ธุรกิจโอด “ล็อกดาวน์” ทุบซ้ำ น็อนฟู้ดหนัก…ฟื้นยากใช้เวลา

ห้างล็อกดาวน์
จับกระแสตลาด

 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ตรงกันข้ามกลับทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ทำให้ ศบค.ต้องยกระดับมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม ด้วยการสั่งปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า กำหนดเวลาการเปิด-ปิดร้านสะดวกซื้อ รวมถึงห้ามออกนอกเคหสถาน อีกด้านหนึ่งส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ ที่ยังไม่ฟื้นตัวได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น

กระทบยอดขาย-ฟื้นยาก

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการค้าปลีกรายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เบื้องต้นการล็อกดาวน์ที่แม้จะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 2 สัปดาห์ แต่สิ่งที่ส่งผลกระทบตามมาสำหรับธุรกิจค้าปลีกที่เป็นปลายน้ำ คือ ยอดขายสินค้ากลุ่มต่าง ๆ จะลดลงมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มเสื้อผ้าสินค้าแฟชั่น กลุ่มเครื่องใช้ในบ้าน แต่ทั้งนี้จะมีเพียง 2 กลุ่มหลัก ที่ยังพอจะมียอดขาย คือ กลุ่มอาหารสด-อาหารแห้ง และกลุ่มเครื่องอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ทุกคนต้องปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์

โดยเฉพาะการพยายามหาช่องทางใหม่ ๆ ที่ผ่านมาทุก ๆ รายได้หันมาใช้ออนไลน์เพื่อขายสินค้า ซึ่งก็จะช่วยได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากรายได้หลักของค้าปลีกจะมาจากหน้าร้านหรือออฟไลน์ไม่ต่ำกว่า 95-97%

แต่ครั้งนี้สถานการณ์อาจจะหนักกว่าการล็อกดาวน์ครั้งที่ผ่าน ๆ มา เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการเหนื่อยมาตั้งแต่โควิดรอบแรก จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ฟื้นโดยเฉพาะกลุ่มน็อนฟู้ด ทั้งแฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ การปิดศูนย์การค้าดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ธุรกิจจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในศูนย์การค้ามีเป็นจำนวนมาก ซึ่งในภาพรวมรัฐบาลควรจะต้องมีมาตรการเยียวยาออกมาโดยเร็ว

ที่สำคัญคือ ตอนนี้ผู้บริโภคมีปัญหาเรื่องรายได้และกำลังซื้อมากขึ้น และระมัดระวังการจับจ่ายใช้จ่ายเฉพาะเท่าที่จำเป็นจริง ๆ ตอนนี้ที่หลาย ๆ คนเป็นห่วงและจับตามองก็คือ หากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจจะทำให้หลายรายต้องตัดสินใจเลิกการจ้างงานตามมา

“การจะกลับไปมียอดขายเหมือนเดิมหรือใกล้เคียงกับช่วงก่อนจะเกิดโควิดได้ คงเป็นเรื่องยากและเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ตอนนี้หลัก ๆ คงเป็นเรื่องของการพยายามประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายมากกว่าที่เป็นอยู่”

เครื่องใช้ไฟฟ้าร่วงหนัก

“อำนาจ สิงหจันทร์” ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า มาตรการครั้งนี้อาจส่งผลกระทบหนักและต้องใช้เวลาฟื้นตัวยาวนานกว่าการล็อกดาวน์เมื่อปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 1 ปี ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มแมสที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก สะท้อนจากยอดขายสินค้าระดับแมสของร้านค้าต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมาลดลงอย่างต่อเนื่อง และการกระตุ้นการจับจ่าย “ยิ่งใช้ยิ่งได้” อาจไม่ได้ผลนักเนื่องจากเงื่อนไขไม่เอื้ออำนวย เช่น ไม่สามารถใช้บัตรเครดิตได้ และข้อจำกัดวงเงินซื้อไม่เกิน 5,000 บาทต่อวัน

การล็อกดาวน์ 14 วันนี้อาจจะเป็นเพียงขั้นต้น และมีโอกาสที่จะขยายเวลาออกไปอีก ขณะนี้บริษัทจึงเร่งเตรียมแผนระยะสั้น-กลางสำหรับระยะเวลา 14 วัน 28 วัน ไปจนถึง 2 เดือน และ 3 เดือน ทั้งนี้ หากมาตรการล็อกดาวน์ลากยาวไปไตรมาส 4 ตลาดจะรับได้ผลกระทบหนักยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นหน้าขายสำคัญของวงการเครื่องใช้ไฟฟ้า

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาพรวมของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าอาจไม่ต่างจากปีที่ผ่านมามากนัก โดยปีที่ผ่านมาผลกระทบจากโควิดทำให้ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้ามียอดขายตกลงต่ำสุดในรอบ 5 ปีทั้งในแง่ของมูลค่าและยูนิต จากปัญหาเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ค่ายก็ต้องระมัดระวังและเข้มงวดในการทำตลาดและการลงทุนมากขึ้น เพื่อรักษากระแสเงินสดสำรองเอาไว้สำหรับกรณีที่การระบาดลากยาวออกไปถึงไตรมาส 4

