“เคเอฟซี” เสิร์ฟเมนูแพลนต์เบสรับเทรนด์สุขภาพโตแรง

“เคเอฟซี” โดดลุยตลาดแพลนต์เบส ประเดิมเสิร์ฟ 2 เมนู “ไก่ป๊อป-ข้าวยำไก่แซ่บ” ในร้าน Green Store 2 สาขา เจาะกลุ่มลูกค้าไม่ทานเนื้อสัตว์ เตรียมเพิ่มเมนูชุดเล็ก-อัดโปรโมชั่นถี่รองรับกำลังซื้อหดตัว พร้อมประกาศนโยบายลงทุนต่อดันแฟรนไชซี 3 ราย เร่งปูพรมเปิดสาขาใหม่ สารพัดโมเดล กวาดลูกค้ารอบทิศ

นางสาวภัทรา ภัทรสุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดอาวุโส สายงานสื่อสารแบรนด์ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับสิทธิร้านเคเอฟซีในประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น เป็นตัวแปรทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปและซับซ้อนมากขึ้น และถือเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัว เพื่อให้สอดรับกับความต้องการผู้บริโภคที่หลากหลายขึ้น

โดยเฉพาะภาพรวมตลาดไก่ทอดปัจจุบันมีมูลค่าราว ๆ 1.47 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอัตราการสั่งผ่านแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ที่เติบโตขึ้นกว่า 50% รวมถึงการปรับตัวด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับร้านโมเดลใหม่ ๆ มากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงหลังจากในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ รายได้จากช่องทางที่เป็น dine-in ลดลง อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ประกาศมาตรการคลายล็อกให้สามารถนั่งทานอาหารที่ร้านได้ คาดว่าช่องทาง dine-in จะเริ่มค่อย ๆ เพิ่มขึ้น

สำหรับเคเอฟซีเอง ขณะนี้แม้จะมีมาร์เก็ตอยู่ประมาณ 70% ของตลาดรวม แต่ก็ยังไม่หยุดที่จะพัฒนาและมองหาโอกาสการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด จากกระแสอาหารที่มีส่วนประกอบหลักมาจากพืช หรือแพลนต์เบส (plant based) ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก เคเอฟซีได้ลอนช์เมนูที่ทำจากแพลนต์เบส ออกมาทดลองตลาด โดยเริ่มต้นมี 2 เมนู คือ ไก่ป๊อปและข้าวยำไก่แซ่บ ราคา 49-179 บาท เข้าถึงง่าย โดยใช้วัตถุดิบจาก Meat Zero จากซีพีเอฟ โดยได้ใช้เวลาดิเวลอปเมนูแพลนต์เบสอยู่นานพอสมควร

โดยระยะแรกได้ทดลองวางขายในร้าน KFC Green Store 2 สาขา คือ สาขาอาคารแสงโสม และสาขาดีโป บาย วนชัย จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยระยะแรกวางจำหน่ายถึงปลายเดือนกันยายน ถ้าหากได้รับการตอบรับดีก็มีโอกาสปรับเป็นเมนูหลักของเคเอฟซี และเตรียมขยายไปยังสาขาอื่น ๆ รวมถึงการเพิ่มเข้าไปในช่องทางขายดีลิเวอรี่ โดยสเต็ปถัดไปเตรียมทยอยเพิ่มเมนูกลุ่มแพลนต์เบสเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคที่ไม่ทานเนื้อสัตว์

สำหรับกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานต่อจากนี้ บริษัทจะเน้นในการพัฒนาเพื่อเพิ่มแวลูเมนูใหม่ ๆ เน้นเพิ่มเมนูชุดเล็ก-ราคาคุ้มค่า เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อ และถือเป็นการเพิ่มความถี่ในการบริการ รวมไปถึงการปรับเอ็กซ์พีเรียนซ์และแพ็กเกจจิ้ง ให้เหมาะกับการทานที่บ้านมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการปรับระบบหลังบ้าน การขนส่งด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เก็บอุณหภูมิให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ลูกค้าที่บ้านทานให้อร่อยเหมือนทานที่ร้าน และวันนี้แม้หน้าร้านหรือสาขาต่าง ๆ จะกลับมาเปิดให้บริการได้แล้ว แต่บริษัทก็จะยังให้ความสำคัญกับช่องทางดีลิเวอรี่ควบคู่กันไป

ตลอดจนการเพิ่มน้ำหนักดีลิเวอรี่ด้วยการจัดโปรโมชั่น ทั้งการลดราคา และซื้อ 1 แถม 1 ร่วมกันกับแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ เนื่องจากลูกค้าบางกลุ่มยังต้องการความสะดวกสบายและเข้าถึงง่าย ล่าสุดได้จัดแคมเปญฉลองเดือนเกิดผู้พันแซนเดอร์ “GOLDEN BUCKET ลุ้นทองจากบักเก็ต สุขยิ่งกว่าแค่จอยกัน” (ถึง 29 กันยายนนี้)

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายเดินหน้าลงทุนขยายสาขา ผ่านการลงทุนของแฟรนไชซีทั้ง 3 ราย ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล, เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย บริษัทในเครือไทยเบฟ และเรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ หรืออาร์ดี โดยในครึ่งปีหลังนี้ คาดว่าจะมีการเปิดสาขาใหม่เพิ่มอีก 75 สาขา โดยจะเน้นไปที่โมเดลไดรฟ์ทรู สแตนด์อะโลน ร้านขนาดเล็กจำนวนที่นั่งในร้านอาจจะลดลง และมีพื้นที่ครัวใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับบริการดีลิเวอรี่ หลัก ๆ เน้นเข้าไปเปิดในทำเลที่มีชุมชนหนาแน่น

รวมไปถึงโมเดลรถฟู้ดทรัก ที่เน้นจำหน่ายเมนูขายดี ขณะนี้ได้เพิ่มรถฟู้ดทรักอีก 1 คัน รวมเป็น 3 คัน ภายใต้การดูแลของคิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย ที่ผ่านมาได้นำไปจอดขายอยู่ในทำเลที่มีทราฟฟิกหนาแน่น และสเต็ปถัดไปมีแผนจะเข้าไปจอดขายตามบริเวณโรงเรียน และย่านมหาวิทยาลัย

“สิ่งสำคัญ ยัม เรสเทอรองตส์ฯ ยังคงให้การสนับสนุนแฟรนไชส์ให้สามารถรักษามาตรฐานของแบรนด์ ด้วยการทำงานร่วมกัน ซัพพอร์ตด้านโอเปอเรชั่น รวมไปถึงการช่วยพิจารณาในการเปิดสาขาใหม่ ควบคู่กับการสร้างสรรค์นวัตกรรม และแคมเปญลอยัลตี้การตลาดใหม่ ๆ ด้วยการร่วมมือกับแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อสร้างฐานลูกค้าและให้สอดรับกับความต้องการของคนรุ่นใหม่”

พร้อมกันนี้ นางสาวภัทรายังกล่าวถึงการเปิดให้บริการภาครัฐคลายล็อกให้ร้านอาหารเปิดให้บริการนั่งทานในร้านได้ 50% ว่า เคเอฟซีได้เปิดให้บริการทุกสาขา และได้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันในทุกขั้นตอนการปฏิบัติงานและทุกกระบวนการผลิตอาหาร เน้นย้ำในเรื่องความสะอาด ปลอดภัย สุขอนามัย ที่ประกอบไปด้วย การคัดกรองอย่างเข้มงวด รักษาความสะอาดทั้งก่อนและหลังให้บริการ ตามด้วยเน้นย้ำมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และการให้บริการแบบไร้สัมผัส ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดเตรียมอาหารไปจนถึงขั้นตอนการชำระเงิน

“ช่วงแรกแม้ว่าประชาชนหรือลูกค้าจำนวนหนึ่งอาจจะยังมีความกังวลเรื่องการแพร่ระบาด แต่ประเมินว่าสถานการณ์และบรรยากาศการจับจ่ายจะเริ่มค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ” นางสาวภัทรากล่าว