สธ.ชี้หากคุมโอไมครอนไม่อยู่ติดเชื้อ 3 หมื่นคน/วัน ตายทะลุ 180 คน/วัน

โควิด โอไมครอน
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

สธ.ประเมินสถานการณ์โอไมครอนในไทยติดเชื้อแล้ว 14 จังหวัด ชี้มาตรการหย่อนสุด ติดเชื้อ 3 หมื่นราย/วัน ตายสูงวันละ 180 ราย

วันที่ 27 ธันวาคม 2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันโควิดสายพันธุ์โอไมครอนกระจายมากกว่า 106 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยขณะนี้พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนราว 514 ราย กระจายใน 14 จังหวัด โดยหลัก ๆ จะเข้ามาจาก 3 ช่องทาง ได้แก่ Test and Go, Sandbox และ Quarantine

ยอดติดเชื้อโอไมครอนพุ่ง 514 ราย ศบค.เผยระบาดแล้ว 10 จังหวัด

ส่วนใหญ่อยู่ในการควบคุม แต่บางส่วนมีการหลุดออกไปบ้าง ซึ่งพบว่ามีออกไปเยี่ยมญาติ และอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดได้

ขณะที่จากข้อมูลในประเทศอังกฤษและแอฟริกา รายงานตรงกันว่า โอไมครอนก่อให้เกิดการเข้า รพ. น้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้าถึงครึ่งหนึ่ง และมีแนวโน้มอาการมีความรุนแรงน้อยกว่า โดยอาการส่วนใหญ่อยู่ที่ทางเดินหายใจส่วนบน (บริเวณหลอดลมและลำคอ) มากกว่าบริเวณปอด ทว่าเมื่อเชื้อลงปอดจะมี “อาการรุนแรง” ไม่ต่างจากเดลต้า

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวขยายความเพิ่มเติมว่า สำหรับอาการโอไมครอนแบ่งออกตามสัดส่วนได้ ดังนี้ กลุ่มไม่มีอาการถึงอาการน้อย 90% และกลุ่มอาการมาก 3-4%

โดยข้อมูลจากผู้ป่วยโอไมครอนที่รับการรักษาในไทยขณะนี้ราว 41 ราย อาการที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ ไอ 54% เจ็บคอ 37% ไข้ 29% ปวดกล้ามเนื้อ 15% มีน้ำมูก 12% ปวดศีรษะ 10% หายใจลำบาก 5% และไม่ได้กลิ่น 2%

“ปัจจุบันประเทศไทยยังให้ยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วยโควิด โดยผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวเมื่อรับยาตั้งแต่ต้นจะมีอาการดีขึ้นภายใน 24-72 ชม. ด้านยาตัวอื่น ๆ ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนในไทย ซึ่งแพกซ์โลวิดของไฟเซอร์ที่มีการสั่งซื้อไปนั้น คาดว่าจะใช้ในไทยได้เร็วที่สุดราว ก.พ. ปี 65 โดยยังต้องผ่านการขึ้นทะเบียน อย. เสียก่อน”

สำหรับการคาดการณ์ฉากทัศน์การระบาดของโอไมครอนในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 หรือราว 3 เดือนข้างหน้านี้ จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับขึ้นอยู่กับมาตรการการควบคุมโรคในประเทศ

โดยแบบจำลองที่ 1 (เส้นสีเทา) ในกรณีประชาชนให้ความร่วมมือมาตรการ UP น้อย ไม่มีการยกระดับการป้องกันเมื่อเกิดการรวมตัวของกลุ่มคน สถานประกอบการไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการ VUCA ได้ และการฉีดวัคซีนเฉลี่ย 2-3 ล้านโดส/สัปดาห์ จะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดในระดับสูง คาดว่าจะติดเชื้อสูงสุดถึง 3 หมื่นรายต่อวัน และเสียชีวิตที่ราว 170-180 ราย/วัน

ส่วนแบบจำลองที่ 2 (เส้นสีส้ม) ในกรณีมีมาตรการอยู่ในระดับปานกลาง กล่าวคือ ไม่ได้ยกระดับการป้องกันขึ้น แต่ประชาชนให้ความร่วมมือมาตรการ UP ดี และสถานประกอบการปฏิบัติตามมาตรการ VUCA ได้ การฉีดวัคซีนเฉลี่ย 2-3 ล้านโดสต่อสัปดาห์ จะมีการติดเชื้อ 1.5-1.6 หมื่นรายต่อวัน และเสียชีวิต 100 ราย/วัน

ส่วนแบบจำลองที่ 3 (เส้นสีเขียว) มาตรการคุมเข้มสูงสุด ประชาชนให้ความร่วมมือมาตรการ UP เต็มกำลัง ลดการรวมกิจกรรมคนหมู่มาก สถานประกอบการปฏิบัติตามมาตรการ VUCA ได้ ผับบาร์เปิดแต่ควบคุมได้ดี และการปูพรมวัคซีนเข็ม 1-4 ได้ครอบคลุมทุกกลุ่ม จะติดเชื้อวัน 1 หมื่นรายต่อวัน และเสียชีวิต 50-60 ราย/วัน

โดยสิ่งที่ สธ. ตั้งเป้าคือการยกระดับการปฏิบัติตัวในแบบจำลองที่ 3 เพื่อลดอัตราการแพร่เชื้อให้ไม่สูงมาก อยู่ในเกณฑ์ที่ระบบสาธารณสุขและเตียง รพ. ในประเทศรองรับไหว และอัตราผู้เสียชีวิตน้อยที่สุด

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สำหรับการรับมือ ปัจจุบันไทยมีเตียงรองรับได้ถึง 1.7 แสนเตียง จากเดิมช่วงติดเชื้อพีกสุดมีถึง 2 แสนเตียง โดยระดับเตียงแบ่งเป็นเตียงแดง 5 พันเตียง ใช้ไปแล้ว 31.6% เตียงเหลือง 6 หมื่นเตียง ใช้ไป 25.6% และเตียงเขียว 1.12 แสนเตียง ใช้ไป 6.4% และมีแนวโน้มเพิ่มได้อีกเรื่อย ๆ

ส่วนยารักษาโควิดที่สำรองในประเทศมียาฟาวิพิราเวียร์ 15 ล้านเม็ด และยา Demdesivir 100 mg 4.4 หมื่น (Vial) คาดว่าจะใช้ได้อีกราว 2 เดือน จากการใช้เฉลี่ย 1.8 แสนเม็ด/สัปดาห์ ประเมินได้ว่าทั้งเตียงและยายังเพียงพอไม่ถือว่าวิกฤต