กรมการแพทย์ เผยความคืบหน้า เจรจาไฟเซอร์ นำเข้ายาต้านโควิด

กรมการแพทย์เผยความคืบหน้านำเข้ายาไฟเซอร์

กรมการแพทย์เผยความคืบหน้ายาต้านโควิด “แพกซ์โลวิด” เซ็นสัญญาไฟเซอร์แล้ว เป็นเอกสารไม่เปิดเผยข้อมูล

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า วานนี้ บริษัทไฟเซอร์เพิ่งประกาศความสำเร็จ ในการพัฒนายารักษาโควิด-19 ที่มีชื่อว่า “แพกซ์โลวิด” (Paxlovid) ช่วยลดการรักษาตัวในโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ประเทศอังกฤษ เพิ่งประกาศอนุญาตให้ใช้ยาเม็ดรักษาโควิด “โมลนูพิราเวียร์” ของบริษัทเมอร์คได้

แต่กว่ายาเหล่านี้ จะเริ่มมีออกมาให้ใช้ ก็คงจะเป็นในช่วงต้นปีหน้าครับ โดยผมได้เน้นย้ำกับทางกระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว ว่าให้เร่งดำเนินการในทันที เพื่อสั่งซื้อยาตั้งแต่ตอนนี้ จะได้เป็นคิวแรก ๆ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด มติชน รายงานว่า นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดซื้อยาต้านไวรัสโควิด-19 ชนิดเม็ด คือ ยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) จากบริษัทไฟเซอร์ว่า ทางกรมการแพทย์ได้เชิญทางบริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทยมาหารือร่วมกันเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว โดยทางบริษัทระบุว่า เราต้องเซ็นเอกสารไม่เปิดเผยข้อมูล (confidential disposal agreement) ซึ่งเราได้เซ็นไปแล้ว

เท่าที่ทราบข้อมูลขณะนี้ทางบริษัทยังไม่ได้กำหนดว่าจะขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA) เมื่อไหร่ และยังไม่ได้แจ้งรายละเอียดการใช้ยารวมถึง ราคาที่จะขายให้กับเรา

นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ยาแพกซ์โลวิด และ ยาโมลนูพิราเวียร์ ออกฤทธิ์คนละที่ โดยยาโมลนูพิราเวียร์ออกฤทธิ์คล้ายยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ที่ยับยั้งการจำลองตัวเองของไวรัสไม่ให้แบ่งตัวออกไป ส่วนยาแพกซ์โลวิด ออกฤทธิ์ร่วมกับยาอีกตัวที่เป็นโปรตีเอส อินฮิบิเตอร์ (protease inhibitor) ซึ่งน่าจะใช้ร่วมกับนาโมลนูพิราเวียร์ได้

“สำหรับผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่มีอาการ หรือแข็งแรงดี โดยหลักการคือไม่ควรใช้ยา โดยเฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิดมาแล้ว เพราะอาการจะไม่รุนแรงอยู่แล้ว ยาก็มีข้อดีข้อเสียด้วย ดังนั้น เราต้องดูตามความรุนแรงของผู้ติดเชื้อ แต่ทางที่ดีเราควรป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ แม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม” นพ.สมศักดิ์กล่าว และว่า

สำหรับการทดลองยาต้านไวรัสทั้ง 2 ตัว ใช้ในผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรค โดยเป็นกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้สูงอายุมีปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคในอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉะนั้น คนที่แข็งแรงดีแล้วติดเชื้อไม่ต้องใช้ยา

“เราพร้อมนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย คาดว่าไม่มีน่าจะเกิดปัญหาอะไร แต่ก็ไม่อยากให้เราหวังกับยาเพียงอย่างเดียว เพราะการฉีดวัคซีนแล้วป้องกันตัวเองดี ๆ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด” นพ.สมศักดิ์กล่าว