ร้านอาหารคุมต้นทุน-ค่าใช้จ่าย

“ประพัฒน์ เสียงจันทร์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของธุรกิจร้านอาหารรายใหญ่ อาทิ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์ และซิซซ์เล่อร์ ฯลฯ กล่าวในเรื่องนี้ว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ธุรกิจร้านอาหารต้องปิดให้บริการ ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบมาตั้งแต่โควิดครั้งแรกเมื่อปลายไตรมาสแรกปี 2563 ที่ผ่านมาจนถึงครั้งล่าสุด และรอบนี้ไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่บริษัทต้องให้ความสำคัญ คือ การบริหารจัดการต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย หากสาขาไหนมีรายได้ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายก็ต้องปิดไป สิ่งที่น่าเจ็บปวดคือการลดพนักงาน

วันนี้ความยากของการบริหารงานร้านอาหารในเครือที่กังวล คือ การจัดการค่าใช้จ่าย เพราะยอดขายหลาย ๆ แบรนด์ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เรารู้อยู่แล้วว่ามันจะเกิดขึ้น ในแง่ของการบริหารถ้ายอดขายไม่มาก็ต้องจัดการเรื่องอื่นแทน เช่น ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นให้ได้มากที่สุด ชะลอการรับพนักงานในตำแหน่งที่ไม่จำเป็น และต้องหากลยุทธ์ทำยอดขายให้ได้ในทุกช่องทาง ส่วนการขยายสาขาใหม่จะต้องชะลอไว้ก่อน และต้องหันมาโฟกัสแบรนด์ที่ทำรายได้ดี เช่น เดอะ พิซซ่า คอมปะนี เบอร์เกอร์ คิง และบอนชอน เป็นต้น

สำหรับร้านอาหารการเปิด ๆ ปิด ๆ จะทำให้ในเชิงธุรกิจไม่มีความต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสต๊อกสินค้าบางเมนู ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อจัดโปรโมชั่นรองรับฤดูการขายในแต่ละเดือน ขณะนี้ต้องหยุดไปก่อน มานั่งรีวิวการทำโปรโมชั่นใหม่ทั้งหมด อยากให้โควิดจบเร็ว ๆ ถ้ารัฐบาลทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงได้ เราคาดการณ์ว่าจะได้กลับมาเปิด dine in ได้ในกลางหรือปลายไตรมาส 3

“บุญยง ตันสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น เซ็น, อากะ, ออน เดอะ เทเบิล ฯลฯ กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า คำสั่งประกาศล็อกดาวน์ ปิดศูนย์การค้า ทำให้ธุรกิจร้านอาหารเดินหน้าไม่ได้ ร้านอาหารทั้งรายใหญ่และรายเล็กได้รับผลกระทบ ไม่มีรายได้เข้ามา ทำให้สภาพคล่องมีปัญหาเนื่องจากปัจจุบันผู้คนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น และทำให้การบริหารจัดการร้านอาหารลำบากมากขึ้น แม้รัฐบาลจะพยายามช่วยเหลือเรื่องซอฟต์โลน แต่คงไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมด จึงต้องบริหารค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม และหาช่องทางขายใหม่ ๆ เพื่อหารายได้เข้ามาทดแทนรายได้หลักที่หายไป

การล็อกดาวน์ครั้งนี้ร้านอาหารในเครือเซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ร้านในศูนย์การค้าต้องปิด เท่ากับว่ารายได้เป็นศูนย์ ก็ต้องหันมาให้ความสำคัญกับสาขาที่อยู่นอกศูนย์การค้า เพิ่มน้ำหนักขายดีลิเวอรี่ ควบคู่กับโปรโมชั่นที่แปลกใหม่เพื่อดึงความสนใจจากผู้บริโภค ที่ผ่านมาดีลิเวอรี่เป็นช่องทางที่ช่วยพยุงรายได้ค่อนข้างดี

“การล็อกดาวน์คงไม่ช่วยอะไร เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ทางออกในเรื่องนี้คือ ต้องเร่งกระจายและปูพรมวัคซีนโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง ก่อนที่ธุรกิจจะถึงทางตันและเศรษฐกิจพังพินาศ และผลกระทบที่ตามมาคือ จากนี้จะเห็นภาพคนตกงานเพิ่มขึ้น เพราะเริ่มมีร้านอาหารที่ทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง”

ขณะนี้ “อธิพล ตีระสงกรานต์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด เปิดเผยว่า เบื้องต้นยังไม่แน่ใจว่ามาตรการล็อกดาวน์ 14 วันนี้จะส่งผลในแง่ของการฟื้นความเชื่อมั่นหรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับการระดมฉีดวัคซีนด้วยว่าอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าจะกระจายได้ตามเป้าหมายมากน้อยเพียงใด ส่วนจะได้ผลขนาดไหนนั้นการฉีดวัคซีนคือคำตอบ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือในเรื่องของการลดหย่อนภาษี การช่วยเหลือเรื่องของลูกจ้างในแง่ของสวัสดิการต่าง ๆ