“แฟรนไชส์” แห่ปิดตัวคืนสิทธิ์ ต้านพิษโควิดไม่ไหว-รายใหม่ชะลอลงทุน

พิษโควิดยังลามไม่หยุด ล็อกดาวน์ทำธุรกิจไม่ต่อเนื่อง เปิด ๆ ปิด ๆ รายได้ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย เผยแฟรนไชส์เครื่องดื่มเหนื่อยหนัก เศรษฐกิจ-กำลังซื้อ ทุบน่วม รายได้ไม่มี-ภาระต้นทุนหนักอึ้ง แบกไม่ไหว ทยอยคืนสิทธิ์-คืนพื้นที่ โบกมือลา โอดเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก ขณะที่นักลงทุนชะลอแผนขยายธุรกิจ ย้ำไม่วางใจสถานการณ์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่กระทบระลอกแล้วระลอกเล่า ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่มต้องเผชิญกับความยากลำบาก ต้องแบกรับต้นทุนสูง ขณะเดียวกันลูกค้าก็ยังไม่กลับมาใช้จ่าย ซึ่งมีตัวแปรด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้อเข้ามาเป็นโจทย์ใหญ่ ทำให้อยู่ต่อไม่ไหวต้องโบกมือออกจากตลาดไป

ต้านไม่ไหว-ทยอยปิดร้าน

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการนมพร้อมดื่มรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นและลากยาวมาเกือบ 2 ปี ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ร้านเครื่องดื่มค่อนข้างลำบาก โดยที่ผ่านมามีแฟรนไชซีจำนวนหนึ่งที่ได้ทยอยขอคืนแฟรนไชส์ รวมทั้งมีการคืนพื้นที่ให้กับเจ้าของพื้นที่ โดยเฉพาะรายที่เน้นการเปิดร้านในเทสโก้ โลตัส บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สถานีบริการน้ำมัน รวมถึงสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เนื่องจากไม่มีรายได้เข้ามา เพราะต้องปิดร้านในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ แต่ตรงกันข้ามยังต้องแบกรับค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเช่าพื้นที่ พนักงาน

“ตอนนี้ แม้ว่าภาครัฐเริ่มผ่อนคลายธุรกิจแล้ว แต่ทราฟฟิกยังไม่กลับมา ผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่ายจากปัญหาเรื่องกำลังซื้อ ประกอบกับการแข่งขันสูง จึงทำให้ยังมีภาพของการทยอยคืนแฟรนไชส์เพิ่มอย่างต่อเนื่อง”

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น เซ็น อากะ ร้านอาหารญี่ปุ่น ปิ้งย่าง และแฟรนไชซอร์ ร้านอาหารตามสั่ง “เขียง” แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว ลากยาวมาถึงปีนี้มีผลต่อสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้ออย่างมาก และกระทบถึงธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร ร้านกาแฟ ขนาดเล็กไปจนถึงกลาง ทั้งร้านในศูนย์การค้า สถานีบริการน้ำมัน ตลาดสด ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการหายไปกว่า 80-90%

เมื่อไม่มีรายได้เข้ามา แต่รายจ่ายยังมีต่อเนื่อง ทั้งค่าแรกเข้า ค่ารายเดือน ค่าวัตถุดิบ และค่าจ้างพนักงาน ไปจนถึงค่าเช่าพื้นที่ แม้ทางการจะเริ่มทยอยคลายล็อก ธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดให้บริการ แต่ตอนนี้ในแง่ทราฟฟิกยังไม่กลับมา 100% รายจ่ายไม่บาลานซ์กับรายรับ สภาพคล่องเริ่มมีปัญหา ปัจจุบันแม้แต่รายใหญ่ยังเหนื่อย แต่น้อยกว่ารายเล็ก วันนี้หากจะลงทุนต้องคิดหนัก บางธุรกิจต้องเลื่อนแผนงานออกไป เพื่อเก็บเงินสด รอประเมินสถานการณ์ปลายปี ไปจนถึงปีหน้า เพราะตอนนี้โควิดยังมีการระบาด ทุกอย่างเสี่ยงหมด เวฟ 5 เวฟ 6 จะมาอีกหรือไม่ ยังไม่มีใครประเมินได้

“ในช่วงล็อกดาวน์ ธุรกิจเปิด ๆ ปิด ๆ ไม่มีความต่อเนื่อง ทุนเริ่มหาย ธุรกิจเริ่มไปต่อไม่ได้ สิ่งที่ผู้ประกอบการแฟรนไชส์รายเล็กต้องการ คือ การเข้าถึงแหล่งทุน ทางออกที่จะช่วยเรื่องนี้ได้ คือ สถาบันการเงินควรเปลี่ยนกฎเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อใหม่ ไม่ควรนำหลักเกณฑ์การขอสินเชื่อของรายใหญ่มาใช้กับรายย่อย”

ซีอีโอบริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น ระบุว่า สำหรับเซ็น คอร์ปอเรชั่นเองต้องยอมรับว่า มีการปิดร้านอาหารบางสาขา แต่ด้วยสเกลธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ และยังมีสาขาจำนวนมากที่ทำรายได้ มีแคชโฟลว์ และเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย จึงสามารถเดินหน้าขยายสาขาร้านอาหารตามสั่ง เขียง อีกราว ๆ 50 สาขา

