กัญชาไม่ได้เป็นยาที่เหมาะกับทุกคน เปิดแนวทางใช้ให้ปลอดภัย

กัญชา

เปิดแนวทางใช้กัญชาให้ปลอดภัย ยันกัญชาไม่ใช่ยาที่ใช้ “ยิ่งมาก ยิ่งดี” แต่ถ้าใช้ “ไม่พอดี” อาจมีโทษรุนแรง ย้ำไม่ได้เป็นยาที่ใช้ได้กับทุกคน

วันที่ 11 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ภาครัฐปลดล็อกกัญชาและกัญชงออกจากยาเสพติดประเภทที่ 5 และผลักดันกัญชาและกัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทย

ล่าสุด สถาบันกัญชาทางการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีข้อแนะนำในการนำกัญชามาใช้เพื่อการดูแลสุขภาพเบื้องต้นด้วยตนเองดังนี้

สถาบันกัญชาทางการแพทย์ ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า กัญชาสามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย ขึ้นกับส่วนที่ใช้ กัญชาใช้ได้ทุกส่วน โดยเฉพาะประโยชน์จากใบและราก

กัญชาไม่ใช่ยาที่ใช้ “ยิ่งมาก ยิ่งดี” แต่ถ้าใช้ “ไม่พอดี” อาจมีโทษรุนแรง และไม่ได้เป็นยาที่ใช้ได้กับทุกคน

ที่สำคัญคือ เนื่องจาก ผลการตอบสนองต่อการใช้กัญชาไม่แปรผันตามขนาดยาที่ใช้ แต่ขึ้นกับแต่ละบุคคล ซึ่งมีความไวของตัวรับกัญชาในร่างกายแตกต่างกัน และร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงสารจากกัญชาได้ไม่เหมือนกัน ดังนั้น จึงควรเริ่มจากการใช้ขนาดยาต่ำ ๆ ปรับเพิ่มขนาดยาอย่างช้า ๆ การปรับขนาดยาและครั้ง ควรปรับหลังจากใช้ไปแล้ว 3-4 วัน จนกว่าจะได้ขนาดยาที่เหมาะสม คือขนาดยาที่ควบคุมอาการของโรคได้ โดยไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียง

แม้ว่ากัญชาจะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการใช้ และอาจไม่สามารถใช้กับผู้ป่วยทุกราย เช่น ผู้ป่วยที่ห้ามใช้กัญชา ผู้ที่มีประวัติแพ้กัญชา เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดขั้นรุนแรง หรือไม่สามารถควบคุมอาการได้ มีประวัติความผิดปกติทางจิตเวช สตรีมีครรภ์ สตรีที่ให้นมบุตร ผู้ป่วยที่ใช้ยาวาร์ฟาริน

ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ หลังการใช้กัญชาแล้ว ภายใน 6 ชั่วโมงไม่ควรขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรต่างๆ และการใช้กัญชาและแอลกอฮอล์ร่วมกันยิ่งทำให้สมรรถนะลดลง

ผู้ที่ต้องการใช้กัญชาเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ควรใช้กัญชาโดยปรับจากองค์ความรู้ดั้งเดิมที่ระบุว่า กัญชามีรสเบื่อเมา สรรพคุณ ชูกำลัง เจริญอาหาร ทำให้นอนหลับสามารถนำมาผสมกับเครื่องเทศ ปรุงผสมในอาหาร หรือใส่เป็นเครื่องชูรสในอาหาร

ในอดีตที่ผ่านมา หมอพื้นบ้านบางจังหวัดใช้ใบกัญชา ปิ้งไฟให้เหลืองกรอบตำผสมพริกแกงเผ็ด ปรุงให้คนไข้ที่มีอาการเบื่ออาหาร บางคนใช้ใบกัญชาใส่ในต้มแกง เพื่อเพิ่มรสชาติอาหาร ทำให้กินข้าวได้มาก และนอนหลับสบาย หรือนำใบไปต้มจนเดือด ดื่มอุ่น ๆ เพื่อคลายเครียด

หมอพื้นบ้านส่วนใหญ่ไม่นิยมนำดอกมาปรุงอาหาร เพราะมีกลิ่นเหม็นเขียวมาก ทำให้กลบกลิ่นและรสชาติของอาหาร อีกทั้งวัตถุประสงค์ของการใช้กัญชาในอาหาร เพื่อปรับสมดุลของเลือดลมเท่านั้น ไม่ต้องการทำให้เมา

ส่วนที่นิยมนำมาปรุงใส่อาหารมากที่สุดคือ ใบ ใบสดที่เพิ่งเก็บจากต้นไม่มีสารเมา แต่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ อาจนำมากินกับน้ำพริกหรือผสมกับผักอื่น ๆ กินแบบสลัด

ผู้ที่เพิ่งเริ่มกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา อาจมีอาการข้างเคียง เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน รู้สึกมึนงง ปวดหัว หัวใจเต้นเร็ว โดยอาการเหล่านี้จะเริ่มแสดงผลหลังกิน 30-60 นาที และจะแสดงอาการเด่นชัดที่เวลา 1 ชั่วโมง และอยู่ได้นานถึง 6 ชั่วโมงหลังกิน

ดังนั้น ผู้ที่เพิ่งกินกัญชาหรือเริ่มกินเป็นครั้งแรก ควรเริ่มกินที่ครึ่งใบ แล้วรอดูผลหลังการกิน 2 ชั่วโมง หากมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ให้ดื่มน้ำมาก ๆ หากมีอาการมึนเมา ให้ดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำตาลหรือน้ำผึ้ง หรือดื่มชารางจืด เพื่อบรรเทาอาการ