แก้ล็อกนำเข้า 100 ล้านโดส ดึง รพ.เอกชนเร่งฉีดวัคซีนโควิด

วัคซีน โควิด
REUTERS/Athit Perawongmetha

คณะทำงานจัดหาวัคซีนฯชงนายกฯผ่าทางตัน เพิ่มปริมาณวัคซีนประเทศให้ครบ 100 ล้านโดส จากเดิมที่มีเพียง 65 ล้านโดส เสนอ 2 ทางออก ให้องค์การเภสัชฯเป็นผู้นำเข้าวัคซีนแล้วนำมากระจายต่อ-สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออก Letter of intent อำนวยความสะดวกเอกชน คาดวัคซีนใหม่ถึงไทยภายในไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 ภาคเอกชนผนึกกำลังหนุนเต็มสูบ “บิ๊กตู่” ลั่นไฟเซอร์มาถึงไทย ก.ค.นี้ 10 ล้านโดส

หลังนายกรัฐมนตรีประกาศแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา (คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5/2564)

ล่าสุด คณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนฯได้มีการประชุมนัดแรก โดยมีศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานคณะทำงาน เป็นประธานการประชุม เพื่อเสนอแนวทางและมาตรการต่อนายกรัฐมนตรี ในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 สำหรับใช้ในสถานพยาบาลของรัฐและวัคซีนทางเลือกเพื่อนำมาให้บริการในสถานพยาบาลเอกชน

ทะลวงจุดบอดนำเข้าวัคซีน

แหล่งข่าวจากคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนฯเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมคณะทำงานฯวันนี้ (20 เมษายน) มีมติกำหนดกรอบในเรื่องของวัคซีนโควิด-19 หลัก ๆ เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี คือการเพิ่มจำนวนการนำเข้าวัคซีนอีกประมาณ 35 ล้านโดส เพื่อให้ประเทศไทยมีวัคซีนครบ 100 ล้านโดส (จากเดิมที่มีประมาณ 63-65 ล้านโดส) เพื่อให้การฉีดวัคซีนมีความครอบคลุมมากที่สุด

โดยจะมีวัคซีนจาก 3 แพลตฟอร์ม ประกอบด้วยวัคซีนเชื้อตาย (Inactivated virus), mRNA และ Viral Vector (Adnovirus vector) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกให้เอกชน

“การนำเข้าวัคซีนจะมี 2 ช่องทาง คือการให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้นำเข้าและกระจายต่อไปยังเอกชน และการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกหนังสือ Letter of intent เพื่ออำนวยความสะดวกให้เอกชนเพื่อนำเข้าวัคซีน เบื้องต้นคาดว่าวัคซีนใหม่ตามแผนนี้จะเข้ามาได้ภายในไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4” แหล่งข่าวระบุ

นำเข้าวัคซีน 100 ล้านโดส

นายกลินท์ สารสิน ประธานกิตติศักดิ์หอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อสรุปวันนี้คือภาพรวมการนำเข้าวัคซีนในปีนี้จะต้องมี 100 ล้านโดส ซึ่งสั่งซื้อไปแล้ว 60 ล้านโดส และนำเข้าเพิ่มอีก 30 กว่าล้านโดส แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ราชการจัดหาเอง ประมาณ 20 ล้านโดส และภาคเอกชน ประมาณ 10 ล้านโดส ต้องมีการสรุปตัวเลขอีกครั้ง

แต่วัคซีนจำนวนนี้จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ราชการซอร์สซิ่ง หอการค้ายินดีจ่ายเพื่อฉีดให้พนักงานและครอบครัว และชุมชนรอบโรงงาน ซึ่งทั้งหมดนี้จะดำเนินการโดยเร็วเพื่อให้เป็นไปตามไทม์ไลน์การเปิดบล็อกเชน จ.ภูเก็ต ในเดือนกรกฎาคมนี้ ก่อนที่จะขยายสู่การเปิดประเทศในไตรมาส 4

“การนำเข้าจีทูจีไม่ได้ อย่างไรก็ต้ององค์การเภสัชกรรมนำเข้า แต่จะไม่เอากำไร แค่บวกค่าบริการและ VAT เท่านั้น ส่วนประเด็นการออกจดหมาย Letter of Intent รัฐจะออกให้กับผู้ผลิตทุกรายจะต้องมาออกหมด และทางสมาคมประกันภัยจะเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการรับประกันภัยกรณีที่นำเข้าวัคซีนมาฉีดเพื่อแก้ปัญหาความกังวลเรื่องการฟ้องร้องในภายหลังที่เป็นเหตุให้ทุกคนไม่กล้าฉีด”

เอกชนผนึกกำลังกระทุ้ง

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวภายหลังการประชุมในระบบประชุมทางไกลร่วมกับ 40 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัทชั้นนำของประเทศว่า พร้อมสนับสนุนการทำงานของภาครัฐในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

โดยหนึ่งในแผนงานที่จะต้องดำเนินการร่วมกันกับรัฐบาลก็คือ การจัดหาวัคซีนทางเลือกให้เพียงพอหรือเป็นการหาวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ช่วยให้การฉีดวัคซีนครอบคลุมเป้าหมายจำนวนประชากรร้อยละ 70 ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยภาคเอกชนพร้อมที่จะออกเงินค่าใช้จ่ายสำหรับวัคซีนทางเลือกนี้ ขอแต่ให้มีการอนุญาตหรือเปิดทางให้มีการนำเข้ามาในประเทศได้

