 19% ใต้ 14% และกรุงเทพฯ 11% ตามจำนวนครัวเรือน และตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลด้วยการส่งไปให้บุคคลภายนอกตรวจสอบและ รับรองความถูกต้องของกระบวนการ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่อุตฯ