“โคคาสุกี้” เสิร์ฟเมนูกัญชา งัดดีลิเวอรี่แก้พิษโควิด-19

“โคคา” โดดลุยสุกี้กัญชา ขนเมนูยอดฮิตกว่า 10 เมนู เอาใจสายเขียว ราคาเริ่มต้น 88 บาท เปิดให้ชิมแล้วตั้งแต่ปลายเมษายนที่ผ่านมา เผยโควิด-19 รอบล่าสุดทำให้ต้องปรับแผน หันมาเน้นขายฝ่ายดีลิเวอรี่-ซื้อกลับบ้าน หลัง ศบค.ประกาศมาตรการห้ามนั่งทานในร้าน

นางสาวนัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โคคา โฮลดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เจ้าของร้านอาหารโคคาสุกี้ และแม็งโก้ทรี เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปมาก และเป็นความท้าทายของธุรกิจร้านอาหารที่ปกติก็มีการแข่งขันสูง โดยทุกค่ายได้มีการปรับตัวและหันมาให้ความสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่แปลกใหม่ ราคาเข้าถึงง่าย

รวมถึงโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดผู้บริโภค ล่าสุดเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ผู้บริโภค บริษัทได้ซื้อและนำใบกัญชาของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรไทยโนนมาลัย จ.บุรีรัมย์ (แหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตจาก อย.) มาเป็นส่วนผสมของเมนูอาหารมากกว่า 10 เมนู อาทิ เปาะเปี๊ยะเป็ดปักกิ่ง, บะหมี่เส้นสดกัญเอง, น้ำซุปสุกี้เตี๋ยวเรือ, น้ำซุปสุกี้หมาล่าเขียว เป็นต้น ราคาเริ่มต้น 88-178 บาท โดยเริ่มจำหน่ายที่โคคาสุกี้ สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ และสาขาสุรวงศ์ ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา

แต่หลังจากที่เปิดขายเมนูกัญชาได้ 2 วัน ศบค.ได้ประกาศ สั่งห้ามทานในร้าน เพื่อลดการแพร่ระบาด จึงต้องปรับแผนการจำหน่ายเมนูกัญชาใหม่ ด้วยการนำเมนูดังกล่าว อาทิ ชุดหมูอารมณ์ดี และเซตโก๋ใหญ่ยักษ์ เบิ้ลคู่ 2 ตัว มาขายผ่านช่องทางดีลิเวอรี่ และช่องทางการซื้อกลับบ้านแทน

“สำหรับการจำหน่ายเมนูอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา บริษัทค่อนข้างเข้มงวดและต้องทำตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ต้องไม่เป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี ไม่เป็นผู้หญิงตั้งครรภ์และผู้หญิงให้นมบุตร ไม่เป็นคนที่มีปัญหาตับไตบกพร่อง ไม่เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น”

นางสาวนัฐธารียังกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกล่าสุดว่า กระทบต่อธุรกิจร้านอาหารอย่างหนัก เพราะวันนี้ทราฟฟิกในศูนย์หายไปกว่า 80% บรรดาแบรนด์ร้านอาหารต่าง ๆ เริ่มบริหารจัดการต้นทุน และปรับลดเวลาทำงานของพนักงาน พร้อมกับการหันมาพึ่งพารายได้จากช่องทางดีลิเวอรี่ ตลอดจนการขอร้องไปยังภาครัฐให้ช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

และสิ่งที่ยังน่าเป็นห่วงคือ ปัจจัยของภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อ สำหรับโคคาฯเองแม้จะเป็นร้านอาหารพรีเมี่ยม แต่ถ้าไม่จัดโปรโมชั่นลดราคาเลย ก็จะไม่มีลูกค้า ขณะเดียวกันก็ต้องมอนิเตอร์ข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงโปรโมชั่นที่เคยมาว่าอะไรที่เวิร์กหรือไม่อย่างไร อะไรที่ได้ผลตอบรับดีก็ทำต่อ แต่สิ่งที่ไม่ทำ คือ การเปลี่ยนวัตถุดิบ ที่ยังต้องเน้นในเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญ และมีมาตรฐานเท่ากันทุกสาขา เพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่าและเพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่

ตอนนี้ โคคาสุกี้ ทั้ง 7 สาขา และส่วนใหญ่อยู่ในศูนย์การค้ายังเปิดให้บริการทุกสาขา ขณะเดียวกันก็ได้ปรับโมเดลการขายมาเน้นให้ซื้อกลับบ้านและดีลิเวอรี่ ผ่านแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ต่าง ๆ ควบคู่กับการนำโปรดักต์เมนูติ่มซำ สุกี้หลายรายการ ออกมาจัดโปรโมชั่น ซึ่งอาจจะไม่ลดแลกแจกแถม ซื้อ 1 แถม 1 เหมือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางการดำเนินงานจากนี้ไป บริษัทยังคงให้ความสำคัญทั้ง 3 แบรนด์ ทั้งโคคาสุกี้ แม็งโก้ทรี และข้าวหม้อใหม่ by โคคา ระยะสั้นต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของมาตรการรัฐที่ห้ามนั่งทานในร้าน ต้องหันมาเพิ่มน้ำหนักช่องทางขายดีลิเวอรี่ผ่านแพลตฟอร์ม Line@ โคคาสุกี้ โดยมีทีมพนักงานโคคาแมนกว่า 15 คน เป็นผู้จัดส่งในเขตกรุงเทพฯ และต้องมอนิเตอร์ยอดขายวันต่อวัน กลยุทธ์ตอนนี้ไม่มีการวางแผนระยะยาว ต้องติดตามสถานการณ์ของข่าวรายวัน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ

ส่วนร้านอาหารโคคาสุกี้ โมเดลแฟรนไชส์ ต้องปรับตัวมาพึ่งพารายได้จากช่องทางดีลิเวอรี่ ซึ่งตอนนี้แฟรนไชส์ยังมีไม่มาก จากก่อนหน้านี้ได้เปิดตัวร้านแฟรนไชส์โคคาสุกี้ สาขาแรกที่ย่านกรุงเทพกรีฑา ในลักษณะของห้องแถว ชูคอนเซ็ปต์โคคาสุกี้ pop up มีพื้นที่รองรับ 30 ที่นั่ง จำหน่ายเมนูอาหารจานเดี่ยวมากกว่า 30 รายการ รวมถึงเมนูสุกี้ที่เป็นเมนูที่สร้างชื่อเสียงให้กับโคคาฯ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องดำเนินต่อไป คือการเตรียมระบบสำหรับการขยายแฟรนไชส์ ซึ่งอยู่ระหว่างการวางระบบโอเปอเรชั่น การซัพพอร์ตแฟรนไชส์ต่าง ๆ

“ช่วงนี้ค่อนข้างลำบากกัน ทุก ๆ ธุรกิจได้รับผลกระทบกันอย่างหนัก สิ่งที่ภาครัฐควรทำอย่างเร่งด่วนคือจัดการวัคซีนทางเลือก และเร่งฉีดอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อให้สถานการณ์กลับมาคลี่คลายเร็วที่สุด” นางสาวนัฐธารีกล่าว