“สุกี้ตี๋น้อย” ฝ่าวิกฤตโควิด บุกดีลิเวอรี่…เสริมทัพบุฟเฟต์

สัมภาษณ์พิเศษ

 

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “สุกี้ตี๋น้อย” เป็นร้านสุกี้บุฟเฟต์ขวัญใจคนรุ่นใหม่ ด้วยจุดเด่นในเรื่องของที่เข้าถึงง่าย เมนูหลากหลาย บรรยากาศร้านที่โอ่อ่าสะดวกสบาย เปิดให้บริการตั้งแต่เที่ยงวันยันตีห้า

หากยังจำกันได้ สุกี้ตี๋น้อย เปิดให้บริการสาขาแรก เมื่อช่วงปี 2560 ที่ย่านพิพิธภัณฑ์บ้านบางเขน (ตรงข้ามกรมทหารราบที่ 11 รอ.) โดยใช้เวลาการแจ้งเกิดอย่างรวดเร็ว จากกระแสบอกต่อช่องทางออนไลน์

ถึงวันนี้ สุกี้ตี๋น้อย มีสาขาถึง 29 สาขา ล้วนเป็นร้านสแตนด์อะโลน มีที่จอดรถสะดวกสบาย

แต่ล่าสุดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์และพิษโควิด -19 บวกกับมาตรการล็อกดาวน์ที่มีออกมาเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะการไม่อนุญาตให้นั่งรับประทานในร้านได้ ทำให้ร้านสุกี้ชื่อดังแห่งนี้ต้องปรับตัวในหลาย ๆ ด้าน

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นัทธมน พิศาลกิจวนิช” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ก่อตั้งร้าน “สุกี้ตี๋น้อย” ถึงการปรับตัวและกลยุทธ์การดำเนินงาต่อจากนี้ไป

“นัทธมน” เริ่มต้นการสนทนาว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และลากยาวมาถึงวันนี้ ตลอดจนมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของรัฐบาล ทำให้ สุกี้ตี๋น้อย ที่เน้นเปิดให้บริการในรูปแบบของบุฟเฟต์ต้องปรับตัวอย่างมาก การระบาดแต่ละครั้งทำให้ต้องปิดร้าน ปิดการให้บริการ พอสถานการณ์คลี่คลายก็กลับมาเปิดใหม่ เปิด ๆ ปิด ๆ เป็นช่วง ๆ เพื่อให้บริการสอดคล้องกับมาตรการของภาครัฐ

ปีที่ผ่านมาลูกค้าลดลงไปเกินครึ่ง แต่ก็ยังพอมีรายได้อยู่บ้าง สรุปปีที่ผ่านมามีรายได้ราว 1,200 ล้านบาท แต่การกลับมาระบาดในรอบ 2 รอบ 3 ยอมรับว่าผลกระทบที่ตามมาหนักมาก ล่าสุดการล็อกดาวน์แม้อาจจะไม่กระทบกับสุกี้ตี๋น้อย โดยตรงมากนัก เนื่องจากเราไม่มีสาขาอยู่ในห้าง หรือศูนย์การค้า เนื่องจากสุกี้ตี๋น้อยไม่มีบริการดีลิเวอรี่ หรือสั่งกลับบ้าน คำสั่งห้ามนั่งทานอาหารในร้าน จึงเท่ากับว่ารายได้เป็นศูนย์ จึงต้องปรับแผนหารายได้เพื่อประคับประคองธุรกิจ ด้วยการเพิ่มช่องทางขายดีลิเวอรี่เข้ามา

“ยอมรับว่าเป็นอะไรที่ยาก เพราะไม่เคยทำมาก่อน ทั้งในแง่ของการเข้าร่วมแพลตฟอร์มต่าง ๆ การพัฒนาเมนูเพื่อรองรับผู้บริโภคในช่องทางแบบนี้ ที่ต้องเน้นเรื่องราคาที่คุ้มค่า รวมถึงแผนการสต๊อกการบริหารวัตถุดิบ ก่อนหน้าที่รัฐบาลจะประกาศมาตรการออกมา เราสต๊อกวัตถุดิบไว้มาก บางส่วนนำมาขายดีลิเวอรี่ได้ อะไรที่มีอายุสั้นต้องทิ้ง นั่นคือค่าใช้จ่ายที่ตามมา”

ผู้บริหารร้านสุกี้ตี๋น้อยบอกด้วยว่า สำหรับพนักงานที่ปัจจุบันมีประมาณ 2,000 คน บริษัทต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่อเดือนสูงเฉลี่ย 25 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากช่องทางปกติจะหายไปกว่า 70% แต่เนื่องจากสุกี้ตี๋น้อยอาจจะโชคดี ที่พอจะมีสภาพคล่องเก็บอยู่บ้าง ยืนยันว่าไม่มีนโยบายปลดหรือจ้างออก แต่จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เรื่องของโอที เบี้ยขยัน อาจจะต้องชะลอไว้ก่อน เพราะสถานการณ์ไม่ปกติ ซึ่งจะต้องมีการสื่อสารให้พนักงานเข้าใจ

