ไทยเบฟฯ ยอดร่วง “เหล้า-เบียร์” พ่ายโควิด-19 ฉุดรายได้

“ไทยเบฟฯ” เปิดผลประกอบการ 9 เดือน “น้ำเมา-ธุรกิจอาหาร” ร่วงทำรายได้วูบ 7.4% ผลพวงโควิด-19 มาตรการล็อกดาวน์ ทำเหล้า-เบียร์สะดุด เผยล่าสุดทางการปลดล็อกยี่ปั๊ว-ซาปั๊วแห่เติมสต๊อก เผยมาตรการรัดเข็มขัด ควบคุมค่าใช้จ่าย-ลดงบฯโฆษณา หนุนตัวเลขกำไรออกมาดี โอด “ซาเบโก” ในเวียดนามกระทบหนัก

รายงานข่าวจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานรอบ 3 ไตรมาส สิ้นสุด 30 มิถุนายน (ก.ย. 62-มิ.ย. 63) ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยระบุว่า บริษัทมีรายได้จากการขายรวม 190,099 ล้านบาท ลดลง 7.4% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 จากผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ประเทศที่เป็นแหล่งรายได้หลักอย่างไทยต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ และห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชั่วคราว เช่นเดียวกับเวียดนามที่นำมาตรการล็อกดาวน์มาใช้

อย่างไรก็ตาม ด้านผลกำไรเติบโตขึ้น โดยกำไรก่อนหักภาษี (EBITDA) เพิ่มขึ้น 2.2% จากช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว เป็น 32,851 ล้านบาท ด้วยแรงหนุนจากกำไรก่อนหักภาษีของเซ็กเมนต์เหล้าและเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ ที่เพิ่มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวหลังคลายล็อกดาวน์ ร่วมกับมาตรการรัดเข็มขัดลดค่าใช้จ่ายด้านโฆษณาและโปรโมชั่นลง เช่นเดียวกับสถานะทางการเงินของบริษัทยังมั่นคง ทั้งจากปริมาณกระแสเงินสด และการชำระหนี้เงินกู้ระยะสั้นรวมมูลค่ากว่า 5,700 ล้านบาท ไปตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยไม่เสียค่าปรับการชำระก่อนกำหนด

ทั้งนี้ บริษัทไทยเบฟฯได้ฉายภาพการฟื้นตัวนี้ว่า ยอดขายเหล้าในเชิงปริมาณในไทยเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นจังหวะที่มาตรการห้ามขายเครื่องดื่ม

แอลกอฮอล์ชั่วคราวถูกยกเลิก กระตุ้นให้บรรดาผู้ค้าส่งเริ่มกลับมาสั่งสินค้าเพื่อเติมสต๊อกของตนเองอีกครั้ง ทำให้ช่วงที่เหลือของเดือนพฤษภาคมไปจนถึงมิถุนายน ยอดขายกระเตื้องขึ้นจนถึงระดับที่เกือบจะชดเชยยอดขายที่หายไปในช่วงล็อกดาวน์ได้

นอกจากนี้ ความหลากหลายของพอร์ตโฟลิโอสินค้าที่ครอบคลุมหลายเซ็กเมนต์ของตลาด และพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์นอกร้านอาหาร หรือสถานบันเทิงของชาวไทย ยังมีส่วนช่วยลดความเสียหายในช่วงการระบาด เห็นได้จากในเมียนมา ซึ่งความแข็งแกร่งของแบรนด์และส่วนแบ่งตลาดในเซ็กเมนต์วิสกี้ช่วยให้ธุรกิจเหล้าของบริษัทอยู่ในระดับทรงตัว ทั้งหมดนี้ช่วยให้กำไรก่อนหักภาษีของธุรกิจเหล้าเติบโตถึง 4.9% จากปีก่อนเป็น 21,560 ล้านบาท แม้ยอดขายจะลดลง 0.5% เหลือ 88,455 ล้านบาท เช่นเดียวกับยอดขายเชิงปริมาณที่ลดลง 2.5% ก็ตาม

รายงานจากบริษัทไทยเบฟฯยังระบุว่า นอกจากเหล้าแล้ว เครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยของบริษัทในช่วงโควิด โดยแม้รายได้จากการขายจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 12,488 ล้านบาท และยอดขายเชิงปริมาณที่ลดลงไป 3.8% เป็น 1,707 ล้านบาท แต่ด้านกำไรก่อนหักภาษีกลับเติบโตก้าวกระโดดถึง 301.6% สวนทางกับยอดขายและรายได้ ซึ่งเป็นผลจากนโยบายควบคุมค่าใช้จ่ายในธุรกิจอย่างเข้มงวด เช่น ลดค่าโฆษณาและโปรโมชั่น ประกอบกับสร้างกำไรจากการดำเนินงาน และรายได้ด้านอื่น ๆ

