“ซิงเกอร์” ลุยธุรกิจรอบทิศ ชูเงินผ่อนทางไลน์-เปิดบริการใหม่ขยายฐาน

“ซิงเกอร์” ราชาเงินผ่อน ก้าวข้ามปมเศรษฐกิจ-กำลังซื้อ ประกาศเดินหน้าเพิ่มสารพัดบริการใหม่ งัดเงินผ่อน หวังขยายฐานลูกค้าเจาะเมืองกรุง ผนึกพันธมิตรลุยค้าปลีก เปิดเมกะสโตร์ไซซ์ 2 พัน ตร.ม. ขายเครื่องใช้ไฟฟ้าซิงเกอร์ มือถือ แก็ดเจต สินค้าแฟชั่น ของใช้ในชีวิตประจำวันจับมือ

ฟาก “เจมาร์ท-กันกุลฯ” บุกโซลาร์โซลูชั่นยันกัญชา สถานีชาร์จอีวี และโทเค็น ตั้งเป้าการเติบโต 75% พร้อมมีสาขาครบ 7,000 แห่งยึดทุกตำบลทั่วประเทศ

นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ “ซิงเกอร์” ในระบบเงินผ่อน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สภาพเศรษฐกิจเป็นความท้าทายที่ต้องจับตามองในปีนี้

โดยที่ผ่านมาแม้ภาครัฐจะมีมาตรการเติมเม็ดเงินให้ผู้บริโภคเป็นระยะ ๆ เช่น โครงการคนละครึ่ง แต่ในระยะยาวหากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวอาจจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภคในภาพรวม และรวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้วย

สำหรับสถานการณ์กำลังซื้อของผู้บริโภคและผู้ประกอบการระดับท้องถิ่นในขณะนี้ โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้าร้านชำ-ร้านอาหาร บริษัทมองว่ายังอยู่ในระดับปกติ สะท้อนจากช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้รายเดิมและรายใหม่

ผู้บริโภคและบรรดาพ่อค้าแม่ค้ายังมีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ได้ตามปกติ เช่นเดียวกับความต้องการสินค้า อาทิ ตู้แช่เครื่องดื่ม ตู้แช่อาหาร ตู้หยอดเหรียญ ที่ยังมีในเกณฑ์สูง สะท้อนจากความเคลื่อนไหวในการอัพเกรดเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อทดแทนของเดิม
ขนโมเดล-สินค้าใหม่เปิดตลาด

ADVERTISMENT

นายกิตติพงศ์กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจของซิงเกอร์ปีนี้ หลัก ๆ จะมุ่งขยายธุรกิจค้าปลีกแบบรอบด้าน ทั้งเปิดช่องทางจำหน่ายในโมเดลใหม่ ๆ และเพิ่มสินค้าใหม่เข้ามาในพอร์ตโฟลิโอเพื่อเจาะเข้าถึงและตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคใหม่ ๆ ในกรุงเทพฯ จากเดิมที่มีฐานลูกค้าอยู่ในต่างจังหวัดเป็นหลัก

โดยภายในไตรมาส 1 จะเปิดบริการซื้อสินค้าแบบเงินผ่อนผ่านทางไลน์ออฟฟิเชียลแอ็กเคานต์ของซิงเกอร์ รวมถึงการเปิดร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ระดับ 2,000 ตร.ม.ในคอมมิวนิตี้มอลล์การเริ่มธุรกิจขายและติดตั้งโซลาร์โซลูชั่น การเพิ่มคาเฟ่ในร้านสาขาย่อย รวมไปถึงเดินหน้าขยายสาขาให้ครบ 7,000 สาขาทั่วประเทศ

ADVERTISMENT

พร้อมกันนี้นายกิตติพงศ์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เป็นเมกะสโตร์ ภายใต้ชื่อ “ซิงเกอร์ x เอฟเอ็น ลิฟวิ่งสเปซ” (SINGER x FN Living Space) เป็นความร่วมมือของบริษัทกับพันธมิตร

อาทิ บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด (มหาชน) หรือ FN Outlet, บริษัท แฟนสลิ้งค์ คอมมูนิเคชั่น จํากัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเจมาร์ทเปิดให้บริการสาขาแรกที่ JAS Green Village (คู้บอน)

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีสินค้าจากพันธมิตรทั้ง 4 รายจำหน่ายประกอบด้วย เครื่องใช้ไฟฟ้าซิงเกอร์ มือถือ แก็ดเจตสินค้าและแฟชั่น

และของใช้ในชีวิตประจำวัน ยังสามารถชำระค่าสินค้าแบบเงินผ่อนผ่านระบบของซิงเกอร์ได้ นอกจากนี้ ยังจะใช้สาขาดังกล่าวเป็นสถานที่จัดเวิร์กช็อปทำอาหารและเย็บผ้าด้วย

