บิ๊กสหพัฒน์ “บุญชัย โชควัฒนา” ถกปมน้ำมันแพง ปัญหาใหญ่ธุรกิจ

ถึงวันนี้ดูเหมือนว่าโจทย์ใหญ่ของผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ นอกจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโดยตรงแล้ว ยังมีปัจจัยลบอีกมากมายที่ถาโถมเข้าใส่ต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “บุญชัย โชควัฒนา” ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของประเทศถึงภาพรวมของธุรกิจที่กำลังถูกปัจจัยลบรุมเร้าเข้ามารอบทิศ และจากนี้ไปคือมุมมองของนักธุรกิจที่มากประสบการณ์กับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้

Q : ตอนนี้ราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาขึ้น ส่งผลกระทบกับธุรกิจมากน้อยอย่างไร

เรื่องน้ำมันจริง ๆ แล้วเราไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร บอกตรง ๆ ว่าเรื่องราคาน้ำมันเป็นอะไรที่เข้าใจยากที่สุด ถ้ารัฐบาลไม่เคลียร์เรื่องนี้ให้ชัด ๆ ไม่มีใครลงไปดูลึก ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นเพราะอะไร มันอาจจะมีอะไรที่ซ่อนเร้นอยู่ในนั้นมากมายก็ได้ และไม่มีใครอยากจะไปแก้ด้วย

เรื่องน้ำมันเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดในตอนนี้ เพราะเวลาสินค้าขึ้นราคาทุกอย่างเป็นปัญหาทั้งหมด ต้นทุนสูงก็มีปัญหา โรงงานต่าง ๆ ก็เป็นปัญหา น้ำมันที่ใช้ทำ boiler ขึ้นมาเกือบ 100% ฉะนั้น ต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้นหมด และต่อไปมันจะคุมไม่อยู่ ถ้าไม่คุมราคาน้ำมัน ไม่เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น

ถ้าวันนี้รัฐบาลไม่แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำมัน ประเทศเราจะเป็นปัญหาไปอีกยาวนาน ปัญหามันแก้ไม่ได้มาเป็น 10 ปีแล้ว มันแก้ไม่ได้ และไม่มีใครลงไปแก้

ส่วนหนึ่งผมรู้ได้ว่า รัฐบาลพึ่งภาษีสรรพสามิต ภาษี VAT จากราคาน้ำมัน และรัฐบาลก็ปิดไม่ลงเรื่องรายได้ จนตัวนี้เป็นรายได้หลักที่รัฐบาลไม่ยอมลด ทำให้ประชาชนไม่พอใจ จริง ๆ น้ำมันลิตรหนึ่งหลายบาท โดนภาษีไป 6-10 บาทต่อลิตร รัฐบาลก็ไม่อยากลด พอไม่อยากลด ราคาน้ำมันก็แพง ถ้าประเทศเรารวย รัฐบาลบอกไม่ต้องพึ่งภาษีจากตรงนี้ ก็สามารถลดได้ทันทีเกือบ 10 บาทเลย ตอนนี้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันเสียอยู่เท่าไหร่ 6 บาท รัฐบาลไม่ยอมเลิก ต้องเก็บเพราะมันเป็นรายได้หลักของรัฐบาล

Q : ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบและทำให้ต้นทุนการผลิตผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น

เพิ่มขึ้นหมดเลย วัตถุดิบอื่น ๆ จากต่างประเทศ เช่น แป้งสาลี หรือผู้ผลิตต่าง ๆ ในโลกก็มีการปั่นราคาขึ้น ฉวยโอกาสส่วนหนึ่ง ใช้จังหวะนี้ขึ้นราคา เราก็ช่วยไม่ได้เพราะมันมีราคาตลาดโลกและก็ยอม สินค้าทุกอันขึ้นราคาหมด ไม่มีอะไรลดราคา แล้วรัฐบาลก็ไม่ยอมให้ขึ้นราคา ขึ้นราคาประชาชนก็เดือดร้อน ไม่กล้าให้ขึ้น

