เสถียร เศรษฐสิทธิ์ ฝ่าวิกฤตค้าปลีกยุคใหม่ ยึดโมเดลกินแบ่ง คืนชีพโชห่วย

เสถียร เศรษฐสิทธิ์

กว่า 20 ปีของการบุกเบิกปลุกปั้น “คาราบาวแดง” ภายใต้การกุมบังเหียนของคีย์แมนคนสำคัญอย่าง “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” จนรายได้ทะลุกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท แตกไลน์ธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งกาแฟ น้ำดื่ม เครื่องดื่มเกลือแร่ ไปจนถึงซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต พร้อมสยายปีกในต่างประเทศต่อเนื่อง

ทำให้ชื่อของคาราวบาวผงาดในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะปรากฏการณ์แบรนดิ้งระดับโลกด้วยการ title sponsor หรือสปอนเซอร์ชื่อรายการแข่งขันพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “คาราบาวคัพ” ในปี 2016 โทรฟี่ของกีฬาฟุตบอลที่คนทั้งเกาะอังกฤษและทั่วโลกคลั่งไคล้

“เสถียร” สวมหมวกประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด เปิดโมเดลการทำธุรกิจโชห่วยยุคใหม่ ผ่านเอ็กซ์คลูซีฟทอล์ก “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน : ร้านค้าของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน” ในงานสัมมนาเส้นทางเศรษฐี จัดโดยเครือมติชน เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา

“เสถียร” ฉายภาพที่มาของร้านถูกดี มีมาตรฐาน ว่า จากจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจคาราบาว กรุ๊ป มากว่า 20 ปี ทำให้ได้เห็นมุมมองหลายด้าน โดยเฉพาะธุรกิจโชห่วยของไทย 3-4 แสนร้านค้าทั่วประเทศ ที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤต บางร้านยังเปิดให้บริการอยู่

ขณะที่อีกหลายร้านค้าก็ล้มหายตายจากไปตามกาลเวลา แสดงให้เห็นว่าร้านค้าโชห่วยซึ่งเป็นธุรกิจฐานรากของประเทศอ่อนแอลงไปเรื่อย ๆ สะท้อนขีดความสามารถของร้านค้าเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะแข่งขันกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ได้เลย และอนาคตอาจจะสะเทือนไปยังธุรกิจของประเทศทั้งระบบ

โมเดล “กินแบ่ง” ความยั่งยืนโชห่วยไทย

จึงเกิดเป็นโมเดลโชห่วยสมัยใหม่ในชื่อ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเหลือร้านค้าโชห่วยในชุมชนในคอนเซ็ปต์ “โลว์คอสต์ คอนวีเนี่ยนสโตร์” เพื่อฟื้นคืนชีพร้านค้าชุมชนหรือร้านค้าโชห่วยที่คุ้นเคยของคนไทย ผ่านจุดสำคัญที่ทุกอย่างต้องโลว์คอสต์ เพื่อเพิ่มอำนาจทางการแข่งขันให้ร้านค้าในชุมชนของไทย ยกระดับมาตรฐานร้านให้ทันสมัย สนับสนุนด้านองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการบริหารจัดการร้าน ภายใต้โมเดล “ร้านค้าของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน”

ADVERTISMENT

“โมเดลร้านถูกดี มีมาตรฐานไม่ใช่แฟรนไชส์ จะไม่เรียกร้านค้าเครือข่ายของบริษัทว่าแฟรนไชส์ เพราะทุกร้านยังเป็นเจ้าของคนเดิม ร้านเดิม แต่เรามองว่าทุกร้านที่สนใจโมเดลดังกล่าวคือพาร์ตเนอร์หรือพันธมิตรทางธุรกิจ

เพียงแค่จะมีชื่อ ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ต่อท้ายด้วยชื่อเดิม เพื่อการันตีสินค้า ราคา และมาตรฐานต่าง ๆ โดยนิยามที่จะทำให้ร้านแข็งแรงหัวใจสำคัญคือ ธุรกิจต้องกินแบ่ง 3 ฝ่ายหลักต้องอยู่ร่วมกัน

ADVERTISMENT

คือ บริษัท, พาร์ตเนอร์ ที่ต้องมีรายได้ที่เหมาะสมเพียงพอเลี้ยงชีวิต และซัพพลายเออร์ ที่ทำหน้าที่จัดส่งสินค้า ที่ต้องเอื้อต่อกันเป็นมิตรที่ดีต่อกัน อยู่ในจุดที่สามารถแข่งขันและไปด้วยกันได้”

“เราไม่คิดจะทำเอง ด้วยรูปแบบธุรกิจ (business model) แม้บริษัทจะเข้าไปดำเนินการเอง 100% แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถบริหารงานให้เติบโตยั่งยืนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าจะต้องจ้างคน 2-3 คนต่อแห่งเป็นอย่างน้อย

ซึ่งหากคิดง่าย ๆ พนักงาน 1 คน เงินเดือน 15,000 บาท แค่พนักงาน 2 คน เท่ากับต้นทุน 30,000 บาท และเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ต้องมีต้นทุนดำเนินงาน 40,000-50,000 บาทต่อแห่ง แต่กลับกันร้านค้าโชห่วยไม่ต้องจ้างคน

ร้านค้าโชห่วยโดยปกติมีรูปแบบการดำเนินงานคือธุรกิจครอบครัว ตั้งแต่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ลูก ที่เวียนกันเข้ามาช่วยงานในครอบครัว ดังนั้น จึงนำจุดแข็งตรงนี้มาต่อยอดมากกว่า”

แต่บริษัทจะให้ความช่วยเหลือในส่วนของอุปกรณ์ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้งด้วยการเอาสินค้าวางให้เต็มร้าน ชั้นวาง อุปกรณ์ต่าง ๆ อาทิ ตู้เย็น ตู้แช่ เครื่องคิดเงิน ระบบพรินเตอร์ กล้องวงจรปิด ป้ายหน้าร้าน

โดยบริษัทจะเข้าไปลงทุนให้กว่า 1 ล้านบาทต่อแห่ง โดยเจ้าของร้านมีหน้าที่ตกแต่งร้านให้ได้มาตรฐานตามต้องการ ทั้งเรื่องไฟ ความสว่าง สี แต่จะมีการวางเงินค้ำประกัน 2 แสนบาท

จากนั้นสิ้นเดือนจะมีการหักกำไรและส่งเงินคืนเพื่อหลักประกันการตั้งใจทำงานร่วมกัน แสดงถึงความตั้งใจจริงของร้านค้า แต่หากรายได้มีความตั้งใจแต่ยังไม่มีเงินทุน

บริษัทก็พร้อมซัพพอร์ตด้วยการเจรจากับธนาคารกสิกรไทยในการให้ร้านค้าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 5-6% เพื่อรองรับ ก่อนจะขยายไปยังธนาคารอื่น ๆ เพิ่มเติมในเดือนหน้า

ปูพรม 5 หมื่นสาขาปี 2566

คีย์แมนคนสำคัญของคาราบาวกรุ๊ปยังบอกอีกว่า แม้ทุกวันนี้ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” จะเริ่มเป็นที่รู้จักกันดีในต่างจังหวัด และในกรุงเทพฯจะมีเพียงกว่า 10 ร้านค้า จากปัจจุบันร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” มีสาขาทั้งสิ้น 1,200 สาขาทั่วประเทศ

หากแต่แผนงานระยะยาวของร้านถูกดี มีมาตรฐาน ต่อจากนี้คือการปั้นโชห่วยไทยให้เข้มแข็งในระยะยาวด้วย โดยวางเป้าหมายขยายเพิ่ม 8,000 สาขาในสิ้นปี 2564 ขณะที่สิ้นปี 2565 จะมีสาขาทั้งหมด 30,000 แห่ง ก่อนจะเพิ่มเป็น 50,000 แห่งในปี 2566

“ขณะนี้มีร้านค้ามาขอสมัครเข้าร่วมกับเรากว่า 9,000 แห่ง และมีเข้าเกณฑ์อยู่ระหว่างการรอเปิดอีกกว่า 2,000 ร้านค้า ซึ่งส่วนที่เหลือยังติดปัญหาเรื่องโควิด-19 ที่ทำให้สามารถขยับได้ช้า โดยในส่วนของภาคใต้ยังชะลอแผนงานไว้ก่อน

และคาดว่าจะเริ่มดำเนินงานได้ในช่วงปลายปีหลังสถานการณ์โควิดเบาบางลง โดยจะเริ่มจากการสร้างคลังสินค้าในเขตภาคใต้ เพื่อสร้างความสะดวกในการกระจายสินค้า”

นอกจากนี้ยังมีแผนเพิ่มคลังสินค้าอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีอยู่ 4 แห่งที่ จ.ขอนแก่น, อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา, จ.นครสวรรค์ และ จ.ชลบุรี ภายในปลายปี 2564 จะเปิดเพิ่มอีก 4 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดส่งสินค้าให้ร้านค้าได้ทันเวลา

สำหรับยอดขายของร้านค้าพาร์ตเนอร์หลังเปิดร่วมกับบริษัทมากกว่า 3 เดือน พบว่ามียอดขายเฉลี่ย 15,000 บาทต่อวัน บางร้านขายดีเฉลี่ยยอดขายวันละ 70,000 บาท หรือ 2 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งหากพาร์ตเนอร์มีรายได้ไม่ตรงตามเป้าที่กำหนดไว้ บริษัทก็จะมีส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยในเรื่องของกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อผลักดันรายได้

แต่ในระยะยาวการที่ร้านถูกดี มีมาตรฐาน จะเดินไปสู่เป้าหมายได้ จะต้องอาศัยพลังในการเป็นเจ้าของ ควบคู่กับเทคโนโลยีในการบริหารจัดการ ซึ่งจะค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพธุรกิจในอนาคตข้างหน้า สร้างพลังความภูมิใจให้แก่ร้านค้า สร้างการบอกต่อ สะท้อนภาพพลังความน่าเชื่อถือแก่ร้านค้า

โดยมีหัวใจสำคัญคือเรื่องของแบรนดิ้ง (branding) ซึ่งจะต้องทำร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งร้านค้าและบริษัท เพื่อให้ผู้บริโภคจดจำการเข้าร้าน จนนำไปสู่สินค้าที่ดีมีเอกลักษณ์ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น

โควิด บทเรียนอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล

“เสถียร” มองว่า “วิกฤตครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนชิ้นใหญ่ที่ทำให้เห็นหลายสิ่งชัดขึ้น นั่นคือมนุษย์ไม่ใช่ผู้ยิ่งใหญ่ที่กำหนดทุกอย่าง หากแต่ธรรมชาติยิ่งใหญ่กว่ามากนัก ดังนั้น การจะทำอะไรต้องนึกถึงธรรมชาติ อยู่ภายใต้สมดุลของธรรมชาติที่จะนำพาโลกมาถึงทุกวันนี้

เช่นเดียวกับในองค์กรถึงบริษัทจะมีธุรกิจที่ต้องดูแลอยู่มาก และสามารถไปได้ดี แต่ก็ต้องระมัดระวังและอย่าลืมว่ายังมีสิ่งที่ยังมองไม่เห็นอยู่อีกมาก ที่จะต้องระวังต่อการดำเนินกิจการอะไรต่าง ๆ”

ท้ายที่สุดความสุขของการทำร้านถูกดี มีมาตรฐาน คือ ชีวิตของคนเราเมื่อทำอะไรแล้ว เราสามารถเป็นผู้ให้ และได้รับพลังจากคนหนุ่มสาวจำนวนมากเข้ามาร่วมทำงานด้วย เพื่อปลุกปั้นธุรกิจโชห่วยของไทย แบ่งปันสู่รายเล็กรายน้อยในสังคม ด้วยการใช้เทคโนโลยี เพื่อผลักดันธุรกิจคู่คนไทยให้ทันยุคสมัยตามกาลเวลา