นักลงทุนชะลอลงทุน

นางสาวภคมน สมบูรณ์เวชชการ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โกลเด้น ครีม จำกัด ผู้บริหารร้านกาแฟ “ดิโอโร่” ยอมรับว่า ภาพรวมการทำธุรกิจแฟรนไชส์ร้านเครื่องดื่มในช่วงสถานการณ์ที่มีโควิดรวมค่อนข้างเหนื่อย โดยเฉพาะรายที่เน้นการเปิดสาขาในห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้า เนื่องจากมีความเสี่ยงรอบด้าน จากสภาพตลาดค่อนข้างซบเซา เมื่อผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ ก็กระทบกับการเปิดร้าน ยอดขายไม่มา แต่ค่าใช้จ่ายและต้นทุนวัตถุดิบ ต้องแบกรับต้นทุนสูง แม้ตอนนี้จะเริ่มผ่อนคลายกิจกรรมต่าง ๆ แต่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านน้อยลง ทำงานที่บ้านมากขึ้น และระมัดระวังการจับจ่าย ทำให้หลายรายไม่สามารถแบกรับภาระที่เกิดขึ้นได้ ต้องปิดให้บริการไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับร้านกาแฟดิโอโร่เอง ที่เน้นการขายแฟรนไชส์สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนและมีกิจการเป็นของตัวเอง ที่ผ่านมาก็ต้องปรับตัว ด้วยการเน้นการคัดกรองพาร์ตเนอร์อย่างละเอียด รวมไปถึงทำเลต้องดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการคืนสัญญาก่อนกำหนด

“แฟรนไชส์ก็เหมือนเข้ามาเป็นครอบครัวเดียวกัน และจะต้องเติบโตไปด้วยกันในระยะยาว วันนี้แม้ตลาดอาจจะเงียบ แต่ยังมีผู้สนใจติดต่อเข้ามา แต่ยังไม่ตัดสินใจ ยังไม่ลงทุน เพราะรอประเมินบรรยากาศต้นปีหน้า”

แฟรนไชส์รายเล็กเหนื่อยหนัก

นายสุภัค หมื่นนิกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีซี่ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟรนไชส์ จำกัด ผู้บริหารร้านแฮมเบอร์เกอร์ Siam Steak และผู้ก่อตั้งสถาบันธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันแฟรนไชส์มีอยู่ 3 เซ็กเมนต์ ประกอบไปด้วย แฟรนไชซอร์รายใหญ่ เช่น อเมซอน, แบล็ค แคนยอน และไมเนอร์ฟู้ด จะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะมีกำลังซัพพอร์ตแฟรนไชซี ทั้งเรื่องของแบรนดิ้ง มาร์เก็ตติ้ง ช่องทางขายออนไลน์ ออฟไลน์ รวมทั้งมีการปรับโมเดลธุรกิจทั้ง short term-long term อย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้

ถัดมาคือ แฟรนไชซอร์ขนาดกลาง ประเภทลงทุนหลักแสนบาท อาทิ ร้านกาแฟ ร้านชานมไข่มุก ขนมปังเบเกอรี่ ฯลฯ บางรายปรับตัวหันไปเพิ่มช่องทางจำหน่ายที่เป็นดีลิเวอรี่ เพื่อประคับประคองธุรกิจ ขณะที่บางแบรนด์มีการปรับตัวช้าหรือไม่ปรับตัว ยังขายสินค้าเดิม ๆ ช่องทางขายเดิม ๆ จึงไม่สามารถดึงลูกค้าได้ รายได้ไม่มีต้องปิดกิจการ ส่วนแฟรนไชส์ที่ลงทุนหลักพันไปจนถึงหลักหมื่นบาท ส่วนใหญ่จะเน้นขายสินค้า วัตถุดิบ ร้านเหล่านี้แข่งกันด้วยการขายแฟรนไชส์ราคาถูก

“ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดยิ่งทำให้การดำเนินธุรกิจยากขึ้น บวกกับพฤติกรรมผู้บริโภคมีความซับซ้อน จะเห็นว่าแฟรนไชส์ที่เน้นขายสินค้าปิดไปจำนวนมาก เนื่องจากผู้บริหารแฟรนไชซอร์ปรับตัวช้า และไม่หาช่องทางขายใหม่ ๆ สำหรับองค์กรใหญ่ ๆ จะมองว่าโควิด คือ โอกาส หาช่องทางใหม่ ๆ ทั้งดีลิเวอรี่ และมาร์เก็ตเพลซ และเน้นคัดเลือกพื้นที่ขายที่มีคุณภาพ แต่หากเป็นรายที่เน้นขายแฟรนไชส์ให้ได้มาก ๆ ผลที่ตามมา คือ ไปไม่รอด อย่างไรก็ตาม แม้วันนี้ธุรกิจต่าง ๆ เริ่มคลายล็อก แต่ยังมีพื้นที่ที่เปิดบ้าง ปิดบ้าง ทุกอย่างยังไม่กลับมา ทำให้ธุรกิจบางประเภทไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ เพราะลูกค้ายังไม่มากำลังซื้อไม่มี ซึ่งหากจะลงทุนต้องรอเวลา ถ้าร้านไม่ได้อยู่ในทำเลที่เหมาะสมก็ลำบาก” นายสุภัคกล่าว