ในแง่ผู้ผลิตทางออกก็อาจจะผลิตน้อยลง หรือหาวิธีลดต้นทุนต่าง ๆ มาช่วย แต่ก็ยาก ลดไม่ได้ เพราะราคาวัตถุดิบมันขึ้นทุกตัว บางตัวก็ขึ้นเป็นเท่าตัว หรือผู้ผลิตบางรายหันไปใช้วิธีการปรับโฉมสินค้าใหม่เพื่ออัพราคา เพื่อให้อยู่รอดได้ในภาวะแบบนี้ ส่วนสินค้าควบคุมรัฐบาลก็ยังคุมราคาอยู่

Q : สหพัฒน์รับมือและปรับตัวอย่างไร

อดทน ผลผลิตบางอันกำไรก็น้อยลง บางอันก็ขาดทุน เราก็ต้องยอม ยอมแต่ว่าเราถูกคุมด้วย เราขึ้นราคาไปประชาชนก็เดือดร้อน เราต้องอดทน ไม่คาดหวังว่าจะมีกำไรเหมือนเดิม ขาดทุนต้องยอมบ้าง

หรือด้านการส่งออกก็มีปัญหา เพราะต้นทุนเราแพง นอกจากนี้ ตอนนี้เป็นปัญหาค่า freight (ค่าระวางเรือ) แพงขึ้นและหาเรือยาก พวกนี้ต้นทุนขึ้นเป็นเท่าตัว ค่าระวางเรือขึ้นมา 3 เท่า นอกจากนี้ ยังมีตัวแปรจากโควิด-19 ด้วย ที่อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง

Q : นอกจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว อุปสรรคของการค้าขายการทำธุรกิจในตอนนี้คืออะไร

กำลังซื้อตก เมื่อของแพงขึ้น คนซื้อน้อยลง มันเป็นอุปสรรคมามากสุดช่วงโควิด-19 บางช่วงจังหวะแรก ๆ ที่คนตกใจมันก็ขายได้ เพราะมีการซื้อของไปตุน แต่พอนาน ๆ เข้าคนตกงาน ทุกคนก็ต้องประหยัดลดค่าใช้จ่าย ทำให้กำลังซื้อในตลาดลดน้อยลง แต่สิ่งที่รัฐบาลทำก็ถือว่าช่วยกระตุ้นการจับจ่ายได้บ้าง เช่น โครงการคนละครึ่ง แต่ทำไปทำมารัฐบาลเริ่มไม่มีเงิน เริ่มลดจำนวนการใช้คนละครึ่ง คนที่เคยได้เยอะก็บ่นกัน

หรือบรรดารถบรรทุกขนส่งก็บ่นว่า รัฐบาลน้ำมันไม่คอนโทรลอยู่ที่ 25 บาท/ลิตร พวกนี้มันเป็นปัญหาพะรุงพะรังของรัฐบาลก็น่าเห็นใจ

Q : ตอนนี้มีกระแสการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน หากปรับขึ้นจะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน

จริง ๆ มันขึ้นมานานแล้ว จริง ๆ ไม่ควรจะปรับ เพราะปรับไปแล้วต้นทุนวัตถุดิบก็ขึ้น ค่าแรงก็ขึ้น ต่อไปการแข่งขันของประเทศเราจะสู้ต่างประเทศไม่ได้ จริง ๆ เราแพ้สมัยที่มีการปรับรายได้จาก 100-200 กว่า เป็น 300 กว่าบาท สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ปี 2554) ทำให้เราเสียตลาดต่างประเทศไปเยอะ ผู้ผลิตที่เคยอยู่เมืองไทย ย้ายไปประเทศอื่นหมดเลย เพราะเมืองไทยต้นทุนแพง น่าจะใช้วิธีอื่น ไม่ใช่ใช้วิธีการขึ้นค่าแรงอย่างเดียว

Q : ขณะนี้เริ่มมีหลาย ๆ ธุรกิจ หันมาใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานคนบ้างแล้ว

ใช้แน่นอน ตอนนี้ก็ใช้อยู่แล้ว ใช้คนน้อยลง ๆ ก็กระทบกับแรงงาน ตอนนี้อาจจะยังไม่เดือดร้อนเพราะต้องใช้เวลานานที่ธุรกิจหรือโรงงานจะเปลี่ยนเป็นการใช้หุ่นยนต์ เพราะลงทุนสูงกว่าจะลงตัวได้

