“บีเจซี” ทุ่มลงทุน 6 หมื่นล้าน โฟกัสอาเซียน-บุกจีนใต้

“บีเจซี” ประกาศยุทธศาสตร์ 5 ปี ทุ่มงบฯ 6 หมื่นล้าน เดินหน้าปูพรมบิ๊กซีทุกโมเดลในไทย ลาว เวียดนาม ก่อนเพิ่มฐานการผลิตไปเมียนมา-จีนตอนใต้ ส่งโมเดล “ร้านโดนใจ” สร้างแพลตฟอร์มเชื่อมผู้ซื้อ-ผู้ขาย เสริมแกร่งธุรกิจ ส่ง MM Food Service เจาะโฮเรก้า

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตจากนี้ บริษัทมุ่งให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจค้าปลีก บรรจุภัณฑ์

และสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงการขยายธุรกิจเดิมที่มีอยู่และธุรกิจโมเดลใหม่ โดยมีแผนจะขยายการลงทุนในตลาดอาเซียนมากขึ้น จากที่ผ่านมาได้เข้าไปลงทุนที่เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา

และต่อจากนี้เตรียมเข้าไปในเมียนมาและจีนตอนใต้ เพื่อเจาะตลาดที่ยังมีโอกาสและช่องว่างอีกมาก และขยายฐานการผลิตให้ครอบคลุมอาเซียน อาทิ ในเมียนมา จีนตอนใต้

ในลักษณะการเข้าไปจับมือร่วมกับพันธมิตรในประเทศนั้น ๆ หรือเข้าไปถือหุ้นบางส่วนเพื่อดำเนินการผลิตสินค้า จากปัจจุบันบริษัทมีฐานการผลิตทั้งหมด 21 แห่ง อาทิ ไทย 12 แห่ง เวียดนาม 1 แห่ง มาเลเซีย 2 แห่ง และกัมพูชา 1 แห่ง

สำหรับแผนการลงทุน 5 ปี (ระหว่างปี 2565-2569) เตรียมงบประมาณ 6 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ลงทุน แบ่งเป็น 30% ใช้ในการขยายกำลังการผลิตสินค้าและอีก 70% ใช้ขยายสาขาทั้งในไทยและต่างประเทศด้วยรูปแบบต่าง ๆ โดยตั้งเป้าหมายจะมีทั้งหมด 3,739 สาขาในปี 2569 จากปัจจุบันที่มีประมาณ 2,000 สาขา

ซึ่งจะช่วยให้สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายค้าปลีกที่มีทั้งหมดให้ครอบคลุมทั่วอาเซียนและช่วยผลักดันรายได้ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 1.7 แสนล้านบาท ในปี 2565 เพิ่มเป็น 2.7 แสนล้านบาท เติบโตปีละ 11-16% ซึ่งหากรวมการเข้าซื้อกิจการใหม่จะมีรายได้ประมาณ 3 แสนล้านบาท

พร้อมทั้งให้ความสำคัญพื้นที่เช่าไปพร้อมกับพื้นที่ขาย ด้วยการปรับคอนเซ็ปต์พื้นที่เช่า เช่น ที่ผ่านมาได้ปรับพื้นที่เช่า บิ๊กซี เอ็กซ์เพรส สาขารัชดาฯให้มีพื้นที่เช่าหลากหลายมากขึ้น ส่วนบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ มีพื้นที่เช่า 55 ร้านค้า สิ่งที่จะทำต่อไป คือเพิ่มพื้นที่โคเวิร์กกิ้งสเปซเพื่อรองรับความต้องการของคนรุ่นใหม่

รวมไปถึงการขยายร้านโดนใจ เปิดโอกาสให้เจ้าของร้านดั้งเดิมได้ปรับปรุงร้านให้มีความทันสมัยขึ้น และจากนี้เตรียมขยายพันธมิตรเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีจำนวนร้านค้าที่เข้าร่วม 500 สาขา ตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 10,000 สาขาในอีก 5 ปี

ซึ่งจะเป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยให้สินค้าในกลุ่มบีเจซีเข้าถึงร้านค้าดั้งเดิมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการหันมาขยายโมเดล MM Food Service เป็นรูปแบบการค้าส่งรูปแบบใหม่ที่เจาะกลุ่มลูกค้าโรมแรม ร้านอาหาร ทั้งในประเทศไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา และจีนตอนใต้ โดยใช้กลุ่มผลิตภัณฑ์ 6,000 รายการ ส่วนใหญ่อยู่ในหมวดอาหารสดและอาหารแห้ง

นอกจากนี้ยังต้องเปลี่ยนแนวคิด จากการทำธุรกิจแบบเดิมที่เน้นการวิจัย ปัจจุบันบิ๊กซีมีสมาชิก 20 ล้านคน และมีการทำธุรกรรมประมาณ 1 ล้านครั้งต่อวัน จึงเตรียมจัดระบบใหม่ให้ผู้ขายและผู้ซื้อผ่าน ผ่านเครือข่ายแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงกันได้

จึงต้องเพิ่มน้ำหนักการพัฒนาระบบแพลตฟอร์ม เริ่มตั้งแต่แพลตฟอร์มการค้าอาเซียน จัดเก็บข้อมูลลูกค้า การจัดการซัพพลายเออร์ เป็นต้น โดยแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะช่วยด้านการทำตลาด

ทั้งการจัดโปรโมชั่นให้มีความแตกต่างและตรงจุดมากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาโมเดลใหม่ ๆ เตรียมปรับดีซีให้ขนาดเล็กลง เพื่อนำสินค้าเข้าไปใกล้ลูกค้ามากขึ้น โดยปัจจุบันมีรถหน่วยส่งสินค้า 2,000 คัน เข้าไปส่งสินค้าในพื้นที่ห่างไกล

ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคเร่งเพิ่มยอดขายสินค้าที่ปัจจุบันมี 19 รายการ ทั้งสแน็ก ทิชชู สบู่ บริษัทตั้งเป้า 5 ปี เร่งสร้างยอดขายให้ได้ 5 หมื่นล้านบาทแม้ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ทั้งราคาน้ำมัน น้ำมันปาล์ม แพ็กเกจจิ้ง

จึงต้องปรับคอนเทนต์สินค้า ราคา โปรโมชั่น อาจลดลงไปบ้างเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางการตลาด รวมไปถึงในส่วนของบีเจซีได้รับผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิตขวดแก้ว แต่บริษัทได้มีการส่งต่อราคาต้นทุนที่สูงขึ้นไปกับราคาขายขวดแก้วตั้งแต่ตอนทำสัญญากับลูกค้าไว้แล้ว

ทำให้ยังสามารถขายขวดแก้วได้ในระดับราคาที่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม จากกลยุทธ์หลักทั้งหมดจะมุ่งสร้างรายได้และผลกำไร ในทุก ๆ ธุรกิจ ทั้งค้าปลีก สินค้าอุปโภคบริโภคและบรรจุภัณฑ์กระป๋อง ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง