กัญชาเสรี 360 องศา ตีลังกาออกกฎเกณฑ์กำกับตามหลัง

มหกรรมกัญชา

 

ตลอดเวลากว่า 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากปลดล็อกกัญชาพ้นจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้สร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนและภาคธุรกิจไม่น้อย และถือเป็นศักราชใหม่ของกัญชาพืชสมุนไพรไทยเมื่อในอดีต จากเดิมที่เคยอยู่ “ใต้ดิน” เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่วันนี้ทุกบ้านสามารถที่จะปลูกและใช้ได้อย่างเสรี

ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ถูกพิพากษ์วิจารณ์และแสดงความห่วงกังวลกับการปลดล็อกแบบครอบจักรวาลดังกล่าว เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายควบคุมการบริโภคกัญชาที่ชัดเจน

นี่คือช่วง “สุญญากาศ” ที่ทุกอย่างอาจเกิดขึ้นได้

เตือนผลกระทบ-ปัญหาสังคม

แม้ที่มาที่ไปของการปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด ที่มีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นหัวหอก หลัก ๆ จะมุ่งไปที่เรื่องของประโยชน์ทางการแพทย์และการปลุกปั้นวาดฝันให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่

ในข้อเท็จจริงแม้กัญชาจะมีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่หากใช้ไม่ถูกต้อง ใช้เกินความจำเป็น สาระสำคัญของกัญชายังมีฤทธิ์เสพติด ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท จึงไม่แปลกใจที่จะมีเสียงเตือนและข้อเสนอแนะจากองค์กรที่ทยอยออกมาแถลงการณ์เป็นระยะ ๆ

เริ่มจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ที่ประกาศแถลงการณ์โดยแสดงว่ามีความห่วงใยถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน และความปลอดภัยของสังคมโดยรวม พร้อมกันนี้เสนอแนะให้รัฐบาลเร่งพิจารณาให้มีมาตรการทางกฎหมาย อาทิ พระราชกำหนดควบคุมกัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชา เพื่อยกระดับการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชนให้มีประสิทธิภาพและทันต่อประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ที่จะมีผลบังคับใช้

รวมทั้งขอให้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชา-กัญชง พ.ศ. … เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้บริโภคกัญชาอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

เช่นเดียวกับราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ สมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย ชมรมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมกันแสดงจุดยืน ห้าม “เด็ก-วัยรุ่นต่ำกว่า 20 ปีใช้กัญชา ห่วงมีผลต่อสมอง พร้อมทั้งวอนให้มีมาตรการควบคุม ผลิต การขายอาหารผสมกัญชา ต้องมีเครื่องหมายระบุชัดเจน

นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น

แนวโน้มกัญชาเอฟเฟ็กต์เพิ่ม

แม้กระแสความต้องการปลูกจะมีเข้ามาอย่างถล่มทลาย สะท้อนจากยอดการลงทะเบียนปลูกกัญชาผ่านแอป “ปลูกกัญ” ล่าสุด (ณ เวลา 07.00 น. วันที่ 17 มิ.ย.) มีตัวเลขสะสม 858,505 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นใบรับจดแจ้งกัญชา 832,179 ใบ และใบรับจดแจ้งกัญชง 26,326 ใบ

แต่อีกด้านหนึ่ง หลังการปลดล็อกครั้งสำคัญนี้เริ่มมีภาพของการใช้กัญชาอย่างไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมให้เห็นมากขึ้น เริ่มมีรายงานของสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ที่ระบุว่ามีผู้ป่วยจากการใช้กัญชามากเกินไปเข้ามารับการรักษา และเริ่มเห็นตัวเลขรายงานจำนวนผู้ป่วยจากกัญชาที่เพิ่มขึ้น

สอดคล้องกับรายงานข่าวของโรงพยาบาลศูนย์ที่อยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ที่รายงานว่า มีคนไข้ที่เข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินทุกวัน เนื่องจากมีการบริโภคเกินขนาด หรือบางรายมีอาการแพ้รุนแรง และเป็นที่น่าสังเกตว่าในจำนวนนี้มีเยาวชนจำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน

