แฟรนไชส์ ‘เขาใหญ่คาม’ แนวรบใหม่…คลาส คาเฟ่

สัมภาษณ์

บนเส้นทางธุรกิจร้านกาแฟ ที่เริ่มต้นจากการเป็น “สตาร์ตอัพ” ของ “คลาส คาเฟ่” ที่ก้าวเข้ามาเป็นผู้ท้าชิงในตลาดกาแฟหมื่นล้าน ด้วยการเปิดสาขาแรกในนครราชสีมา ก่อนจะขยายตัวสู่จังหวัดอื่น ๆ ตามมา ก่อนจะบุกมาเปิดในกรุงเทพฯ ด้วยการสร้างจุดแข็งความแตกต่าง ทั้งเครื่องดื่มและรูปแบบร้าน ที่เป็น coworking space

ถึงวันนี้คลาส คาเฟ่ อยู่ในตลาดมากว่า 8 ปี และยังเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจ กำลังซื้อ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่จบลงในเร็ววัน แต่ “คลาส คาเฟ่” ยังเดินหน้าสร้างโอกาสเพื่อรองรับการเติบโตต่อเนื่อง

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “มารุต ชุ่มขุนทด” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท คลาส คอฟฟี่ จำกัด เจ้าของร้านกาแฟ “คลาส คาเฟ่” ถึงการปรับตัวเพื่อรับมือและการสร้างโอกาส รวมถึงการก้าวเข้าสู่ตลาดใหม่ “กัญชา” ที่กำลังมาแรงในวันนี้

“มารุต” เริ่มฉายภาพให้ฟังว่า หลังจากรัฐบาลได้เริ่มทยอยฉีดวัคซีนไป ตอนนี้ภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อเริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากวัคซีนทำให้เกิดความเชื่อมั่น ผู้คนเริ่มรู้สึกผ่อนคลายขึ้นและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ สังเกตได้จากยอดขายเครื่องดื่ม ทั้งกาแฟ น้ำผลไม้ ที่เติบโตขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ประกอบกับอยู่ในช่วงฤดูร้อน ที่เป็นหน้าขายเครื่องดื่มเย็น รวมถึงการขายเครื่องดื่มผสมกัญชา กระแสที่กำลังมาแรง ช่วยผลักดันให้ยอดขายเติบโตดีขึ้น

แม้สถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลาย แต่ผู้ประกอบการยังต้องปรับตัวและหาเอ็กซ์พีเรียนซ์ใหม่ ๆ ทั้งการให้บริการ การติดตามเทรนด์ของโลกว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ต้องกลับมาดูว่าหลังจากทุกอย่างฟื้นตัวแล้ว เซอร์วิสดีลิเวอรี่จะยังเป็นหัวใจหลักของช่องทางขายหรือไม่

เช่นเดียวกับ “คลาส คาเฟ่” ที่ขณะนี้กำลังให้ความสำคัญในการสร้างประสบการณ์ใหม่ สำหรับการตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จากนี้ไปจะหันมาให้ความสำคัญกับแฟรนไชส์ ภายใต้แบรนด์ “เขาใหญ่ คาม” (KhaoYai Calm) โดยจะมีโปรดักต์ฮีโร่เป็นส่วนผสมของกัญชา ทั้งอเมริกาโน่กัญชา, มัทฉะ ลาเต้ กัญชา และชา กัญชา

Advertisment

รวมถึงนวัตกรรมเครื่องดื่มบุกรสชาติกัญชา และเมนูอาหารจากผลิตภัณฑ์กัญชา ทั้งแฮมเบอร์เกอร์และเบเกอรี่ ที่มีส่วนผสมจากกัญชา รวมทั้งการเตรียมออกโปรดักต์กัญชาบรรจุขวดออกมาเพิ่ม แต่ทั้งนี้ต้องรอการอนุญาตของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน

ขณะเดียวกันก็จะนำเอาจุดแข็งจากคลาส คาเฟ่ ทั้งในส่วนแอปพลิเคชั่น เทคโนโลยี และการบริหารการจัดการหลังบ้าน มาปรับใช้กับร้านเขาใหญ่ คาม ที่เป็นแฟรนไชส์ ให้มีประสิทธิภาพและสามารถเปิดได้ทุกพื้นที่

Advertisment

“มารุต” ยังให้ข้อมูลและเงื่อนไขแฟรนไชส์ว่า มีค่าแฟรนไชส์เริ่มต้น 2-3 ล้านบาท และบริษัทจะเป็นผู้สนับสนุนระบบการจัดการหลังร้าน อุปกรณ์ วัตถุดิบ การฝึกอบรม และการทำตลาด ทั้งช่องทางขายหน้าร้านและดีลิเวอรี่ สัญญามีระยะเวลา 6 ปี ควบคู่กับการจัดคลาสฝึกอบรมสอนการชงกาแฟ การใช้แพลตฟอร์ม และการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ

เบื้องต้นตอนนี้มีคนติดต่อเข้ามาเยอะพอสมควร โดยเฉพาะคนที่อยากลงทุนทำธุรกิจส่วนตัว คนที่ถูกเลิกจ้างงาน เพราะถ้าพูดถึงเรื่องแฟรนไชส์เครื่องดื่มกัญชา คนตื่นตัวกันมาก แต่หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าจะซื้อแฟรนไชส์ในราคาหลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน ซึ่งราคาประมาณนั้นจะเป็นเฉพาะขายโปรดักต์เท่านั้น

เพราะปกติการลงทุนของคลาส คาเฟ่ 1 ร้าน เป็นช็อปคาเฟ่ ขนาดใหญ่ เป็นอาคารพาณิชย์ 2 คูหา ก็จะใช้งบฯลงทุนประมาณ 2 ล้านบาท ซึ่งร้านแฟรนไชส์ เขาใหญ่ คาม ก็จะเป็นอาคารพาณิชย์ 2 คูหา เหมือนกัน ลงทุนอยู่ที่ประมาณ 2-3 ล้านบาท

“ส่วนเกณฑ์พิจารณาพาร์ตเนอร์ นอกจากเงินลงทุนที่ต้องมี ตามมาคือ ต้องเข้าใจเทคโนโลยี รวมถึงการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ต้องเป็นคนทันสมัย ถัดมาคือ หัวใจการให้บริการ นี่คือสิ่งที่เราคาดหวังจากผู้ที่มาซื้อแฟรนไชส์”

คีย์แมน “คลาส คาเฟ่” ยังระบุด้วยว่า ขณะนี้เตรียมเปิดร้านแฟรนไชส์ สาขาแรก (10 เมษายน) ที่อาร์ซีเอ กรุงเทพฯ ตามด้วยสาขาที่ 2 ที่จังหวัดนครราชสีมา (11 เมษายน) และวางแผนขยายเพิ่มอีก 20 สาขา หลัก ๆ จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในคอนเซ็ปต์เน้นสร้างประสบการณ์ของการให้บริการ สถานที่ผ่อนคลายและนัดคุยงานได้

พร้อมกันนี้ “มารุต” ยังชี้ให้เห็นความแตกต่างของ “คลาส คาเฟ่” และ “เขาใหญ่ คาม” ว่า สำหรับแบรนด์ใหม่นี้จะเด่นในเรื่องของโปรดักต์กัญชา ส่วน “คลาส คาเฟ่” วันนี้เหมือนเป็นบริษัทที่หันมาทำเรื่องนวัตกรรมเป็นหลัก และมีการเปลี่ยนแปลงตลอด

นอกจากนี้ เขาใหญ่ คาม ยังมีข้อได้เปรียบ เนื่องจากคลาส คาเฟ่ มีทีมงาน food science ที่ทำหน้าที่ดูแลการวัดเชิงคุณภาพ ประสิทธิภาพ และแปลงออกมาเป็นฐานข้อมูลทั้งหมด ต้องให้ได้มาตรฐานเดียวกัน เพราะหัวใจหลักการทำธุรกิจคาเฟ่ให้ยั่งยืน ต้องเน้นเรื่องของรสชาติ คุณภาพ วัตถุดิบเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าทุกอย่างตอบโจทย์ ลูกค้าจะกลับมาใช้บริการอยู่เรื่อย ๆ

นอกจากการรุกธุรกิจแฟรนไชส์ดังกล่าวแล้ว ในส่วนของคลาส เคเฟ่ เอง ยังมีแผนขยายสาขาเพิ่มขึ้น โดยจะเน้นการเปิดในมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็จะให้ความสำคัญกับการขายออนไลน์ ด้วยการจัดโปรโมชั่นดึงความสนใจผู้บริโภคผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ

ส่วน “คลาสพุ่มพวง” ที่เป็นหน้าที่ของตัวแทนจำหน่ายในแต่ละอำเภอ ที่เรียกว่า “คลาสเอเย่นต์” ที่มีการนำอาหารและเครื่องดื่มใส่รถ ไปขายและให้บริการในจังหวัด จากนี้ไปจะมีการปรับไลน์โปรดักต์ เช่น จากเดิมที่เน้นขายเครื่องดื่มขวดใหญ่ แต่หลังจากวิกฤตเริ่มคลี่คลายลง ก็จะปรับขนาดมาเป็นขวดเล็ก เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการผู้บริโภค โดยบริษัทรับหน้าที่ซัพพลายสินค้าให้

“ในมุมธุรกิจ การปรับตัวที่ทำมาเมื่อปีที่แล้ว จะเอามาใช้ในปีนี้ไม่ได้ ต้องปรับและสร้างความแตกต่างอยู่ตลอดเวลา หากสังเกตจะเห็นว่า ช่วงมกราคมคนเงียบ ยอดขายไม่ค่อยดี แต่พอคลาส คาเฟ่ เริ่มนำเสนอสิ่งใหม่และเกาะตามเทรนด์กัญชา จากนั้นยอดขายเติบโตเร็วมาก”

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน วันนี้ธุรกิจต้องพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ ถ้าโดนล็อกดาวน์อีกรอบ คงต้องออกมาทำเรื่องเดิม หรือกลับมาทบทวนตัวเองใหม่ เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้