จับตา ประชุมบอร์ดวัคซีนทางเลือก ถกแผนฉีด 10 ล้านโดส

ทีมหาวัคซีนทางเลือกประชุมวันนี้

ทีมจัดหาวัคซีนทางเลือก ที่มี นพ.ปิยะสกล เป็นประธาน ประชุมนัดแรกวันนี้ เดินหน้าปลดล็อกให้โรงพยาบาลเอกชนจัดหาวัคซีน 10 ล้านโดส 

วันที่ 20 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมประชุมกับผู้บริหารจากโรงพยาบาลเอกชน อาทิ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ โรงพยาบาลเมดพาร์ค โรงพยาบาลวิภาราม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และ ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน

พล.อ.ประยุทธ์ ได้แต่งตั้ง ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษาศูนย์ ศบค. เป็นประธานคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พร้อมคณะทำงานรวม 18 คน

โดยทั้ง 18 คนมาจากทีมคณะแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เพื่อทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลเอกชน จัดหาวัคซีนให้ได้อีก 10 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร 40 ล้านคน

โดยคำสั่ง คณะทำงานชุดดังกล่าวฯ มีหน้าที่ในการจัดหาวัคซีนเพื่อใช้ในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน และดำเนินการอื่น ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

คาดว่าวาระการประชุมในครั้งแรกในวันนี้ (20 เม.ย.) จะพิจารณาแผนการกระจาย และฉีดวัคซีนทางเลือกในโรงพยาบาลเอกชน ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

กลุ่มเป้าหมายรับวัคซีน

กลุ่มเป้าหมายในการรับวัคซีน แบ่งออกเป็น 2 ระยะ

ระยะที่ 1 กำหนด 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่

  1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่อยู่ด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน
  2. บุคคลที่มีโรคประจำตัว คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหอบหืดที่ควบคุมได้ไม่ดี เป็นต้น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 ที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างเคมีบำบัด รังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน และโรคอ้วนที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
  3. ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
  4. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย

ระยะที่ 2 ได้แก่

  1. กลุ่มเป้าหมายระยะที่ 1
  2. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่น ๆ นอกหนือจากด่านหน้า
  3. ผู้ประกอบอาชีพภาคการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรม สถานบันเทิง มัคคุเทศก์ นักกีฬา
  4. ผู้ที่เดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักบินลูกเรือ นักธุรกิจระหว่างประเทศ ประชาชนทั่วไป นักการทูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ นักธุรกิจต่างชาติ
  5. คนต่างชาติพำนักระยะยาว
  6. แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ

แผนการจัดหาวัคซีนโควิดปี 2564

ซิโนแวก 2 ล้านโดส

  • ก.พ. 2 แสนโดส
  • มี.ค. 8 แสนโดส
  • เม.ย. 1 ล้านโดส

แอสตร้าเซนเนก้า 26 ล้านโดส (ลอตแรก)

  • มิ.ย. 6 ล้านโดส
  • ก.ค. 10 ล้านโดส
  • ส.ค. 10 ล้านโดส

แอสตร้าเซนเนก้า 35 ล้านโดส (ลอตสอง)

  • ก.ย. 10 ล้านโดส
  • ต.ค. 10 ล้านโดส
  • พ.ย. 10 ล้านโดส
  • ธ.ค. 5 ล้านโดส

จัดหาวัคซีน 10 ล้านโดส สร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่”

สถาบันวัคซีนแห่งชาติรายงานว่า การจะทำให้เกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” จะต้องฉีดวัคซีนให้คนไทยประมาณ 40 ล้านคน แต่วัคซีนที่รัฐจัดหามาขณะนี้มีอยู่ประมาณ 63-70 ล้านโดส ฉีดให้ประชาชนได้ราว 31-35 ล้านคน หมายความว่า จะต้องจัดหาวัคซีนเพิ่มอีก 10 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับอีก 5 ล้านคน

เป็นที่มาของการตั้ง คณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อเดินหน้าจัดหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมอีกทางหนึ่งให้กับโรงพยาบาลเอกชนที่ยังไม่มีวัคซีน ซึ่งจะมีการประชุมนัดแรกในวันนี้ (20 เม.ย.)

รายชื่อคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ร่วมการประชุม

  1. นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานคณะทำงาน
  2. นพ.โสภณ เมฆธน เป็นรองประธาน
  3. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
  4. เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
  5. ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ
  6. อธิบดีกรมควบคุมโรค
  7. อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
  8. ศาสตราจารย์ พิชัย สนแจ้ง
  9. นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์
  10. นพ.ก่อพงศ์ รุกขพันธ์
  11. พญ.เมชินี ไหมแพง
  12. นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี
  13. นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช
  14. นพ.นพพร ชื่นกลิ่น
  15. นพ.บุญ วนาสิน
  16. พญ.เจรียง จันทรโกมล
  17. นายประทีป กีรติเรขา เลขานุการ
  18. ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เลขานุการคณะทำงาน