“ตรงกันข้าม ธุรกิจเบียร์ยังคงท้าทาย โดยเฉพาะในเวียดนามที่มาตรการล็อกดาวน์กระทบกับยอดขายของซาเบโกอย่างหนัก ส่งผลให้รายได้จากการขายในธุรกิจนี้ลดลง 14.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เหลือ 79,317 ล้านบาท เช่นเดียวกับยอดขายเชิงปริมาณที่ลดลง 15.5% เป็น 1,741.6 ล้านลิตร”

ทั้งนี้ บริษัทไทยเบฟฯยังระบุในรายงานว่า หากไม่รวมส่วนของซาเบโกแล้ว ยอดขายธุรกิจเบียร์จะลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะรายงานสภาพตลาดของหน่วยงานภายนอกนั้น ส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทในตลาดเบียร์ประเทศไทยเติบโตต่อเนื่อง จนสามารถทำลายสถิติเดิมเมื่อเดือนเมษายนปี 2559 ได้ เนื่องจากยอดขายเชิงปริมาณที่เพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มความเข้มงวดในการใช้งบฯโฆษณาและโปรโมชั่นในไทย เพื่อให้สอดคล้องกับยอดขายที่ลดลง รวมกับการลดค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ในเวียดนาม และแนวโน้มที่ธุรกิจต่าง ๆ ในเวียดนามเริ่มกลับมาเปิดทำการหลังคลายล็อกดาวน์ ทำให้อัตรากำไรก่อนหักภาษีของธุรกิจเบียร์ดีขึ้น แต่ยังคงลดลง 9.3% เหลือ 8,833 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจอาหารมียอดขาย 9,935 ล้านบาท ลดลง 14.7% เนื่องจากผลกระทบของมาตรการห้ามทานอาหารในร้านช่วงเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ทำให้โอกาสขายลดลง แม้ส่วนบริการดีลิเวอรี่ของบริษัทจะเติบโต แต่ไม่สามารถชดเชยกับค่าใช้จ่ายคงที่ในธุรกิจอาหารอย่างค่าเช่าพื้นที่ และค่าแรงพนักงานได้ ทำให้กำไรก่อนหักภาษีลดลงเหลือ 751 ล้านบาท

ผลประกอบการนี้สะท้อนถึงความพยายามปรับตัวของยักษ์เครื่องดื่มที่หันมาเน้นรัดเข็มขัดลดค่าใช้จ่ายด้านการตลาดลง เพื่อเพิ่มสัดส่วนกำไร หลังจากรายได้รวมครึ่งปีแรก (1 ต.ค. 62-31 มี.ค. 63) อยู่ที่ 137,092 ล้านบาท ลดลง 3.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้ 142,619 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 14,789 ล้านบาท เติบโต 3.9%แบ่งเป็น ธุรกิจเหล้ามีรายได้ 64,262 ล้านบาท เติบโต 2.5% ธุรกิจเบียร์ 56,875 ล้านบาท ลดลง 11.2% เครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ 8,690 ล้านบาท เติบโต 4.9% ธุรกิจอาหาร 7,351 ล้านบาท ลดลง 3.2%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ไทยเบฟฯได้มีการเปิดตัวสินค้าใหม่ 2 แบรนด์ คือ สุราข้าวหอม “นิยมไทย” และสุราแช่สมุนไพร “พญานาค” เพื่อชิงส่วนแบ่งในเซ็กเมนต์เหล้าขาว และสุราแช่สมุนไพรคืน หลังปล่อยให้คู่แข่ง “ตะวันแดง” ของค่ายคาราบาว ออกโปรดักต์มาชิงส่วนแบ่งทั้งเหล้าขาว เหล้าสี รวมทั้งการเปิดเซ็กเมนต์ใหม่อย่าง สุราข้าวหอม มีรูปลักษณ์ที่ทันสมัย ในขวดสีเขียว คล้ายกับโซจู เหล้าขาวเกาหลี รวมถึงเซ็กเมนต์สุราแช่สมุนไพร แบบขวดเล็ก ที่ปล่อยให้กลุ่มเพ็ญภาคสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ โดย “นิยมไทย” เน้นกลยุทธ์ราคา ด้วยการขายที่ 60 บาท ถูกกว่าตะวันแดงถึง 10 บาท เน้นเจาะร้านค้าเทรดดิชั่นนอลเทรด และใช้แพ็กเกจจิ้งขวดแก้วสีเขียวเหมือนกัน ส่วน “พญานาค” นั้นวางราคาขาย 25 บาท เช่นเดียวกับตราพญานาค