ส่วนการเปิดคาเฟ่ “คาซ่า ลาแปง” ที่เป็นร้านจำหน่ายกาแฟ-เบเกอรี่ ในเครือเจมาร์ท ในสาขาย่อยของซิงเกอร์ เป้าหมายสำคัญเพื่อเป็นการดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาในสาขา

เพื่อเป็นการสร้างโอกาสการขายให้กับกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่เข้ามาติดต่อ เบื้องต้นตั้งเป้าจะเปิดใน 15-20 สาขา เน้นพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง อาทิ สมุทรสาคร ที่เปิดนำร่องแล้ว 1 สาขา

ขยายบริการเพิ่มธุรกิจใหม่

นายกิตติพงศ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและโซลาร์โซลูชั่นนั้น เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา (17 ธ.ค.) ซิงเกอร์ได้ทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นกับบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุน

โดยกันกุลฯจะเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 50%เจมาร์ท ถือหุ้น 40% และซิงเกอร์ ถือหุ้น9.9% โดยมีเงินลงทุนขั้นต้น 1 ล้านบาท เพื่อจัดจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและโซลาร์โซลูชั่นผ่านเครือข่ายการจัดจำหน่ายและการจัดหาสินเชื่อโดยกลุ่มธุรกิจในเครือของบริษัททั่วประเทศ สำหรับสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้าและโซลาร์โซลูชั่น คาดว่าจะสามารถเปิดเผยรายละเอียดและแพ็กเกจได้ในเดือนมีนาคมนี้

นอกจากนี้ ยังจะมีการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชง ผ่านเครือข่ายการจัดจำหน่ายของกลุ่มธุรกิจในเครือของบริษัท รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการทำเรื่องศูนย์กัญชง-กัญชาเพื่อสุขภาพ, พัฒนาการร่วมลงทุนให้การลงทุนติดตั้งระบบ solar rooftop

เพื่อประหยัดค่าไฟฟ้าและโอกาสการขายไฟฟ้าร่วมกัน ภายใต้เครือของกลุ่มธุรกิจเจมาร์ท และการลงทุนทางด้าน EV charging station และศึกษาความเป็นไปได้ synergy ด้านอื่นเพิ่มเติม รวมถึงเรื่องการศึกษา utility token เพื่อนำมาปรับใช้ในผลิตภัณฑ์ของบริษัท

ปรับตัวรับต้นทุนพุ่ง-ตรึงราคา

นายกิตติพงศ์ยังกล่าวด้วยว่าขณะเดียวกัน เพื่อรับมือกับปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น บริษัทได้มีการปรับแผนการดำเนินงานบางส่วน เช่น การสั่งผลิตสินค้าล่วงหน้านาน 6-9 เดือน ในปริมาณที่เพียงพอจำหน่ายในระยะยาว

รวมถึงยังใช้ซัพพลายเออร์มากกว่า 1 รายในแต่ละกลุ่มสินค้าเพื่อถ่วงดุลราคา เพื่อทำให้สามารถคงราคาสินค้ารุ่นปัจจุบันไว้ได้ ขณะเดียวกัน สำหรับสินค้ารุ่นใหม่ที่จะนำออกมาทำตลาดก็จะเน้นการอัพเกรดด้วยการเพิ่มเทคโนโลยีหรือฟังก์ชั่นต่าง ๆ เข้าไป เช่น ประหยัดพลังงาน ความสะดวก ฯลฯ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้เหมาะสมกับราคา

ด้านการทำตลาดปีนี้จะโยกงบฯไปทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งวิจัยการตลาดและกูเกิลพาร์ตเนอร์ชิป โดยยังคงใช้ “โน้ส-อุดม แต้พานิช” เป็นพรีเซ็นเตอร์ต่อเป็นปีที่ 2 เช่นเดียวกับคอนเซ็ปต์ความสุขทุกสิ่งเป็นจริงที่ซิงเกอร์

ร่วมกับการเป็นสปอนเซอร์รายการทีวี และนำสินค้าเข้าไปประกอบในรายการ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับสินค้ากลุ่มใหม่ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเล็ก โดยตั้งเป้าการเติบโตของผลประกอบการไว้ที่ 75% โดย 50% มาจากการเติบโตของยอดขายสินค้าและดอกเบี้ยตามฐานลูกหนี้ที่มากขึ้น พร้อมกับการมีสาขาครบ 7,000 สาขาเจาะทุกตำบลของประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปี 2563 ซิงเกอร์มีรายได้รวม 3,658 ล้านบาท ล่าสุดผลการดำเนินงาน 9 เดือน ปี 2564 มีรายได้ 3,068 ล้านบาท