คนไข้โควิดตัวเลขพุ่งกระฉูด รพ.แห่เพิ่มเตียง “ฮอสพิเทล”

FILE PHOTO : valelopardo / Pixabay

รพ.เอกชนดาหน้าจับมือโรงแรม เปิดฮอสพิเทล-เร่งขยายเตียงรับผู้ป่วยโควิดยอดพุ่ง รพ.ธนบุรี ทะลุ 2 พันเตียง ไอซียูขาดแคลน บางกอก เชนฯเปิดเพิ่ม “ฉะเชิงเทรา-สระบุรี” รับแรงงานติดเชื้อ “ปิยะเวท” เตียงเดิมใกล้เต็มจ่อเปิดเพิ่ม ตั้งเป้าทะลุ 1,000 เตียง เครือพริ้นซ์ร่วมวง เจาะกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ที่ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว และมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้โรงพยาบาล (รพ.) หลายแห่งเริ่มมีเตียงไม่เพียงพอในการรองรับผู้ติดเชื้อ

ทำให้ทั้ง รพ.รัฐและเอกชนต้องทยอยเพิ่มจำนวนเตียง รวมถึงการจัดหาโรงแรมที่ไม่มีผู้พักอาศัยมาทำเป็น รพ.ชั่วคราว หรือฮอสพิเทล (hospitel) สำหรับดูแลผู้ป่วยโควิด กลุ่มที่ไม่มีอาการและกลุ่มที่รักษาในโรงพยาบาล 4-5 วัน แล้วอาการปกติจะต้องย้ายมาอยู่ที่ฮอสพิเทล

ที่ผ่านมามี รพ.เอกชนกว่า 33 แห่ง ได้ทยอยขยายเตียง โดยขอทำฮอสพิเทลเพิ่มจำนวนเตียง 6,871 เตียง จากที่ผ่านมามีประมาณ 3,900 เตียง

รพ.เอกชนเพิ่มเตียงฮอสพิเทล

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่พบจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้ได้ติดต่อรัฐบาลเพื่อหารือเกี่ยวกับการนำโรงแรมมาใช้รักษาผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ ปอดบวมระยะแรก แทน รพ. เพื่อลดความแออัด ด้วยการถ่ายคนไข้ออกจาก รพ. เพื่อให้มีเตียงว่างสำหรับรองรับกลุ่มอาการหนัก

โดยรูปแบบจะเป็นการเช่าทั้งโรงแรมเพื่อเปลี่ยนเป็น รพ.ขนาดย่อม แตกต่างจากโมเดลเดิมที่ฮอสพิเทลรับเฉพาะกลุ่มสีเขียว หรือกลุ่มไม่มีอาการ

ปัจจุบันเครือ รพ.ธนบุรี จับมือกับโรงแรม 4 แห่งในกรุงเทพฯและนนทบุรี เพื่อให้บริการฮอสพิเทล ได้แก่ ไอบิส กรุงเทพฯ อิมแพ็ค 500 เตียง, ไอบิส กรุงเทพฯ สุขุมวิท 4 จำนวน 300 เตียง, พูลแมน กรุงเทพฯ แกรนด์ สุขุมวิท (อโศก) 300 เตียง และเดอะเดวิสแบงค็อก 300 เตียง

ทำให้ธนบุรีมีเตียงรองรับผู้ป่วยทั้งใน รพ.และฮอสพิเทล รวม 2,000 เตียง หลังจากเปิดให้บริการฮอสพิเทลมาได้สัปดาห์เศษ ๆ มีผู้ป่วยโควิดเข้ารับการรักษามากกว่า 1,000 เตียง

“สิ่งที่น่ากังวลในตอนนี้ก็คือ หากควบคุมการระบาดไม่อยู่ อาจจะทำให้อัตราผู้ป่วยโควิดสูงเกิน 2,000 คน/วัน จะทำให้มีผู้ป่วยเข้าไอซียูถึงวันละ 20 คน และใน 1 คนอาจกินเวลารักษาเป็นเดือนส่งผลให้ห้องไอซียูขาดแคลน”

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เปิดเผยว่า จากจำนวนผู้ป่วยโควิดที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ล่าสุด มีแผนจะทยอยเพิ่มจำนวนเตียงของฮอสพิเทลเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและสระบุรี เป็นต้น เพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นแรงงานในจังหวัดนั้น ๆ ที่ป่วยเป็นโควิด

ซึ่งที่ผ่านมาบางกอก เชนฯมีจำนวนเตียงสำหรับการกักตัวผู้ป่วยจากทุกโมเดล (ASQ/AHQ) รวมทั้งฮอสพิเทล รวมประมาณ 3,000 เตียง

ขณะที่นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลปิยะเวท จำกัด (มหาชน) กล่าวในเรื่องนี้ว่า มีแผนจะขยายจำนวนเตียงในกรณีของฮอสพิเทลเพิ่มอีก 3-4 แห่ง ให้ครบ 1,000 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดที่ตัวเลขมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากเดิมที่จับมือกับโรงแรมรัตนโกสินทร์ 150 เตียง และอินทรา รีเจนท์ 455 เตียง

ดึงทีมแพทย์ต่างจังหวัดช่วย

นายธานี มณีนุตร์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ในฐานะผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ รพ.พริ้นซ์ได้ติดต่อโรงแรมและอพาร์ตเมนต์ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลจำนวนหนึ่ง รวมถึงการนำอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทจำนวนหนึ่งมาทำเป็นฮอสพิเทล สำหรับการรองรับผู้ป่วยโควิดในพื้นที่กรุงเทพฯและสมุทรปราการ

