บัตรทอง-ประกันสังคม ติดโควิดเข้าถึงการรักษาอย่างไร

บัตรทอง-ประกันสังคม ติดโควิด-19 เข้าถึงการรักษาอย่างไร

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ปัจจุบันผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทั้งกลุ่มที่มีสิทธิบัตรทอง และประกันสังคม จะสามารถติดต่อผ่านสายด่วน 1330 หรือ 1506 เพื่อเข้ารับการรักษาได้ ดังนี้

สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทอง นั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า กรณีตรวจ ATK ด้วยตนเองแล้วขึ้น 2 ขีด (ผลบวกว่าติดเชื้อโควิด-19) ให้ดำเนินการดังนี้

1.โทร.สายด่วน สปสช. 1330 กด 14
หรือ ลงทะเบียนด้วยตนเองที่ https://crmsup.nhso.go.th/#TicketHI
หรือ ไลน์ สปสช. โดยเพิ่มเพื่อน พิมพ์ @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• เลือกเมนูบริการเกี่ยวกับโควิด-19
• เลือกลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation)

กรณีที่ผู้ป่วยไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถลงทะเบียนเข้าสู่ระบบด้วยสมาร์ทโฟนของบุคคลในครอบครัวได้ ด้วยการโดยกดที่ปุ่มเพิ่มบุคคลอื่นและกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักและเบอร์โทรศัพท์ของบุคคลนั้น

ทั้งนี้หากบุคคลนั้นไม่มีเบอร์โทรศัพท์ ให้กรอกเบอร์โทรศัพท์ของมือถือเครื่องที่ใช้ยืนยันตัวตนได้ หลังจากนั้นเลือกชื่อผู้ใช้บริการ และกดตรวจสอบสิทธิและทำตามขั้นตอนเดิมอีกครั้ง

ต่างจังหวัดสามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือ รพ.สต.ใกล้บ้านได้ แต่หากไม่สะดวก ติดต่อ 3 ช่องทางข้างต้น (ช่องทางใดช่องทางหนึ่ง)

เจ้าหน้าที่จับคู่สถานพยาบาลเพื่อดูแลและติดต่อกลับภายใน 6 ชั่วโมง (ไม่ต้องใช้ผลตรวจ RT-PCR)
หากภายใน 6 ชั่วโมงยังไม่มีการติดต่อกลับ ให้โทร.แจ้งที่ สายด่วน สปสช. 1330 อีกครั้ง

กรณี โทร.สายด่วน 1330 ไม่ติด เนื่องจากมีประชาชน โทร.เข้ามามาก ไม่ต้องกังวล สปสช.จัดเจ้าหน้าที่โทร.กลับสายที่โทร.ไม่ติดเพื่อรับข้อมูลเข้าระบบ

ท่านจะได้รับการดูแลดังนี้
• ติดตามอาการด้วยวิดีโอคอลวันละ 1 ครั้ง
• เครื่องวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
• ยาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่น ๆ
• ส่งอาหารให้วันละ 3 มื้อ
• หากมีอาการเปลี่ยนแปลง แจ้งหน่วยบริการเพื่อขอรับยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์
• ประสานส่งต่อโรงพยาบาลหากมีอาการรุนแรงขึ้น

หมายเหตุ – บางรายการ เช่น ส่งอาหาร, เครื่องวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลแต่ละแห่ง

นอกจากนี้ในกรณีที่อาการทรุดหนักลงขณะรอการติดต่อ หรือระหว่างกักตัว สามารถติดต่อสายด่วน 1669 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ประสานรถรับส่งผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลให้

ส่วนผู้มีสิทธิประกันสังคมนั้น นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม หรือ สปส. ระบุว่า สำหรับผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม หากมีอาการติดเชื้อจะมีสิทธิรักษาพยาบาลฟรี โดย

1. สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาล และสถานพยาบาลใกล้ที่พักอาศัยทุกแห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

2. กรณีที่สถานพยาบาลตามสิทธิ และสถานพยาบาลที่รับรักษาไม่สามารถให้การรักษาได้ หรือเกินศักยภาพในการรักษา จะทำการส่งตัวผู้ประกันตนไปรักษากับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

3. กรณีที่ผู้ประกันตนไม่สามารถเข้ารักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิได้ เนื่องจากอยู่ต่างจังหวัด หรือต่างพื้นที่ สามารถเข้ารักษาได้ในสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ ผู้ประกันตนจะได้รับการดูแลรักษาในสถานพยาบาล, โรงพยาบาลสนาม, Hospitel, Community Isolation, Home Isolation ตามแนวทางและระบบบริการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ในกรณีที่ไม่สามารถเดินทางได้ ให้ติดต่อสายด่วน 1506 กด 6 และกด 7 มีคู่สายรวม 350 คู่สาย สามารถโทร.ได้ตั้งแต่ 08.00 น. ถึง 18.00 น. จะมีคณะทำงานคอยรับเรื่องแล้วประสานไปยังสถานพยาบาลในทันที จากนั้นไม่เกิน 3 ชั่วโมงจะมีรถโรงพยาบาลมารับไปรักษา ซึ่งทุกอย่างจะรักษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ

ด้านการชดเชยนั้นแบ่งเป็น 3 กรณี

มาตรา 33 กรณีลาป่วยรับค่าจ้าง 30 วันแรกจากนายจ้าง หากหยุดรักษาตัวเกิน 30 วัน สามารถเบิกสิทธิประโยชน์กรณีขาดรายได้ จากประกันสังคมนับตั้งแต่วันที่ 31 ของการลาป่วย (ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 โหลดแบบฟอร์มได้โดยคลิกที่นี่) ซึ่งจะได้รับเงินทดแทนร้อยละ 50 ของค่าจ้างจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน เว้นแต่โรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน

มาตรา 39 รับเงินทดแทนขาดรายได้ร้อยละ 50 โดย คิดจากฐานอัตราการนำส่งเงินสมทบ (4,800 บาท) ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน เว้นแต่โรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน (ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 โหลดแบบฟอร์มได้โดยคลิกที่นี่)

มาตรา 40 รับเงินทดแทนขาดรายได้ตามทางเลือก 1-2-3 โดยต้องนำส่งเงินสมทบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 4 เดือนก่อนเดือนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย (ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01/ม.40 โหลดแบบฟอร์มได้โดยคลิกที่นี่)

นอกจากนี้กรณีเบิกจ่ายตรงข้าราชการโทร.0-2270-6400 และสิทธิต่างด้าวโทร.0-2590-1578 ต่างจังหวัดให้ประสาน 1669