7-11 เล็งขยายจุดชาร์จรถอีวี ต่อสัญญาสาขาในปั๊ม ปตท.

โควิดกระทบกำลังซื้อ ค้าปลีกซึมยาว “เซเว่นฯ” เร่งปรับเพิ่มกลยุทธ์สู้ เข็นโปรโมชั่น แคมเปญพิเศษ เพิ่มสินค้า ชูดึง O2O-ดีลิเวอรี่ ปลุกจับจ่าย พร้อมย้ำแผนลงทุน 12,000 ล้าน ปูพรม 700 สาขา ต่อสัญญาสาขาในปั๊ม ปตท.-โออาร์ อีก 10 ปี ยาวถึงปี 2576 เตรียมติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้าเพิ่ม จากเปิดไปแล้ว 24 สาขา

นายเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบในการทำงานส่วนบางส่วน ทำให้ต้องมีการบริหารจัดการและปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบดังกล่าว เพื่อให้บริการและอำนายความสะดวกแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพื่อรักษารายได้ของบริษัทให้อยู่ระดับที่เหมาะสม ด้วยการปรับกลยุทธ์ใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

โดยในไตรมาส 1/64 ที่ผ่านมา ผลประกอบการของบริษัทมีรายได้ 76,212 ล้านบาท ลดลง 13% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีรายได้ 88,052 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 947 ล้านบาท ลดลง 75% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีกำไรสุทธิ 3,845 ล้านบาท

ที่ผ่านมาร้านเซเว่นอีเลฟเว่นได้มีการดำเนินกลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวโปรโมชั่น แคมเปญพิเศษอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเพิ่มสินค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งในกลุ่มของใช้ อาหารพร้อมทาน และอาหารพร้อมปรุง ควบคู่กับการเพิ่มบริการดีลิเวอรี่ รวมถึงการนำกลยุทธ์ O2O ที่เข้ามาใช้ในการสร้างการขายรองรับการระบาดระลอก 3

ขณะที่แผนการลงทุนจากนี้ไป บริษัทจะยังคงเดินหน้าตามแผนงานเดิมที่วางไว้ภายใต้กรอบลงทุนราว 11,500-12,000 ล้านบาท ทั้งการเปิดร้านใหม่ประมาณ 700 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด การปรับปรุงร้านเดิน การปรับปรุงระบบ และศูนย์กระจายสินค้า โดยไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เปิดไปแล้ว 155 สาขา ลดลงจากช่วงปกติเล็กน้อย เนื่องจากต้องมีการคัดเลือกโลเกชั่น

“ไตรมาส 1 ได้รับผลกระทบโควิดระลอก 2 ที่มีความรุนแรงมากกว่ารอบแรก บวกกับมาตรการของรัฐที่เข้ามาควบคุมในบางพื้นที่ ทำให้ยอดขายเดือนมกราคมได้รับผลกระทบลากยาวมาตั้งแต่ธันวาคม 2563 ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อสาขาต่อวันอยู่ที่ 65,024 หมื่นบาทต่อวัน มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการในร้าน 845 คนต่อวัน จากปีที่ผ่านมาที่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 949 คนต่อวัน ค่าใช้จ่าย 77 บาทต่อบิล เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มียอดใช้จ่าย 75 บาทต่อบิล และมีอัตราการเติบโตของร้านสาขาเดิมลดลง 17%”

นายเกรียงชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการต่อสัญญาดำเนินธุรกิจร้านเซเว่นฯในปั๊ม PTT Station กับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) OR สัญญาร่วมกันอีก 10 ปี ซึ่งสัญญาเดิมจะหมดในอีก 2 ปีข้างหน้า ก็จะทำให้ต่อเวลาเพิ่มเป็น 12 ปี (หมดสัญญาปี 2576) ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของร้านเซเว่นฯใน OR คิดเป็น 14-15% ของจำนวนร้านทั้งหมด ส่วนการลงทุนในต่างประเทศ บริษัทได้เตรียมพร้อมสำหรับการเปิดสาขาในประเทศกัมพูชาและลาว

ปัจจุบันก็ยังเตรียมการอย่างต่อเนื่องที่จะเปิดสาขาในกัมพูชา แต่จากสถานการณ์โควิดทำให้ขณะนี้ไม่ได้รีบร้อนในการดำเนินงานแต่อย่างใด เนื่องจากยังมีเรื่องของการปิดประเทศเข้ามาเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินงานอยู่

ด้านโครงการติดตั้งสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า โปรเจ็กต์ที่สนับสนุนรักษาสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ 7 Go Green ปัจจุบันมีสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้ามีอยู่ 24 สาขา โดยความคืบหน้าการขยายจุดชาร์จเพิ่มเติมอาจจะไม่สะดวกเนื่องจากการระบาดของโควิด ที่ทำให้ไม่สะดวกในการติดตั้ง แต่แผนยังมีอยู่คงเดิมและรอจังหวะในการขยายงาน

สำหรับการเข้าไปลงทุนในธุรกิจโลตัส ที่ปิดดีลไปสิ้นปี 2563 โดยเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 40% แล้วนั้น เบื้องต้นในเดือนมิถุนายนนี้ บริษัทจะออกหุ้นกู้ขายสถาบันรายใหญ่ และนักลงทุนทั่วไป รวม 6.6 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปรีไฟแนนซ์หนี้ หรือชำระ bridging loan จากการไปซื้อโลตัส 40% ปลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้บริษัท ทำให้ลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ล็อกอัตราดอกเบี้ย

“ช่วงไตรมาส 2 ยังคงได้รับผลกระทบบ้างจากการระบาดระลอก 3 ที่เกิดขึ้น จากนี้ไปมองว่าภาพรวมค้าปลีกยังคงแกว่ง ๆ มีขึ้นลงรายวัน ไม่เปลี่ยนแปลงจากไตรมาส 1-2 ปีที่ผ่านมามากนัก แต่เรายังมีความหวังในกลุ่มค้าปลีก ถ้าความเชื่อมั่นกลับมา การฟื้นตัวของผู้บริโภคก็จะดีขึ้น และภาพค้าปลีกก็จะฟื้นตัวตามไปด้วย” นายเกรียงชัยกล่าวในตอนท้าย