เตียงผู้ป่วยวิกฤต นอนรอ 1,423 ราย จ่อเปิด “ไอซียูสนาม” 

เตียงผู้ป่วย
FILE PHOTO : TANG CHHIN Sothy / AFP

ศบค. เผย “เตียงไอซียู” ทั่วประเทศวิกฤต เหลือแค่ 1,000 กว่าเตียง รองรับได้ 3 สัปดาห์ วันนี้มีคนรอเตียง 1,423 ราย ชี้หากสถานการณ์แย่สุด รองรับได้แค่ 1 สัปดาห์  กทม.หนักสุด หากผู้ติดเชื้อพุ่ง 1,500 คนต่อวัน ต้อง “เบ่งเตียง” หรือขยายเตียงเพิ่ม หรืออาจต้องมี “ไอซียูสนาม”

วันที่ 23 เมษายน 2564 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) กล่าวว่าวันนี้ คณะกรรมการ EOC ของกระทรวงสาธารณสุขมีการประชุมและรับทราบถึงสถานการณ์ปัญหาต่างๆ โดยมีและมีพยากรณ์เรื่องของเตียงจะมีการใช้เตียงอย่างไร ซึ่งมีความห่วงใยเรื่องเตียงไอซียู

โดยพื้นที่ กทม.มี 262 เตียง โดยแบ่งเตียงหรือขยายเตียงหรือเจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่ ทั้งโรงเรียนแพทย์ รพ.สังกัด กทม. สธ. มีการใช้เตียงทั้งหมด ตอนนี้เตียงที่เป็นไอซียูว่างอยู่ 69 เตียง ส่วนห้องแยกความดันลบ (AIIR) มีเตียง 479 เตียง ใช้ไป 410 เตียง ว่างอยู่ 69 เตียง ซึ่งเป็นความห่วงใยของที่ประชุม โดยได้ให้มีการคิดไปข้างหน้า หากมีอัตราการติดเชื้อ ทรัพยากรเตียงจะถูกใช้ไปหรือหมดไปอย่างไร

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวว่า มีการพยากรณ์ว่า ถ้าหากมีผู้ติดเชื้อ 1,500 รายต่อวัน จะเกิดการการใช้เตียงจำนวนมาก ทั้งประเทศคงเหลือประมาณ 1,000 เตียง จะใช้ประมาณ 52 เตียงต่อวัน รองรับได้อีกประมาณ 19 วันหรือเกือบ 3 สัปดาห์ ของทั้งประเทศ ส่วนกทม.ใช้ 10-13 เตียงต่อวัน จะใช้ได้ประมาณ 6-8 วันข้างหน้า เป็นมาตรการที่ สธ.จะรับไปบริหารจัดการใน กทม.

“ถือเป็นภาวะเร่งด่วนของกทม. ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไม่นิ่งนอนใจ พยายามบูรณาการเตียง ทรัพยากรของคน ไม่ใช่แค่เตียงจะรักษาผู้ป่วยได้ จำนวนของบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทั้งหลายก็ต้องทำงานหนักอย่างมาก ดดยเฉพาะผู้ที่ทำงานหน้างาน กระทรวงสาธารณสุขจะดูแลเต็มที่ กลุ่มนี้ก็ต้องได้รับวัคซีนดูแล ซึ่งการฉีดล็อตนี้จะให้เจ้าหน้าที่หน้างานได้ก่อน การันตีอย่างนั้น ” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

ต่อข้อสอบถามหลังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจนทะลุ 2 พันคน จะกระทบกับระบบสาธารณสุขหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยา บุคลากรทางการแพทย์ รมถึงเรื่องเตียงที่จะรองรับผู้ป่วยได้มากน้อยแค่ไหน แล้วศบค.จะต้องมีแผนในการรองรับสถานการณือย่างนี้อย่างไร

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า มีผลกระทบแน่นอน เพราะเรายังไม่รู้จุดปลายทางจะเป็นอะไรอย่างไร ที่เราประเมินในสถานการณ์ worst case  อย่างที่บอกว่า ตอนนี้ถ้ามีเตียงไอซียูในระยะ 1 สัปดาห์ก็ถือว่าไม่เพียงพอ ต้องมีเพิ่มมากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกทม.เหลือเวลาที่สั้นมาก ทางปลัด สธ.ได้พูดคุยกับทุกภาคส่วน ในการดำเนินการ 3 แนวทาง คือ

1.แบ่งเตียง เพิ่มจำนวนในสถานที่เดิม คนไข้กลุ่มนี้ต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสม การดูดอากาศปรับอากาศที่เหมาะสม

2.อาจจะต้องเกิดลักษณะโคฮอทไอซียู (Cohort COVID-ICU) ใช้พื้นที่ไอซียูที่กว้างขึ้น วอร์ดอื่นที่ปรับขึ้นมา เอาคนไข้กลุ่มเดียวกันเข้าไปอยู่ด้วยกัน เพื่อขยายเตียงเต็มที่

3.อาจต้องมี ไอซียูสนาม มีการพูดคุยกันอยู่ มีความยุ่งยาก ต้องปรับพื้นที่ โดย รพ.ราชวิถี ซึ่งเป็นรพ.หลักของกระทรวงสาธารณสุข จะต้องขยายเตียงตรงนี้เพิ่มขึ้นมาก่อน เพื่อรองรับตรงนี้ ซึ่งผู้ป่วยหนักที่เข้ามารับการรักษาจะดูแลเต็มที่

นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวว่า ในนามศบค.ต้องขออภัยทุกสาย ที่รอในการโทรเข้ามาในเบอร์ 1668 1669 1330 ตอนนี้สายเข้ามาจำนวนมาก มีระบบแชทบอตขึ้นมา ก็ยังไม่เพียงพอ ณ วันนี้มีการขอให้มีการปรับระบบ โดยผู้ที่โทร.เข้ามา ขอให้เป็นรายที่ป่วยจริงๆ ที่มีผลยืนยันการติดเชื้อโควิด โทรไปแล้วไม่ว่าเบอร์ใดเบอร์หนึ่ง ให้ท่านฝากเบอร์โทรข้อมูลสำคัญ และชุดการตรวจไว้ และจะจัดชุดคู่สายขึ้นมาอีก 1 ทีม 50 เบอร์

และจะมีเจ้าหน้าที่โทรกลับไปเพื่อรับทราบ แบ่งแยกกลุ่ม เขียว เหลือง แดง “ตอนนี้มีผู้ป่วยรอเตียง ตัวเลขจากกรมการแพทย์ มีคนรออยู่ 1,423 ราย วันนี้เพิ่มขึ้น 264 คน ในรอบ 24 ชั่วโมง เมื่อวานมีการรับการรักษาไปแล้ว 474 คน”

“ทั้งนี้ กลุ่มสีเขียว ก้อนใหญ่ 80% มีอาการไม่หนัก จะต้องหาที่อยู่ก่อน เพราะเดินทางไปได้ด้วยตัวเอง มีโอกาสมีที่อยู่ ไม่เป็นผู้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ส่วนปัญหาหนักที่เป็นมากขึ้นคือสีเหลือง แดง ขอความกรุณาอดทนสักนิด เราพยายามอย่างเต็มที่ เราพยายามแบ่งเตียง พยายามอย่างสุดสามารถ ขอเรียนย้ำว่าทั้ง 1,423 คนในระบบตอนนี้ถ้าโทรเข้ามาจะได้รับการติดต่อกลับไป” นพ.ทวีศิลป์กล่าวในตอนท้าย