ยักษ์ร้านอาหารมองข้ามโควิด กางแผนลงทุนผุดสาขาบุกต่างจังหวัด

kfc

ธุรกิจร้านอาหารรายใหญ่ ไม่หวั่นโอไมครอน 3 ยักษ์กางแผนรุกตลาดปี’65 “ซีอาร์จี” ปูพรมคลาวด์คิทเช่น คีออสก์ ควบคู่สร้างแบรนด์ใหม่-ซื้อแบรนด์ใหม่เสริมทัพ ส่วน “เซ็น คอร์ปอเรชั่น” ไม่น้อยหน้า เพิ่มดีกรีขายแฟรนไชส์ ปิ้งย่าง อากะ-อาหารตามสั่ง เขียง สยายปีกบุกต่างจังหวัด ขณะที่ “ไมเนอร์ ฟู้ด” เล็งเพิ่มพอร์ตเครื่องดื่ม-ร้านอาหารจีน

แม้ปัจจัยลบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบธุรกิจร้านอาหารมาอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันแม้ทราฟฟิกร้านอาหารทั้งในศูนย์การค้าจะกลับมากว่า 90% แต่หลาย ๆ บริษัทกลับมีปัญหาเรื่องขาดแคลนพนักงาน

ล่าสุดโควิดส่งสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน กลับมาโจมตีในช่วงก่อนจะเข้าสู่หน้าขายสำคัญในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ แต่สำหรับปีหน้าที่จะมาถึง ร้านอาหารรายใหญ่ยังมองว่าเป็นโอกาสและมีแผนการลงทุนขยายสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

ซีอาร์จี จับตา ศก.ฟื้นตัวช้า

นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี ผู้บริหารแบรนด์ร้านอาหาร อาทิ มิสเตอร์ โดนัท, เคเอฟซี, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์ ฯลฯ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจอยู่บนสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน การระบาดของโควิดโอไมครอนยังไม่สามารถจะประเมินได้ว่ามีรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวมองว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เพียงแต่การฟื้นตัวอาจไม่ได้เร็วมากนัก

อย่างไรก็ตาม ซีอาร์จียังมีแผนจะลงทุนเพื่อขยายสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2565 มีแผนขยายสาขาจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบคลาวด์คิทเช่น และคีออสก์ เน้นขยายทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด รวมถึงการ diversify พอร์ตโฟลิโอ ทั้งการลงทุนสร้างแบรนด์และซื้อแบรนด์ใหม่เข้ามาเสริม เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารที่มีมูลค่าราว ๆ 4 แสนบาท ยังมีแนวโน้มเติบโตและยังมีโอกาสเพราะผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาทานอาหารนอกบ้านหรือซื้ออาหารสำเร็จรูปมาทานที่บ้านมากขึ้น รวมถึงการขยายตัวของเมืองที่เกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของศูนย์การค้าใหม่ ๆ ที่มีต่อเนื่อง

“ที่สำคัญคือ เน้นการวางแผนงานให้มีความยืดหยุ่นและมีการกระจายความเสี่ยงให้มากขึ้น หากสถานการณ์โควิดสามารถควบคุมได้ บริษัทจะเดินหน้าขยายสาขาตามแผน แต่ในทางกลับกันหากมีการระบาดหนักจนเกิดการล็อกดาวน์อีกครั้ง คงต้อง hold แผนไว้ก่อน และรอจังหวะที่เหมาะสม”

ขณะเดียวกันก็จะเน้นการบริหารจัดการที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในส่วนของวัตถุดิบอาจจะต้องมีการสต๊อกเพิ่ม หรือการหาแหล่ง หรือ source ใหม่ ๆ เพื่อลดผลกระทบของสินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็จะมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ เช่น ระบบ QR menu, ระบบ POS ใหม่ ที่ช่วยลดงาน operation routine ลด process การทำงาน ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาแรงงานแล้วยังช่วยลดทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ

ส่วนปัญหาเรื่องพนักงานขาด นอกจากการรักษาพนักงานเดิมที่มีอยู่ ด้วย incentive ในรูปแบบต่าง ๆ แล้ว ขณะเดียวกันก็จะเน้นการพัฒนาทักษะพนักงานให้สามารถทำได้หลายหน้าที่ และเพิ่มช่องทางในการรับสมัครเพื่อรีครูตพนักงานเพิ่ม ขณะที่ในแง่ของการตลาดก็จะต้องมีการรีวิว การปรับเพิ่มเมนูสินค้าและการลอนช์โปรโมชั่นให้เหมาะสมขึ้น