ตอนนี้ต้องปรับด้วยการให้สลับกันมาทำงาน ทั้งฝ่ายบริการหน้าร้าน และการซัพพอร์ตระบบหลังบ้าน วิธีนี้แม้ไม่เติบโตและขาดทุนบ้าง แต่ยังสามารถช่วยเหลือพนักงานได้

“ตอนนี้ต้องมอนิเตอร์ข่าวทุก ๆ ชั่วโมง เพราะประกาศของรัฐบาลมีผลต่อการทำงาน การตัดสินใจ โดยเฉพาะการสต๊อกวัตถุดิบที่เป็นของสดที่ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า เพราะต้องคุยกับซัพพลายเออร์ที่ส่งของให้ ในมุมมองผู้ประกอบการ หากทางการจะออกมาตรการอะไรมาควรมีการแจ้งล่วงหน้าบ้าง และต้องมีการสื่อสารให้ชัดเจนเพื่อให้ธุรกิจเจ็บตัวน้อยที่สุด”

ผู้บริหารสุกี้ตี๋น้อยยอมรับว่า การปรับตัวครั้งนี้ต้องยอมรับว่าเป็นโจทย์ที่ยากมาก เพราะช่องทางดีลิเวอรี่และการซื้อกลับบ้านยังเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับช่องทางปกติ ทำแล้วจะกำไรหรือขาดทุนก็ต้องยอมรับ ขณะเดียวกันในแง่ของการทำการตลาดก็จะต้องหากลยุทธ์ต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่าที่จะสั่งไปทานที่บ้าน ซึ่งก็ไม่ง่าย เพราะโดยธรรมชาติของการกินแบบบุฟเฟต์นั้น ต้องนั่งกินในร้านจึงจะได้ปริมาณที่คุ้มค่ามากกว่า

จึงคิดเมนูสุกี้ขึ้นมาใหม่ 2 เซต ด้วยการนำเอาเมนูซิกเนเจอร์ อาทิ เนื้อวัว หมู ลูกชิ้น ซีฟู้ด ชุดผัก และน้ำจิ้ม เป็นชุดพร้อมทาน ราคาเริ่ม 129-210 บาท และมีเมนูอื่น ๆ ที่เป็นแบบ a la carte โดยยังคงคอนเซ็ปต์อร่อยคุ้มเหมือนมาทานที่ร้าน โดยขายผ่านหน้าร้านเป็นหลัก ส่วนดีลิเวอรี่ก็เข้าร่วมแฟลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้ง Gojek, Grab, Lineman เป็นต้น เป็นการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า

อีกด้านหนึ่งก็สื่อสารและทำการตลาดผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก โดยมีการจัดกิจกรรมแจกของรางวัลเพื่อช่วยสร้าง engagement และช่วยสื่อสารแบรนด์ให้เข้าถึงฐานลูกค้าครอบคลุมมากขึ้น ตอนนี้มีผู้ติดตามกว่า 3 แสนคน และได้รับกระแสตอบรับที่ค่อนข้างดี

สำหรับทิศทางในอนาคต “นัทธมน” ย้ำว่า อย่างไรก็ตาม จากนี้ไปยังมีแผนจะขยายสาขาต่อเนื่อง จริง ๆ แล้วตามแผนเดือนกรกฎาคมนี้ต้องเปิด 1 สาขา และเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ปีนี้ คือ 10 สาขา โดยเฉพาะการมองไปตลาดในต่างจังหวัด ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมทานอาหารบุฟเฟต์ที่ราคาเข้าถึงง่าย แต่พอเจอสถานการณ์โควิดที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุดลงง่าย ๆ จึงต้องกลับมาประเมินสถานการณ์วันข้างหน้าใหม่และต้องเลื่อนแผนออกไปก่อน หรือการขยายสาขาไปต่างจังหวัดก็จะต้องกลับมาดูความพร้อมในเรื่องของการขนส่ง โลจิสติกส์ก่อน ซึ่งก็คงไม่ใช่ปีนี้ ตอนนี้ต้องเน้นการประคับประคอง การบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

พร้อมกันนี้ “นัทธมน” ยังทิ้งท้ายด้วยว่า อยากจะขอให้ภาครัฐช่วยนำวัคซีนทางเลือกเข้ามา และเร่งฉีดให้เร็วและครอบคลุมที่สุด เพราะความเชื่อมั่นโดยรวมมีผลกับทุก ๆ ธุรกิจ และวัคซีนจะเป็นกุญแจที่ช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อโดยรวมค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น อีกด้านหนึ่งเมื่อมีมาตรการล็อกดาวน์ การเยียวยาที่เกิดควรต้องเข้าถึงประชาชนและธุรกิจอย่างทั่วถึง

“ท้ายที่สุด สถานการณ์จะดีขึ้นหรือเลวร้ายลง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล เราได้แต่หวังว่าธุรกิจร้านอาหารคงไม่หนักไปมากกว่านี้”