สธ.แจงปมแพทย์ด่านหน้าบูสเตอร์โดสแอสตร้าฯ แทนไฟเซอร์

ทำไมแอสตร้าควรเลี่ยงฉีดให้คนเกิน 60 ในบางประเทศ
REUTERS/Henry Nicholls/File Photo

สธ.เปิดเหตุผลหมอด่านหน้า ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า แทนไฟเซอร์ เผยการติดเชื้อกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์สูง รอไฟเซอร์ไม่ทันการณ์ ลั่นหากไฟเซอร์เข้ามาเมื่อไรฉีดควบคู่กันแน่

วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 นายแพทย์ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิดทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 500,000 คน/วัน เสียชีวิตอีก 8,000 คน/วัน

อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศที่เคยควบคุมการระบาดได้ดี ไปจนถึงประเทศที่มีการฉีดวัคซีนในประชากรเกิน 50-60% กลับมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่กลับมาระบาดอีกครั้ง อาทิ ประเทศอังกฤษที่ในสัปดาห์นี้มีผู้ติดเชื้อที่ 39,000 คน/วัน จากเดิมไม่เกินหลักพันรายต่อวัน แต่กลับพบผู้เสียชีวิตลดลงเป็นอย่างมากเหลือเพียง 11 ราย/วัน สะท้อนได้ว่าแม้ฉีดวัคซีนแล้วแต่ก็อาจติดเชื้อได้ แต่ลดอัตราการเสียชีวิตได้มาก

นายแพทย์ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ

อย่างไรก็ดี สำหรับอัตราการติดเชื้อในประเทศไทยพบว่า เพิ่มเป็น 2-3 เท่า ในทุก ๆ สัปดาห์ โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ต่างจังหวัด 55% และอยู่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลที่ 45%

ขณะที่การฉีดวัคซีนในประเทศทำได้เฉลี่ย 300,000 โดส/วัน โดยบุคลากรทางการแพทย์สามารถฉีดครอบคลุม 100% ตามเป้าหมายแล้ว

ทั้งนี้ ในสภาวะที่วัคซีนในประเทศยังคงมีจำกัด ประกอบกับเป้าหมายหลักในตอนนี้คือลดการเสียชีวิต ดังนั้นจึงจำเป็นต้องฉีดให้กลุ่มสูงวัยก่อน ซึ่งกลุ่มดังกล่าว หากติดเชื้ออาการหนัก 10 คน จะมี 1 คนเสียชีวิต ส่วนกลุ่มคนทั่วไป หากติดเชื้อแล้วอาการหนัก 1,000 คน จะมี 1 คนเสียชีวิต ซึ่งสูงมากกว่ากันถึง 100 เท่า จึงอยากขอความร่วมมือประชาชนให้นำผู้สูงอายุเข้ารับวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

เมื่อถามถึงกรณีบุคลากรทางการแพทย์จะได้ฉีดไฟเซอร์เป็นบูสเตอร์โดส (เข็ม 3) เพื่อกระตุ้นหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มีการให้บุคลากรทางการแพทย์ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าแทน นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า ขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าส่วนมากได้รับวัคซีนยี่ห้อซิโนแวค 2 เข็ม เกิน 3 เดือนแล้ว ทำให้ต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นอีกครั้ง ซึ่งต้องไม่ใช่แพลตฟอร์มเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ประเทศไทยมีอยู่ในมือ และไม่ใช่แพลตฟอร์มเชื้อตาย คือแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งเป็นแพลตฟอร์มไวรัสเวคเตอร์ จึงทำการฉีดกระตุ้นให้บุคลากรทางการแพทย์ไปก่อน เนื่องจากการติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ยังสูง จึงรอเวลาไม่ได้

แต่ยืนยันว่าหากวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส เข้ามาเมื่อไร จะใช้วัคซีนทั้ง 2 ชนิดควบคู่กันไป

ส่วนแผนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เนื่องจากเป็นวัคซีนบริจาค ต้องดูว่าจะนำมาสนับสนุนในส่วนไหน แต่ข้อเสนอให้เบื้องต้นที่ยื่นให้แก่ ศบค. เพื่ออนุมัติมี 3 กลุ่มหลัก

  1. กลุ่มสาธารณสุขด่านหน้าที่มีโอกาสติดเชื้อสูงจริง ๆ
  2. กลุ่มสูงวัย และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง
  3. กลุ่มพื้นที่ระบาดหนักที่ต้องระดมฉีดวัคซีนก่อน

อย่างไรก็ดี ขอยืนยันว่าไฟเซอร์จะเข้ามาสนับสนุนแผนงานตามปกติ ไม่มีกลุ่มไหนหรือใครได้เป็นพิเศษ