ธนินตนาการ

บทความ โดย หนุ่มเมืองจันท์
Market-think
สรกล อดุลยานนท์

 

วันก่อน มีโอกาสได้สัมภาษณ์ คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF บนเวทีสัมมนาของ “ประชาชาติธุรกิจ”

“Unlock Value ก้าวสู่เส้นทางใหม่ ไร้ขีดจำกัด”

คุณประสิทธิ์เพิ่งกลับจากสหรัฐอเมริกา นอกเหนือจากได้สัมผัสบรรยากาศการใช้ชีวิตแบบปกติของคนอเมริกันแล้ว

เรื่องหนึ่งที่เป็นเป้าหมายในการไปสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ คือ เรื่องเนื้อสัตว์จากพืช หรือ plant-based

ไม่รู้ว่าตลอดทั้งทริปจะได้กินเนื้อสัตว์จริง ๆ บ้างหรือเปล่า

ผมจำได้ว่าเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ผู้บริหาร “มติชน” เคยนั่งสนทนากับ คุณธนินท์ เจียรวนนท์

นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องธุรกิจของ ซี.พี.แล้ว

มี 2 เรื่องที่ผมจำได้แม่น

เป็นเรื่อง “จินตนาการ” ของคุณธนินท์

หรือที่ผมเรียกว่า “ธนินตนาการ”

เรื่องแรก คุณธนินท์เล่าว่า ความต้องการไก่ของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน

บางประเทศ ชอบน่องไก่

บางประเทศ ชอบอกไก่

คุณธนินท์ตั้งคำถามว่า ทำไมเราไม่ทำให้ไก่บางพันธุ์มีขา 4 ขา หรือผลิตไก่
ที่มีอกใหญ่ ๆ

จะได้ขายอก หรือน่องไก่ได้เยอะ

เรื่องนี้ถ้าคนพูดไม่ใช่คุณธนินท์ มันจะเป็น “เรื่องโจ๊ก” เรื่องหนึ่ง

แต่พอคนพูดเป็นคุณธนินท์

เราเลยเรียกว่า “ความคิดสร้างสรรค์”

เรื่องที่สอง คุณธนินท์ตั้งคำถามว่า ปลา ไก่ หมู หรือวัว กินสาหร่าย กินพืชต่าง ๆ เป็นอาหาร แล้วสะสมเป็นเนื้อ

แล้วทำไมเราไม่เอาพืชที่สัตว์ต่าง ๆ กิน เอามาทำเป็นเนื้อเลย

ไม่ต้องเลี้ยงให้เสียเวลา

เรื่องนี้เป็น “เรื่องโจ๊ก” อีกเรื่องหนึ่ง

ถ้าคนพูดไม่ใช่คุณธนินท์

ผมจำ 2 เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

เพราะเป็นเรื่องเล่าที่มีเสน่ห์

ผมเคยนำ “ธนินตนาการ” มาเขียนแล้วครั้งหนึ่ง หลังจากสัมภาษณ์เสร็จ

ที่หยิบยก 2 เรื่องนี้มาเล่า เพราะเรื่องที่คนคิดว่าเป็น “เรื่องโจ๊ก” เรื่องหนึ่ง

วันนี้เป็นจริงแล้ว

plant-based คือ การผลิตเนื้อสัตว์จากพืช

รสชาติคล้ายกัน แต่ไม่ต้องเลี้ยง

ตอนที่มีข่าวเรื่อง plant-based ผมนึกถึง “ธนินตนาการ” เรื่องนี้ขึ้นมาทันที

แล้วสรุปในใจ

“มิน่าถึงรวย”

อีกเรื่องหนึ่ง ผมเคยถามคุณธนินท์เมื่อ 2-3 ปีก่อน ตอนนั้นกระแสดิสรัปต์มาแรง

ผมถามว่าจะมีอะไรที่จะดิสรัปต์ธุรกิจอาหารของ ซี.พี.บ้าง

คุณธนินท์ตอบสั้น ๆ ว่า “plant-based”

ช่วงนั้น plant-based เพิ่งเริ่มต้น

แต่ลองคิดดี ๆ plant-based น่ากลัวจริง ๆ

ลองนึกดูสิครับว่า วันใดที่เขาสามารถผลิตเนื้อสัตว์จากพืชที่มีรสชาติเหมือนเนื้อสัตว์จริง ๆ โดยที่มีต้นทุนเท่ากับการเลี้ยงสัตว์

วันนั้น ธุรกิจเนื้อสัตว์จริง ๆ มีโอกาสที่จะโดนดิสรัปต์สูงมาก

แต่ตอนนี้ต้นทุนการผลิตยังสูงอยู่ คุณประสิทธิ์บอกว่า ที่สหรัฐอเมริกา ราคาแพงกว่าเนื้อสัตว์จริง ๆ ประมาณ 40-50%

ส่วนของ “ซีพีเอฟ” ตั้งเป้าหมายไว้เลยว่า ราคาจะสูงกว่าเนื้อสัตว์แค่ 20%

ตั้ง “ราคาขาย” ไว้ก่อนเลย

แล้วไปจัดการเรื่อง “ต้นทุน” ให้ได้

ครับ “ซีพีเอฟ” กำลังเริ่มลุยตลาด plant-based อย่างจริงจัง

การป้องกันการดิสรัปต์ที่ดีที่สุด คือ การโจมตีตัวเอง

ในเมืองไทยที่ “ซีพีเอฟ” ทำขายแล้ว คือ ยี่ห้อ MEET ZERO มีขายใน 7-11

และกำลังจับมือกับสตาร์ตอัพหลายแห่ง ผลิตเนื้อสัตว์จากพืช

ที่สิงคโปร์ก็เพิ่งจัดประกวดสตาร์ตอัพเรื่องนี้ และได้มาเจ้าหนึ่งซึ่งทาง ซี.พี.จะร่วมลงทุนด้วย

และการที่ CEO อย่างคุณประสิทธิ์ลงทุนไปสำรวจตลาดสหรัฐอเมริกา เรื่อง plant-based ด้วยตัวเอง

แสดงว่าเรื่องนี้ “ซีพีเอฟ” เอาจริง

คุณประสิทธิ์เป็น “คนเก่ง” มาก ช่วงที่ผ่านมามีสินค้านวัตกรรมใหม่ ๆ ของซีพีเอฟออกมาเยอะมาก

ไก่เบญจา ไก่พรีเมี่ยมที่เลี้ยงด้วยข้าวกล้อง

หมูชีวา ที่เป็นหมูพันธุ์ใหม่เลี้ยงด้วยอาหารที่มีส่วนผสมของสาหร่าย เพื่อให้ไขมันหมูมีโอเมก้า 3

ตอนนี้เริ่มลุย plant-based

ตั้งเป้าหมายว่า ตลาดนี้ “ซีพีเอฟ” จะเป็นที่ 1 ในเอเชีย

และที่ 3 ของโลก

จับตาเรื่องนี้ดี ๆ นะครับ