เซ็นฯชูแฟรนไชส์ ขยายสาขา

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น เซ็น อากะ ร้านอาหารญี่ปุ่น ปิ้งย่าง, มูฉะข้าวหน้าล้น, ออน เดอะ เทเบิล อาหารสไตล์ฟิวชั่น, อาหารตามสั่ง เขียง ฯลฯ กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น โดยส่วนตัวมองว่าเราต้องใช้ชีวิตอยู่กับโควิดไปอีกนาน ดังนั้นจะต้องปรับตัวอยู่กับโควิดให้ได้ ส่วนการระบาดของสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนในขณะนี้มีความกังวลว่า หากเกิดล็อกดาวน์อีกรอบอาจทำให้ธุรกิจและสภาพเศรษฐกิจหยุดชะงักและฟื้นตัวยาก

นอกจากนี้ ปี 2565 ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องรับมือกับต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ จากปัจจัยในเรื่องของราคาที่เพิ่มขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงค่าระวางสินค้า (freight) สิ่งที่ต้องบริหารเบื้องต้น คือเรื่องวอลุ่ม ด้วยการพยายาม integrate แบรนด์ต่าง ๆ ให้ใช้วัตถุดิบที่มาจากแหล่งเดียวกัน และอาจจะต้องไป sourcing จากซัพพลายเออร์หลาย ๆ ราย ส่วนปัญหาแรงงานขาดแคลนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็จะต้องหาอินเซนทีฟเข้าจูงใจ รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วย

ขณะเดียวกันจากปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องมีการวางแผนการจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ ใหม่ เพราะหากจัดโปรโมชั่นถี่มากจะกระทบต้นทุน และอาจจะต้องหันไปเน้นการสร้างประสบการณ์ หรือเอ็กซ์พีเรียนซ์ในการทานมากขึ้น

นายบุญยงย้ำว่า ปีหน้าจะให้ความสำคัญกับการขยายสาขาเพิ่ม โดยเฉพาะการขยายแฟรนไชส์ ร้านอาหารปิ้งย่าง อากะ และร้านอาหารตามสั่ง เขียง ที่เน้นเปิดในต่างจังหวัดมากขึ้น โดยการเปิดสาขาเพิ่มจะเน้นการ relocate จะมีมากขึ้น หาจุดขายที่คล่องตัวมากขึ้น และไม่กระจุกอยู่ในศูนย์การค้า แต่ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายที่จะรีวิวแผนและกลยุทธ์ต่าง ๆ ทุก ๆ 3 เดือน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ไม่มีอะไรแน่นอน โดยเฉพาะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ไมเนอร์ฯลุยเครื่องดื่ม-อาหารจีน

นายประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านอาหารแบรนด์เดอะพิซซ่า คอมปะนี, ซิซซ์เล่อร์, แดรี่ควีน, เบอร์เกอร์คิง, สเวนเซ่นส์ เป็นต้น ได้ประเมินสถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารปี’65 ว่า มีแนวโน้มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แม้จะมีการระบาดของโควิดโอไมครอน หากสามารถควบคุมสถานการณ์และรับมือได้ และไม่มีการล็อกดาวน์ ปีหน้าทั้งปีธุรกิจจะต้องปรับตัวอยู่กับโควิด รวมถึงรับมือกับปัจจัยเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่เป็นตัวแปรให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน เช่นเดียวกับ ไมเนอร์ ฟู้ด มุ่งให้ความสำคัญกับการคิดค้นและพัฒนาแบรนด์ ทั้งในแง่ของเมนูและช่องทางขายเพื่อเพิ่มความหลากหลาย ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และพฤติกรรมผู้บริโภค

สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ การให้ความสำคัญกับช่องทางดีลิเวอรี่ เพื่อช่วยสร้างรายได้ รวมไปถึงการลงทุนขยายสาขาเพิ่ม โดยทุกแบรนด์ของไมเนอร์ ฟู้ด จะยังเดินหน้าเปิดร้านให้ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด อาทิ บอนชอน เบอร์เกอร์คิง และซิซซ์เล่อร์ เป็นต้น โดยรวมร้านอาหารทุกแบรนด์เตรียมเปิดสาขาใหม่เพิ่มอีกราว ๆ 50 แห่ง ส่วนใหญ่มุ่งไปเปิดในพื้นที่ต่างจังหวัด

นายประพัฒน์ย้ำว่า ขณะเดียวกันก็จะมีการ diversify เพื่อเพิ่มพอร์ตโฟลิโอ ด้วยการมองหาร้านอาหารใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีในเครือเข้ามาเพิ่ม โดยที่สนใจหลัก ๆ มีทั้งเครื่องดื่มและอาหารจีน ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษา

“ผลกระทบจากโควิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องเจอกับปัญหา ทั้งในเรื่องของราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และแรงงานขาดแคลน ส่งผลให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น และจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้”