คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ สั่งทบทวนส่งออกแอสตร้าเซนเนก้า

ญี่ปุ่นบริจาคแอสตร้าให้ไทยทำไม
REUTERS/Athit Perawongmetha/File Photo

คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มีมติทบทวนส่งออกแอสตร้าเซนเนก้า สั่งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ-กรมควบคุมโรค พิจารณาร่างประกาศสัดส่วนการส่งออกวัคซีนใหม่ พร้อมเร่งเจรจาบริษัทวัคซีน

วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยมติการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ โดยระบุว่า ขณะนี้เตรียมร่างประกาศสาธารณสุข กำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนออกนอกราชอาณาจักร

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค พิจารณาร่างประกาศเกี่ยวกับประโยชน์และทบทวนเรื่องผลกระทบหากมีการส่งออกวัคซีนที่ผลิตภายในประเทศอย่างแอสตร้าเซนเนก้า ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศยังคงรุนแรง

พร้อมกันนี้ ยังเร่งรัดให้ทั้ง 2 หน่วยงาน ดำเนินการเจรจาต่อรองกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนอย่างเต็มกำลัง

อย่างไรก็ดี จากข้อตกลงระหว่างทางการไทยและแอสตร้าเซนเนก้า ระบุว่า ประเทศไทยต้องได้วัคซีน 1 ใน 3 จากกำลังการผลิตภายในประเทศในแต่ละช่วงเวลา

นอกจากนี้ ได้มีมติให้มีการจัดหาวัคซีนทั้งชนิด mRNA ไวรัสเวคเตอร์ โปรตีนซับยูนิต โดยคำนึงถึงการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 และเตรียมวัคซีนสำรองกรณีเกิดการแพร่ระบาดหนัก โดยในปี 64 ต้องจัดหาวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ในการประชุมมีวาระการพิจารณาที่สำคัญ 2 วาระ คือ 1.ที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติให้ความเห็นชอบกรอบการจัดหาวัคซีนโควิด-19 สำหรับประชาชนในปี 2565 เป็นจำนวน อีก 120 ล้านโดส โดยมติของคณะกรรมการวัคซีนฯ ให้จัดหาวัคซีนรูปแบบ mRNA ไวรัลเว็กเตอร์ ซับยูนิตโปรตีน และรูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดและตามจำนวนซัพพลายของวัคซีน และให้คำนึงถึงวัคซีนที่ตอบสนองต่อการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 การจัดหามีเป้าหมายเพื่อให้วัคซีนมีเพียงพอ สำหรับการฉีดให้ประชากรที่ยังเข้าไม่ถึงวัคซีน และเป็นการฉีดเพิ่มเติมสำหรับกรณีที่ต้องได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในปีถัดไป รวมทั้งสำรองวัคซีนในกรณีที่เกิดการระบาดด้วย ดังนั้น ในกรอบจะเป็นการจัดหาวัคซีนในปีหน้า

2.การพิจารณาร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 ในการกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ที่ประชุมได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางและพิจารณาถึงผลกระทบ ความเป็นไปได้ รวมทั้งเรื่ององค์ประกอบอื่นที่ต้องพิจารณาต่อไปข้างหน้า ที่ประชุมจึงให้ความเห็นชอบในหลักการที่จะมีการออกประกาศนี้

โดยมอบหมายให้สถาบันวัคซีนฯ และกรมควบคุมโรค พิจารณาทบทวนเนื้อหาร่างประกาศ โดยพิจารณาถึงผลกระทบ คำนึงถึงผลประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ที่จะมีต่อประเทศรวมถึงประชาชนเป็นหลัก และให้ดำเนินการเจรจาอย่างเต็มที่กับผู้ผลิตวัคซีนให้ได้จำนวนวัคซีนที่เหมาะสมกับ สถานการณ์ระบาดของโรคในประเทศก่อน เมื่อได้ผลอย่างไร ให้นำมารายงานในที่ประชุมกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเนื้อหาการประกาศและผลการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีน ให้ที่ประชุมกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เห็นชอบร่างประกาศ อีกครั้ง