เบื้องต้นภายในเดือนเมษายนนี้จะมีฮอสพิเทลอยู่ราว 200 ห้อง แบ่งเป็นห้องเดี่ยวเตียงเดียว และห้องเตียงคู่ รองรับผู้ป่วยโควิดครอบครัวเดียวกัน

ขณะนี้ผ่านการตรวจสอบจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แล้ว เหลือเพียงการเซ็นรับรองและยินยอมจากชุมชนโดยรอบเท่านั้น

นอกจากนี้เพื่อรองรับสถานการณ์การขาดแคลนแพทย์-พยาบาล ที่อาจรุนแรงขึ้น ยังได้เตรียมแผนการรับบุคลากรทางการแพทย์เพิ่ม รวมทั้งการดึงแพทย์จาก รพ.ในเครือพริ้นซ์ 12 แห่ง ใน 10 จังหวัดเข้าช่วย

รวมถึงการผนึกกำลังกับโรงพยาบาลเอกชนเครือข่ายในต่างจังหวัด เพื่อดึงบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาช่วย เบื้องต้นขณะนี้มีทีมแพทย์ พยาบาล จำนวน 15 คน จาก รพ.นายแพทย์หาญ จังหวัดยโสธร เข้าปฏิบัติงานที่ รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ เพื่อร่วมดูแลผู้ป่วยโควิด

ว่างอีกกว่า 4,000 เตียง

รายงานข่าวจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ได้จัดระบบทางด่วนให้ รพ.เอกชนขออนุมัติขยายเตียงได้คล่องตัวขึ้น ทำให้เพิ่มเตียงได้มาก และจัดหาโรงแรมมาเป็นฮอสพิเทล ที่ผ่านมาได้มีการรับรองไปแล้ว 33-34 แห่ง รวมกว่า 7,200 เตียง มีผู้ป่วยพักแล้วมากกว่า 3 พันราย

โดยทุกฮอสพิเทลจะต้องมีแพทย์ประจำดูแลทุกเตียง รวมทั้งมีพยาบาลดูแล อัตราส่วนที่ 20 เตียงต่อ 1 พยาบาล พร้อมเครื่องมือสำคัญ เช่น ปรอทวัดอุณหภูมิดิจิทัลเครื่องวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด เป็นต้น

ส่วนการย้ายผู้ป่วยเข้ามาจะต้องถูกคัดกรองโดย รพ.หลักก่อน โดยจะเป็นผู้ป่วยที่มีความปลอดภัยสูงเท่านั้น เช่น อายุไม่เกิน 50 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่ใช่คนท้อง หรือมีผลบวก ไม่มีการเอกซเรย์ที่เปลี่ยนแปลง ก็จะสามารถย้ายมาฮอสพิเทลได้ ระหว่างรักษาหากมีอาการแย่จะถูกนำส่งไปยัง รพ.พี่เลี้ยงของฮอสพิเทลนั้น ๆ

ส่วนของค่าใช้จ่ายในการเข้ารักษาที่ฮอสพิเทล หากมีประกันสุขภาพส่วนบุคคลสามารถเบิกได้ แต่ถ้าไม่มีจะได้รับสิทธิตามสิทธิในการรักษาพยาบาลของภาครัฐ

ก่อนหน้านี้ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ที่กล่าวในเรื่องนี้ว่า เพื่อรองรับมาตรการของรัฐบาลที่มีการจัดตั้ง รพ.สนามและฮอสพิเทลในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจเกิดการตีความว่า ผู้ป่วยโควิดที่ทำประกันภัยไว้ และเข้ารับการรักษาในสถานที่เหล่านั้น จะเคลมประกันได้หรือไม่ ที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ.ได้ประชุมหารือกับสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย และได้ข้อสรุปว่าให้สามารถเคลมประกันได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา รพ.เอกชนหลาย ๆ แห่งได้จับมือกับโรงแรมที่เป็นพันธมิตร เปิดให้บริการฮอสพิเทล เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 อาทิ บำรุงราษฎร์ จับมือกับอนันตรา กรุงเทพฯ ริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท (170 เตียง) บางปะกอก 9 จับมือกับเดอะกรีนวิว (400 เตียง) เมดพาร์ค จับมือกับเวิร์ฟ โฮเต็ล (324 เตียง) และแกรนด์ ริเวอร์อินน์ สาทร (108 เตียง), ปิยะเวท ร่วมกับรัตนโกสินทร์ (150 เตียง) และอินทรา รีเจนท์ (455 เตียง) เป็นต้น

ล่าสุด จังหวัดเชียงใหม่มีการอนุญาตให้จัดตั้งฮอสพิเทล พร้อมเปิดดำเนินการ 3 แห่ง คือ รพ.แมคคอร์มิค ร่วมกับมหาวิทยาลัยพายัพ จัดตั้ง PIH Hospitel ที่บ้านพักนานาชาติภราดรภาพ ขนาด 250 เตียง, รพ.เทพปัญญา ร่วมกับโรงแรมอโมรา ท่าแพ 120 เตียง และ รพ.ราชเวช ร่วมกับเชียงใหม่ ริเวอร์ไซด์ 30 เตียง