นี่ยังไม่รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงจากการบริโภคกัญชา ที่การแชร์ประสบการณ์ตรงของผู้ที่เคยลิ้มรสกัญชาทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่านสื่อออนไลน์เพื่อย้ำเตือนถึงพิษภัยของกัญชาที่มีให้เห็นเป็นระยะ ๆ

พิษภัยจากกัญชาที่มีแนวโน้มกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น สร้างความตื่นตัวให้กับทั้งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดย ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ที่ย้ำว่าแม้จะเปิดเสรีกัญชาแล้ว แต่สถานศึกษาในสังกัด ศธ.ทุกแห่งต้องเป็นสถานศึกษาที่ปลอดกัญชา โดยการห้ามสูบ เสพ และล่าสุดได้ลงนามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถานศึกษา ส่วนราชการหรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ

เช่นดียวกับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ได้เซ็นคำสั่งประกาศกรุงเทพมหานคร ประกาศให้โรงเรียนในสังกัด กทม.เป็นเขตปลอดกัญชา งดจำหน่ายอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชง

สธ.ตื่นตัวออกประกาศควบคุม

ดูเหมือนว่าจากเสียงสะท้อนขององค์กรทางการแพทย์ และผลกระทบในเชิงลบที่มีรูปธรรมชัดเจนมาก เริ่มทำให้บรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มมีความเคลื่อนไหวเพื่อปิดจุดบอดที่อาจจะมีการนำกัญชาไปในทางที่ไม่เหมาะสม อาทิ กรมอนามัย ที่ออกประกาศมาควบคุมร้านอาหารที่นำส่วนประกอบของกัญชามาปรุง-ทำอาหาร โดยกำหนดให้ร้านอาหารต้องเปิดเผยเอกสารหรือแสดงหลักฐานแหล่งที่มา กำหนดให้แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชา, แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบในแต่ละเมนู

รวมทั้งกำหนดให้ต้องแสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง ทั้งเด็กวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร

ส่วนกรมสุขภาพจิตก็ลุกขึ้นมาเปิดสายด่วน 1667 ให้คำปรึกษาการใช้กัญชาฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับ กรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่มีความเคลื่อนไหวในการเตรียมจะออกร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่ออุดช่วงโหว่ช่วงสุญญากาศระหว่างรอร่างกฎหมายคุมกัญชา

นี่ยังไม่นับรวมข้อสั่งการจากผู้บริหารระดับสูงของ สธ.ที่กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ ให้จัดทำป้ายไวนิลเพื่อประชาสัมพันธ์และเน้นย้ำว่าการใช้กัญชาทางการแพทย์ควรปรึกษาแพทย์ แพทย์แผนไทย รวมถึงการไม่สนับสนุนการสูบหรือใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ (16 มิ.ย.) ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เรื่องกัญชาโดยส่วนหนึ่งระบุว่า “…วันนี้ได้คุยกันว่ากระทรวงสาธารณสุขจะต้องงัดกฎหมายทุกฉบับขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทนระหว่างที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติกัญชา เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ความผิดลหุโทษหลายฐาน พ.ร.บ.การสาธารณสุข แม้กระทั่งกระทรวงพาณิชย์ก็มีกฎหมายหลายฉบับที่ใช้คุมหน้ากากอนามัยในช่วงโควิด-19 ระบาดใหม่ ๆ มาปรับใช้กับกัญชา เพราะกัญชาเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่อาจจะควบคุมได้ รวมถึงราคาก็สามารถควบคุมได้”

ถัดมา “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 เป็นการห้ามใช้กัญชาในที่สาธารณะ ห้ามขายให้คนอายุต่ำกว่า 20 ปี และหญิงท้อง-ให้นมบุตร

จากนี้ไปอาจจะมีประกาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาอีกเป็นระยะ ๆ จนกว่าร่าง พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง จะผ่านสภาและมีผลบังคับใช้

วันนี้แม้ทุกครัวเรือนจะสามารถปลูกกัญชาได้อย่างเสรี แต่ในแง่ของการใช้จะยังถูกจำกัดและควบคุมโดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ

ท้ายที่สุดคงขึ้นอยู่กับว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะมีการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจังหรือไม่