เซ็นทรัล คว้าสิทธิที่ดิน “โรงหนังสกาลา” ปั้นช็อปปิ้งสตรีตใหม่กลางเมือง

เซ็นทรัลซื้อที่ดินโรงหนังสกาลา
แฟ้มภาพจาก ข่าวสด

เซ็นทรัลพัฒนา คว้าสิทธิพัฒนาที่ดิน Block A จากสํานักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยึดพื้นที่แลนด์มาร์กสำคัญ โรงภาพยนตร์สกาลา-อาคารพาณิชย์ 79 คูหาในย่าน 30 ปี ลุยรีโนเวตต่อยอดปั้นช็อปปิ้งสตรีตแห่งใหม่เจาะนักศึกษา

วันที่ 5 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่สํานักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้เอกชนผู้สนใจเช่าลงทุนพัฒนาพื้นที่บริเวณ Block A เขตพาณิชย์สยามสแควร์ ระยะเวลา 30 ปี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ล่าสุดวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ได้ประกาศให้บริษัท เซ็นทรัล พัฒนา จำกัด เป็นผู้ได้รับการพิจารณาคัดเลือก

ทั้งนี้ที่ดินBlock A สภาพปัจจุบัน ประกอบด้วย โรงภาพยนตร์สกาลา ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์สแตนด์อะโลนขนาด 1,000 ที่นั่ง เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2512หรือกว่า50ปี และพื้นที่อาคารพาณิชย์สูง 3-4 ชั้น จํานวน 79 คูหา ส่วนใหญ่ประกอบกิจการเป็นคลินิก ร้านอาหาร ร้านค้าสินค้าแฟชั่น เครื่องสําอาง ธนาคาร โรงเรียนกวดวิชา ฯลฯ ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกปทุมวัน จุดตัดระหว่างถนนพญาไทกับ ถนนพระรามที่ 1 ตรงข้ามกับสยามดิสคัฟเวอรี่ มีเนื้อที่โครงการทั้งหมดประมาณ 7 ไร่ 31 ตารางวา

โดย มติชนออนไลน์ ได้รายงานความเคลื่อนไหวล่าสุด อ้างแหล่งข่าวจาก บจ.เซ็นทรัลพัฒนา ว่า ทางสํานักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะส่งมอบพื้นที่ให้ในต้นปี 2565 จากนั้นบริษัทจะเดินหน้าดำเนินการในทันที โดยจะเป็นการปรับปรุงและรีโนเวตโครงสร้างเก่าให้เป็นศูนย์การค้าขนาดเล็ก ๆ คล้ายกับคอมมูนิตี้มอลล์ จะใช้เวลาดำเนินการไม่นานประมาณ 1 ปีเศษ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 เจาะกลุ่มนักศึกษาและคนทำงาน โดยจะเข้าเติมเต็มให้สยามแสควร์เป็นช็อปปิ้งสตรีต

“โครงสร้างเก่าเป็นโรงหนังสกาลา เราจะพยายามรักษาโครงสร้างเก่าไว้ให้มากที่สุด”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทางสำนักงานบริหารจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีแนวคิดการพัฒนาสร้างพื้นที่ให้เป็น Land mark ในเชิงการออกแบบสถาปัตยกรรมและแนวคิดการออกแบบที่กลมกลืน สอดคล้องกับพื้นที่แนวราบ และอัตลักษณ์ของสยามสแควร์ตามแนวคิดการเป็น Shopping Street ส่งเสริมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการ และพื้นที่โดยรอบ

อย่างไรก็ตามปัจจุบันธุรกิจในเครือเซ็นทรัลพัฒนา ประกอบด้วยธุรกิจพัฒนาโครงการศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นที่เกี่ยวเนื่องในรูปแบบโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสม ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน โรงแรม และที่พักอาศัย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับโครงการ โดยสิ้นปี 2562 มีอสังหาริมทรัพย์ภายใต้การบริหาร

ประกอบด้วย ศูนย์การค้า 34 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 15 แห่ง ในต่างจังหวัด 18 แห่ง และในประเทศมาเลเซีย 1 แห่ง อาคารสำนักงาน 7 แห่งในกรุงเทพฯ โรงแรม 2 แห่ง คือ โรงแรมเซ็นทาราและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ อุดรธานี และโรงแรมฮิลตัน พัทยา โครงการที่พักอาศัยเพื่อเช่า 1 แห่ง และโครงการที่พักอาศัยเพื่อขายที่สร้างเสร็จและพร้อมโอน 8 แห่ง นอกจากนี้ยังมีการลงทุน และทำหน้าที่เป็นผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ใน CPNREIT และ CPNCG

โดยธุรกิจศูนย์การค้าเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้กว่า 80% ของรายได้รวม ประกอบด้วย รายได้ค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีก รายได้จากการให้บริการระบบสาธารณูปโภคและระบบรักษาความปลอดภัย รายได้จากการให้บริการรักษาความสะอาดภายในศูนย์การค้า รายได้ค่าเช่าและการให้บริการพื้นที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์ รายได้จากการให้บริการสื่อโฆษณา รายได้จากการจัดกิจกรรมในพื้นที่ส่วนกลาง และธุรกิจอื่น ๆ ที่สนับสนุนศูนย์การค้า