เนเจอร์เฮิร์บบุกตลาดต่างประเทศ ขนทัพสมุนไพรโกยเงินนอก

เนเจอร์เฮิร์บบุกตลาดต่างประทเศ ขนทัพสมุนไพรโกยเงินนอก

เนเจอร์ เฮิร์บเปิดเกมรุกตลาดสมุนไพรปี’65 ผุด 10 สินค้าสมุนไพร-ยาสมุนไพร-เวชสำอาง ลุยหนัก เดินหน้าส่งออกต่างประเทศต่อจิ๊กซอว์เติบโตระยะยาว พร้อมกางกลยุทธ์การตลาดเน้นออนไลน์จับนิวเจเนอเรชั่น-เปิดโมเดลตัวแทนจำหน่ายเคลื่อนตัวขยายฐานลูกค้าเต็มสูบตั้งเป้ายอดขายโต 30-50%

นางนันทวรรณชยา ภาจิตประพันธ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนเจอร์ เฮิร์บ อินเตอร์ เนชั่นแนลโฮลดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรแผนโบราณ ยาหม่องเขียว น้ำมันเหลือง ภายใต้แบรนด์ M HERBS เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

ปัจจุบันตลาดสมุนไพรในประเทศไทยมีมูลค่า 1.48 พันล้านดอลลาห์สหรัฐ จัดเป็นลำดับที่ 8 ของโลก สะท้อนได้ว่าภาพรวมบริโภคในไทยขยายตัว จากปัจจัยโควิด ผนวกกับเทรนด์สุขภาพเข้ามามีอิทธิพลสำคัญต่อการเลือกซื้อสินค้าสมุนไพร

ขณะที่ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญสมุนไพรในด้านการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนเสริมในการดันเป้าศูนย์กลางการแพทย์โลก (Medical Hub)

ประกอบกับพ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เปิดทางให้ยาสมุนไพรตัวอื่น ๆ สามารถมาขึ้นทะเบียนยาหลักได้ จากเดิมที่มีอยู่เพียง 90 ตัว โดยมีเงื่อนไขต้องมีงานวิจัยสนับสนุนที่ชัดเจน ยิ่งส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของสินค้าสมุนไพรไทยในเวทีตลาดโลกและทำให้สมุนไพรไทยมีการเติบโตสูงขึ้น

ดังนั้น ยุทธศาสตร์สำคัญในการรองรับการเติบโตตลาดสมุนไพรของเนเจอร์ เฮิร์บปี 2565 จึงเน้นไปที่การออกผลิตภัณฑ์เพิ่มราว 10 ชิ้น เน้นไปที่สินค้า 3 ประเภท ได้แก่ สินค้าสมุนไพร ยาสมุนไพร และเวชสำอางจากสมุนไพร

โดยการพัฒนาสินค้าใหม่จะมีทั้งการเพิ่มกลิ่นใหม่จากสินค้าตัวเดิม และการแตกไลน์ออกเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น เวชสำอาง เครื่องสำอาง และอาหารเสริม เพื่อทำสินค้าให้ครอบคลุมทั้งใช้สำหรับภายในและภายนอก

ส่วนโปรดักต์ฮีโร่อย่างยาแคปซูลสมุนไพรเอ็มเฮิร์บ ที่เน้นความเป็นตำรับยาไทยรวบรวมสรรพคุณสมุนไพรหลายตัว อาทิเห็ดกระถินพิมาน ข้าวเย็นเหนือ จะส่งเสริมข้อมูลด้านการวิจัยโดยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการวิจัยประสิทธิภาพเชิงลึก เพื่อให้ได้รับการยอมรับในด้านการรักษาโรคมะเร็งของสินค้า

ขณะเดียวกันยังมีแผนส่งออกสินค้าเจาะตลาดต่างประเทศมากขึ้น ทั้งในส่วนยาแคปซูลสมุนไพร ยาหม่องเขียว และน้ำมันเหลือง สินค้าตัวใหม่ที่เพิ่งออกในปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสินค้าขึ้นชื่อของประเทศไทยและต่างประเทศให้การยอมรับสูง หลังจากต้องเลื่อนการเจรจาออกไปเนื่องจากสถานการณ์โควิดรุนแรง

โดยขณะนี้ได้เริ่มเจรจากับคู่ค้าในหลายประเทศ เช่น ประเทศในแถบตะวันออกกลาง จีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาการขออนุมัติจากองค์การอาหารและยาหรือ FDA ของแต่ละประเทศ

ส่วนการทำตลาดในประเทศไทยขณะนี้จะเน้นไปที่ช่องทางออนไลน์และอีมาร์เก็ตเพลซอย่างช้อปปี้และลาซาด้า ควบคู่กับการสร้างโมเดลการจัดจำหน่ายในรูปแบบตัวแทนจัดจำหน่าย

เพื่อกระจายสินค้าไปสู่กลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น ขณะเดียวกันเพื่อเจาะอินไซต์ลูกค้าได้ดีขึ้น ได้เก็บดาต้าลูกค้าจากระบบคอลเซ็นเตอร์ทุกเดือน ทำให้ทราบว่ากลุ่มทาร์เก็ตหลักเป็นผู้สูงวัยอายุ 60-70 ปี และกลุ่มวัยทำงานอายุ 30-40 ปี

โดยในระยะถัดไปมีแผนจับกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่อายุ 25 ปีมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มมีพฤติกรรมหันมาดูแลสุขภาพ ผ่านการทำคอนเทนต์ออนไลน์ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสมุนไพร

“แม้ช่วงโควิดระบาดหนักจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภคอย่างหนัก ทำให้ยอดขายของบริษัทลดลงราว 10% แต่ในปี 2565 แนวโน้มการระบาดของโรคมีสัญญาณบวกมากขึ้น

จึงตั้งเป้าความสำเร็จด้านยอดขายในปีนี้ให้กลับมาเติบโตอยู่ที่ระดับ 30-50% จากกลยุทธ์การทำตลาดเคลื่อนเข้าหาผู้บริโภคและการพัฒนาสินค้าใหม่ตอบโจทย์ตลาดมากขึ้น ผ่านการสร้างจุดแข็งในด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพร

เน้นความเป็นตำรับยา มากกว่าการมุ่งเป้าไปที่สมุนไพรตัวใดตัวหนึ่ง คาดว่าจะเป็นจุดที่สร้างความแตกต่างและทำให้เนเจอร์ เฮิร์บขยายฐานลูกค้าได้สูงขึ้นกว่าเดิม” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนเจอร์ เฮิร์บฯ กล่าว