“ต้องหารือกับภาครัฐถึงปัญหา-ข้อจำกัดที่ทำให้ภาคเอกชนโดยความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนที่ยังไม่สามรถซื้อหรือนำวัคซีนทางเลือกเข้ามาเอง วัคซีนทางเลือกนี้เราไม่ได้ไปแย่งมาจากวัคซีนหลักของรัฐบาล เรานำเข้ามาเสริมช่วยให้การฉีดวัคซีนกว้างขวางครอบคลุมและรวดเร็วยิ่งขึ้น

โดยจะสอดรับกับคณะทำงาน 4 ชุดที่ตั้งขึ้นมาที่สนับสนุนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยหนึ่งในวิธีการภาคเอกชนจะซื้อวัคซีนทางเลือกเข้ามาได้ก็คือ การออกหนังสือแสดงเจตนาจ้าง Letter of intent ให้ภาคเอกชน” นายสนั่นกล่าว

ขณะที่แหล่งข่าวโรงพยาบาลเอกชนรายหนึ่งแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาแม้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเปิดให้เอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนโควิดได้ แต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากเรื่องขั้นตอนต่าง ๆ และเอกสารที่มีเป็นจำนวนมากแล้ว ที่สำคัญคือ เนื่องจากขณะนี้วัคซีนส่วนใหญ่เป็นการทดลองในเฟส 3 เป็นวัคซีนใหม่ ซึ่งอาจจะมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์หลาย ๆ อย่าง และอาจจะเกิดปัญหาการฟ้องร้องตามมาหลังการฉีด

ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว บริษัทผู้ผลิตวัคซีนจึงต้องการจะดีลเพื่อขายให้เฉพาะกับรัฐบาลเท่านั้น ขณะเดียวกันบริษัทผู้ผลิตทุกรายก็จะให้รัฐยอมรับเงื่อนไข ห้ามไม่ให้ผู้รับวัคซีนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนกรณีเกิดผลข้างเคียงรุนแรง

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ไทยมีวัคซีนมากกว่า 2 ยี่ห้อ (ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) น่าจะเป็นทางออกทางหนึ่งของเรื่องนี้ ด้วยการขยายบทบาทของ อภ.มาเป็นผู้นำเข้าวัคซีนจากค่ายอื่น ๆ เพื่อมากระจายต่อให้กับโรงพยาบาลเอกชน และคิดค่าบริหารจัดการตามความเหมาะสม ซึ่งบริษัทเอกชนต่าง ๆ ก็พร้อมที่จะลงทุนเพื่อนำไปฉีดให้กับพนักงานของตัวเอง

ลุ้นไฟเซอร์ 10 ล้านโดส ก.ค.นี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงเรื่องวัคซีนโควิด-19 ว่า จากกระแสโซเชียลมีเดียที่โจมตีรัฐบาล อยากให้เอกชนนำเข้าวัคซีน ตนก็ตอบสนองแล้ว โดยได้ให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาดำเนินการมาตลอด แต่อยากให้เกิดความชัดเจน จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน

ซึ่งได้หารือกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนและผู้รู้ทั้งหลายเพื่อให้ข้อมูลตรงนี้ ว่าจะดำเนินการให้ได้วัคซีนทางเลือกเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร พร้อมกันนี้ก็ได้เร่งรัดให้มีการฉีดวัคซีนเร็วที่สุด และรัฐบาลได้เตรียมวัคซีนสำรองในระยะต่อไปเพื่อให้ทั่วถึงและเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้

“ขณะนี้สถาบันวัคซีนได้หารือกับบริษัทไฟเซอร์และมีความเป็นไปได้ว่าจะจัดส่งในช่วงเดือนกรกฎาคม 5-10 ล้านโดส ขณะนี้อยู่ระหว่างรอใบเสนอราคาและเงื่อนไขอยู่ และมีวัคซีนอีกหลายยี่ห้อ ไม่อยากพูดล่วงหน้า เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการติดต่อ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ” พล.อ.ประยุทธ์ย้ำ

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีมีผู้แทนจากบริษัทไฟเซอร์มาหารือว่า เราหารือกับทุกเจ้า ไฟเซอร์ก็เป็นการหารือถึงเรื่องของการจัดหาวัคซีนโควิด ว่าจะสามารถร่นเวลาการส่งให้เร็วกว่าที่เคยเจรจากันได้หรือไม่ ซึ่งวันนี้ไม่มีเจ้าไหนที่สามารถส่งให้ได้ใน พ.ค.นี้ มีเพียงซิโนแวคเท่านั้น

แต่ก็ยังเจรจากันต่อ ถ้าเขามีวัคซีนมาและเงื่อนไขอยู่ในสิ่งที่เรารับได้ ก็พร้อมที่จะซื้อ เพราะหลายคนก็บอกว่าเราควรมีวัคซีนทางเลือก วัคซีนสำรอง จึงเจรจาอยู่


ส่วนวัคซีนหลักตอนนี้ยังเป็นแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในไทยนั้น ตอนนี้เป็นไปตามกำหนดการที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจัดซื้อจัดหา จากรายงานจากผู้ที่เกี่ยวข้องที่ติดตามสายการผลิตของแอสตร้าฯทุกสายยังยืนยันว่าคุณภาพผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดทุกประการ