“มาม่า” ขอไฟเขียวขึ้นราคา พิษสงครามทำวัตถุดิบพุ่ง

มาม่า

แม่ทัพใหญ่ “สหพัฒน์” ชี้สงครามรัสเซีย-ยูเครนทำต้นทุนพุ่ง หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง เร่งเจรจากรมการค้าภายใน ขอขึ้นราคา “มาม่า-ผงซักฟอก” หวั่นสินค้าขาดตลาด หากภาครัฐไม่ไฟเขียวขึ้นราคา ล่าสุดเตรียมจัดงานสหกรุ๊ป แฟร์ ลดราคาสินค้ากระหน่ำช่วยค่าครองชีพ

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภครายใหญ่ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์สงครามรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อมากว่า 3 เดือน ส่งผลกระทบในแง่ของราคาวัตถุดิบและราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น เกิดเอฟเฟ็กต์มากสุด โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จากแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม ขึ้นหมด ถ้าไม่ขยับราคา บริษัทก็อยู่ไม่ได้ แต่การขึ้นราคาต้องค่อยเป็นค่อยไป

“เพื่อให้ผู้บริโภคยอมรับได้ ซึ่งอยู่ระหว่างรออนุญาตจากกรมการค้าภายใน เพราะผู้ประกอบการแบกต้นทุนไม่ไหว ตอนนี้ต่างประเทศ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ขึ้นหมดแล้ว สำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะขึ้นเท่าไหร่นั้น ต้องดูอีกที โดยพิจารณาจากต้นทุนวัตถุดิบ เพราะตอนนี้ราคาวัตถุดิบยังไม่นิ่ง”

ประธานเครือสหพัฒน์ ย้ำว่า วิกฤตครั้งนี้รุนแรงกว่าเมื่อ 26 ปีที่แล้วที่เจอวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะครั้งนี้เป็นผลกระทบในวงกว้าง เมื่อต้นทุนทุกอย่างขึ้น สินค้าก็ต้องขึ้นราคา และยังมีผงซักฟอกที่จะต้องปรับราคาขึ้น ซึ่งต้องคุยกับกระทรวงพาณิชย์ว่าจะปรับขึ้นได้เท่าไหร่ รวมถึงสินค้าอีกหลายรายการที่ต้นทุนปรับขึ้น โดยต้องขอกระทรวงพาณิชย์ในการปรับราคาสินค้า

พร้อมกันนี้หากภาครัฐควบคุมการขึ้นราคาสินค้าเป็นระยะเวลานาน มีโอกาสที่สินค้าจะขาดตลาด เพราะผู้ผลิตอาจลดกำลังการผลิตลงหรือชะลอการผลิต ทำให้เกิดการกักตุนสินค้า และท้ายที่สุดก็ขาดตลาด แต่หากปล่อยให้ทยอยปรับขึ้นก็จะไม่เกิดปัญหาขึ้น ขณะนี้สหพัฒน์ได้จองและสต๊อกสินค้าให้เพียงพอต่อกระบวนการผลิต

“สิ่งที่ยังเป็นห่วง คือเรื่องอัตราเงินเฟ้อและสงครามยูเครน-รัสเซีย จะจบได้เร็วหรือช้า ทั่วโลกต้องคอยรับมือจะแก้ไขปัญหาด้วยวิธีใด อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังดีกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย เพราะไทยส่งออกอาหาร จึงเป็นโอกาสที่ดี ในขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคไทยฟื้นเร็วกว่าประเทศอื่น คนไทยปรับตัวได้ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ”

พร้อมกันนี้ นายบุณยสิทธิ์กล่าวต่อถึงแผนการลงทุนสหพัฒน์ต่อจากนี้ไปว่า ต้องรอจังหวะการลงทุนในรูปแบบใหม่ ๆ ให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจ โดยไม่ได้กำหนดงบฯลงทุนไว้ เพราะสงครามยังไม่จบ ต้องประเมินก่อนตัดสินใจในการลงทุนโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ อีกทั้งทุก ๆ ปี สหพัฒน์จะมีการเซ็นสัญญากับนักลงทุนต่างประเทศ เพื่อสร้างโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ แต่พอเจอโควิดไม่มีเลย ขณะที่การพัฒนาสินค้าจะมุ่งพัฒนาสินค้ากลุ่มเฮลท์แคร์และเวลเนสเพิ่มขึ้น เนื่องจากหลังการระบาดโควิด-19 ผู้คนหันมาดูแลสุขภาพสินค้ากลุ่มนี้จะตอบโจทย์ได้

เช่นเดียวกับภาพรวมสหพัฒน์ปี 2565 รายได้ยังไม่กลับมาเท่ากับปีก่อนโควิด โดยประเมินว่าต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปี จะกลับไปทำรายได้เท่ากับปีก่อนโควิด-19 ได้ ยอมรับว่าสงครามหนักกว่าโควิด เพราะโควิดจบเร็ว 1-2 ปีไทยจะฟื้นตัว แต่สงครามยังไม่รู้ว่าจะยืดเยื้อไปอีกนานแค่ไหน ทำให้เครือสหพัฒน์มองว่าวิกฤตในปีนี้หนักกว่า 26 ปีที่แล้ว

ด้านนายธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้งานสหกรุ๊ปแฟร์ที่เคยจัดเป็นประจำทุกปี ไม่สามารถจัดแบบ on site ได้ถึง 2 ปี ในปี 2565 สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย จึงเตรียมจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ ทั้งรูปแบบ on site และ online ควบคู่กัน เพื่อช่วยค่าครองชีพของคนไทย เพราะตอนนี้สินค้าหลายรายการปรับราคาขึ้นไปแล้ว และยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่เตรียมขึ้นราคา

สำหรับงานสหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 26 เตรียมจัดขึ้นที่ฮอลล์ 98-100 ไบเทค บางนา บนพื้นที่กว่า 20,900 ตารางเมตร ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน-3 กรกฎาคม 2565 โดยจะมีสินค้าแบรนด์ดังราคาพิเศษมาให้เลือกซื้อกว่า 1,000 คูหา กว่า 100 บริษัท ประกอบด้วยอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ในบ้าน เสื้อผ้า เครื่องหนัง รองเท้า เครื่องสำอาง เครื่องกีฬา เครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ ชุดชั้นในวาโก้ เครื่องแต่งกายจากกี ลาโรชและลาคอสต์ เครื่องสำอางบีเอสซี หน้ากากอนามัยเวลแคร์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากเปา ซื่อสัตย์ ซิสเท็มมา โชกุบุสซึฯ โคโดโมะ เป็นต้น และหวังว่างานนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระของผู้บริโภคได้