ส่วนสหพัฒน์เราก็ปรับใช้แล้ว แต่ยังไม่มาก บางส่วนเท่านั้น แต่หลัก ๆ ยังไม่ลดคนงาน คนงานยังมีเท่าเดิมยังไม่ลดเลย เพราะเราคิดว่าต้องดูแลคนงานไม่ใช่เอาหุ่นยนต์มาเซฟคอสต์แล้วให้คนออก เราไม่ทำ โรงงานเราใช้แรงงานเยอะ ใช้แรงงานฝีมือ อย่างโรงงานรองเท้าใช้เครื่องจักรไม่ได้ เรื่องความประณีต งานบางอย่างไม่ใช่ว่าใครจะทำได้ ต้องใช้งานฝีมือที่ต้องพัฒนาคนขึ้นมาถึงทำงานต่อเนื่องได้ ถ้าเรามีเครื่องจักรมาแทนก็ไม่เหมือนคน

Q : ช่วงหลัง ๆ มานี้การประชุมสภาล่มบ่อย ๆ มองสถานการณ์การเมืองอย่างไรบ้าง

สภาล่มอาจจะเป็นเจตนาของอีกฝ่ายที่ตั้งใจเพื่อลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มันขัดกับหลักประชาธิปไตย เราให้ศรัทธาเป็นตัวกลางในการทำให้เกิดการแก้ปัญหาของประเทศชาติ แต่ถ้าใช้สภาเป็นที่กลั่นแกล้งกัน มันไม่ถูกต้อง ต้องประณามคนที่ทำแบบนี้

ถ้านายกฯลาออกคงไม่แก้ปัญหา เพราะต่อไปใครจะขึ้นมาเป็นนายกฯแทน มันไม่ใช่ว่าจะมีคนมาแทนได้ทันที นายกฯคนนี้ก็ทำงานหนักแก้ปัญหา แต่ทำงานเก่งหรือไม่เก่งอีกเรื่อง

ตอนนี้รัฐบาลน่าเป็นห่วง พรรคการเมืองก็น่าเป็นห่วง ภาคเอกชนก็เป็นห่วง เพราะอีกมุมมันมีผลต่อการเชื่อมั่นของต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุน ต่างชาติเขาจะมองความมั่นคง ความเสถียรภาพของรัฐบาล

แต่การย้ายฐานการผลิตต้องดูนาน ๆ หน่อย ถ้ารัฐบาลแก้ปัญหาได้เร็ว กลับมามีศักยภาพเร็ว ความเชื่อมั่นก็จะกลับมา อย่าให้มันลากยาวกว่านี้ บางบริษัทย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม ไปจีน แต่ใช้เวลานานกว่าจะทำได้

ส่วนใหญ่นักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยเพราะต้นทุนเราถูกกว่า แต่ถ้าเราปรับค่าแรงงานต้นทุนแพงขึ้นเรื่อย ๆ ก็หนีไปที่อื่น เวียดนามยิ่งโตเร็วกว่าเราเยอะ

Q : โควิด-19 จะยังอยู่ไปอีกนาน กระทรวงสาธารณสุขกำลังเตรียมการจะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น

เห็นด้วยเพราะเราต้องปรับตัวใช้ชีวิตอยู่กับมัน โอมิครอนรักษาได้ง่าย ตอนนี้ทุกคนก็มีบทเรียนกันแล้ว

Q : ปีนี้สหพัฒน์วางแผนธุรกิจไว้อย่างไรบ้าง

ยังเดินหน้าต่อโครงการต่าง ๆ ต่อเนื่องไม่มีหยุด วันนี้ปัญหาการทำธุรกิจคงเป็นเรื่องกำลังซื้อในตลาด กำลังซื้อเป็นต้นเหตุหลัก การค้าขายยากขึ้นกว่าเก่า

พอเศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนก็ประหยัด ใช้จ่ายน้อยลง ทุกธุรกิจทุกสินค้าไม่ว่าจะสินค้าแพงสินค้าราคาถูกกระทบหมด สหพัฒน์แม้จะเป็นรายใหญ่ก็ยังกระทบ

ส่วนแนวทางบริหารจัดการก็ยังให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนจากซัพพลายเชน รัดเข็มขัดกับค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หาช่องทางเพิ่มยอดขาย

ที่สำคัญการลงทุนต้องมีความรอบคอบและคุ้มค่าในระยะยาว การออกสินค้าใหม่ต้องสำเร็จและตอบโจทย์