สธ. เผยสถิติผู้ไม่ฉีดวัคซีน-ฉีดไม่ครบ เสียชีวิตสูงกว่าผู้ฉีดวัคซีนครบ 30 เท่า

ฉีดวัคซีน
Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

สธ. เปิดผลการศึกษาพบผู้ไม่ฉีดวัคซีน-ฉีดไม่ครบ 2 เข็ม อัตราการเสียชีวิตสูง 140 คน ต่อล้าน สูงกว่าผู้ฉีดวัคซีนครบถึง 30 เท่า ขณะที่สถานการณ์โควิดทั่วโลกมีแนวโน้มขาขึ้น แนะคนไทยกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนด่วนไม่ว่าจะเป็นสูตรใดก็ตาม

วันที่ 21 สิงหาคม 2564 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยมีปัจจัยหลักจากเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตรอบโลกยังคงที่ สะท้อนจากประเทศอินเดีย บราซิล รัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษ ที่แม้มีการติดเชื้อเกิน 2,000 รายต่อวัน แต่เนื่องจากมีการปูพรมวัคซีนได้มาก จึงทำให้จำนวนผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตไม่สูง

สำหรับประเทศไทยวันนี้ (21 ส.ค.) มีผู้ติดเชื้อใหม่ 20,571 ราย และเสียชีวิต 261 ราย ส่วนหนึ่งเป็นผู้เสียชีวิตที่เพิ่งเสียชีวิตกับที่ตกค้างมารวมด้วย เฉลี่ยตกวันละ 20,000 ราย เฉพาะ กทม. และ ปริมณฑล ประมาณวันละกว่า 8,000 คน หรือคิดเป็น 72% ที่เหลือเป็นตัวเลขจากต่างจังหวัด ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์

อย่างไรก็ดี จากผลการศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนโดยกรมควบคุมโรค กรณีซิโนแวค 2 เข็ม ที่มีการประเมินทุกเดือนตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค. พบว่าซิโนแวคกันการป่วยหนักและเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 72% ถือว่ายังมีประสิทธิภาพสูง

ส่วนกรณีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม จากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า ป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ประมาณ 70-80% สำหรับข้อมูลในประเทศไทยมีอัตราลดการป่วยหนักและเสียชีวิต แบ่งตามเดือนได้ดังนี้ พ.ค. 84% มิ.ย. 93% และ ก.ค. 85% หรือกล่าวได้ว่าสามารถป้องกันได้สูงถึง 80-90% แต่หากฉีดเข็มที่ 2 จะได้ประโยชน์สูงกว่านี้อีกมาก

นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และศิริราชพยาบาล ที่ศึกษาระดับภูมิคุ้มกันการฉีดวัคซีนที่มีต่อสายพันธุ์เดลต้า สำหรับการฉีดวัคซีนซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้า สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ซิโนแวค+ซิโนแวค, แอสตร้าฯ+แอสตร้าฯ หรือสูตรไขว้วัคซีน ซิโนแวค+แอสตร้าฯ

และเมื่อดูข้อมูลประสิทธิผลการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต จะเห็นว่าคนที่ป่วยหนักและเสียชีวิตที่ได้วัคซีนครบสองเข็มมี 26 ราย เมื่อคิดอัตราการเสียชีวิตต่อคนฉีดวัคซีน 100 คน อยู่ที่ 4.4 ต่อล้านคน ถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับคนไม่ได้ฉีดวัคซีนและเสียชีวิต ซึ่งเป็นกลุ่มส่วนใหญ่ขณะนี้

โดยกลุ่มไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบ หรือยังฉีดไม่ถึง 14 วัน ซึ่งภูมิคุ้มกันยังไม่ขึ้น จะมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 140 ต่อล้านคน ต่างกันประมาณ 30 เท่า

“ขอเชิญชวนกลุ่มเสี่ยงเป้าหมาย โดยเฉพาะสูงวัย ผู้ป่วยเรื้อรัง ให้เร่งเข้ารับการฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นสูตรใดก็ตาม แต่ สธ. ขอแนะนำสูตรซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าฯ ภูมิจะขึ้นสูงและเร็วมาก” นพ.โสภณ กล่าวทิ้งท้าย