ห้างชิงออกตัว ไม่ใช่ คลัสเตอร์ห้างย่านลาดพร้าว ล่าสุด ศบค. เฉลยแล้ว

ห้างชิงออกตัวไม่ใช่คลัสเตอร์ห้างลาดพร้าว

การไม่ระบุชื่อ ห้างย่านลาดพร้าว ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ใหม่ในกรุงเทพฯ ส่งผลให้ห้างอื่น ๆ ที่หวั่นเกิดผลกระทบ ต้องรีบออกมาชี้แจง  

วันที่ 3 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ประจำวัน เมื่อวานนี้ (2 มิ.ย.) โดยระบุว่า ในกรุงเทพมหานคร มีคลัสเตอร์เฝ้าระวัง 48 คลัสเตอร์ หนึ่งในนั้นเป็นคลัสเตอร์ใหม่ คือ ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเขตลาดพร้าว ซึ่งพบผู้ติดเชื้อในห้างดังกล่าว 23 ราย

ในเวลาต่อมา ห้างและศูนย์การค้าหลายแห่งต้องรีบออกแถลงการณ์ปฏิเสธว่าไม่ใช่คลัสเตอร์ห้างลาดพร้าว เริ่มที่ “ศูนย์การค้ายูเนี่ยน มอลล์” ที่ออกตัวแรงเอี๊ยดว่า ห้างดังย่านลาดพร้าวที่ ศบค. แจ้งนั้น อยู่ในเขตลาดพร้าว แต่ศูนย์การค้ายูเนี่ยน มอลล์ อยู่เขตจตุจักร ไม่ใช่เขตลาดพร้าว

ทั้งยังบอกด้วยว่า ยูเนี่ยน มอลล์ เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 28 พ.ค. หลังจากพักให้บริการ 15 วัน และได้ดำเนินการด้านความปลอดภัยและความสะอาดตามมาตรการของภาครัฐอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด ปิดท้ายว่า ขอบพระคุณทุกท่านล่วงหน้าที่จะอ่านและแชร์ข่าวอย่างมีวิจารณญาณ

ที่ถูกจับตาคือ “เซ็นทรัล ลาดพร้าว” และ “เซ็นทรัล เฟสติวัล อีสต์วิลล์” ซึ่งได้ออกมาชี้แจงว่าไม่ใช่คลัสเตอร์ห้างลาดพร้าวเช่นกัน พร้อมประกาศว่ายังคงยึดมั่นในการดำเนินตามมาตรการเชิงรุก “เซ็นทรัล สะอาด มั่นใจ” ด้วยการทำ Big cleaning ทุกจุด ทุกวัน เป็นประจำ หลังศูนย์ปิด

“ศูนย์การค้าอิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าว” เป็นอีกแห่งที่รีบออกตัว โดยชี้แจงว่าได้ดำเนินตามมาตรการป้องกันด้านสุขอนามัยอย่างต่อเนื่อง โดยทำความสะอาด ทุกจุดสัมผัส เป็นประจำทุกวัน

ปิดท้ายที่ “เทสโก้ โลตัส” ที่ยืนยันชัดเจนว่า คลัสเตอร์ห้างย่านลาดพร้าว ไม่เกี่ยวข้องกับ โลตัส สาขาลาดพร้าว และโลตัส สาขาเลียบด่วน รามอินทรา รวมถึงย้ำเรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เข้มงวด ทุกสาขาทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า โควิด-19 ระลอกล่าสุดที่แพร่ระบาดรุนแรง ยอดผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมาก ทำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาตรการคุมเข้ม ตามระดับความเสี่ยงและความรุนแรงของโควิด-19 แต่ละพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจในภาพรวมและกำลังซื้อผู้บริโภค ภาคธุรกิจ การค้า ภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบจึงต้องปรับตัว รีวิวแผนธุรกิจและการลงทุนรองรับความไม่แน่นอน

ก่อนหน้านี้ นายสุทธิชัย จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็น ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และผู้บริหารศูนย์การค้ารายใหญ่ เผยว่า โควิดระลอก 3 ส่งผลกระทบรุนแรง ทำให้ทราฟฟิกลดลง 70% สัดส่วนลูกค้าเหลือ 30-40% ซึ่งซีพีเอ็นได้วางแผนและปรับตัวรองรับด้วยการขยายช่องทางการบริการที่หลากหลาย

ขณะที่ นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือซีอาร์ซี ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ กล่าวในเรื่องนี้ว่า บริษัทได้ปรับแผนธุรกิจเพื่อรับมือการระบาดระลอก 3 ที่หนักกว่าครั้งก่อน ๆ นอกจากนี้ยังปรับลดเป้าการเติบโตของรายได้ปี 2564 จาก 10% เหลือ 8%

“อีกแนวทางหนึ่งคือยกระดับด้านความปลอดภัยทั้งภายในและภายนอก อาทิ การรักษาความสะอาด การคัดกรองผู้ใช้บริการ-พนักงาน นำมาตรการเวิร์กฟรอมโฮมมาใช้มากขึ้น เป็นต้น พร้อมจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”

ทราฟฟิกที่ลดลง นอกจากจะทำให้ห้าง-ศูนย์การค้า ต้องปรับแผนรับมือชุลมุน การเจอผู้ติดเชื้อในพื้นที่จนเกิดเป็นคลัสเตอร์ นำมาสู่การปิดให้บริการ ยังถือเป็นความเสียหายรุนแรงที่ทีมบริหารไม่อยากให้เกิดขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ห้างอื่น ๆ จะรีบออกตัวว่าไม่ใช่คลัสเตอร์ดังกล่าว

ล่าสุด ศบค. ระบุชื่อกลุ่มเฝ้าระวังสูงสุดในเขตบางกะปิ หนึ่งในนั้นคือ แมคโคร ลาดพร้าว ส่วนที่เขตลาดพร้าว หนึ่งในนั้นคือ โฮมโปร เอกมัยรามอินทรา