สธ. แจงมีกฎหมายกำหนดแจ้งเตือนการใช้ “กัญชา” ในอาหารอยู่แล้ว

กัญชา
Photo : Pixabay

สธ. แจงมีกฎหมายกำหนดแจ้งเตือนการใช้กัญชาในอาหารอยู่แล้ว หลังเกิดข้อห่วงใยอาจทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาโดยไม่รู้ตัว

วันที่ 30 มิถุนายน 2565 นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง กรณีข้อห่วงใยกัญชาเสรีทางการแพทย์ สุขภาพ และส่งเสริมเศรษฐกิจ อาจทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาโดยไม่รู้ตัวนั้น

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ

โดยกำหนดให้ร้านอาหารต้องจัดทำข้อมูลแจ้งเตือนลูกค้า ทั้งข้อความแสดงว่าเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา, แสดงเมนูที่ใช้ใบกัญชาทั้งหมดพร้อมปริมาณที่ใช้

ทั้งยังมีข้อแนะนำการใช้ใบกัญชาในการปรุงประกอบอาหาร คือ อาหารทอดใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบต่อเมนู ประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่ม ใช้ใบกัญชาสด 1 ใบต่อเมนู

นายแพทย์รุ่งเรืองกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังกำหนดให้แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบอีกด้วย

ซึ่งคำเตือนที่ต้องแสดง คือ เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน, หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที, ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC หรือ CBD ควรระวังในการรับประทาน, อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล

เพื่อป้องกันกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ไม่ให้เข้าถึงการใช้กัญชา รวมถึงยังห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรคด้วย

“ทั้งหมดเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อเข้าร้านอาหารแล้วจะต้องได้รับข้อมูลว่าร้านนี้ใช้กัญชาทำอาหารหรือไม่ ใช้ในเมนูอะไร ส่วนผสมมากน้อยแค่ไหน ทำให้สามารถตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะบริโภคหรือไม่

สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ออกสู่ตลาด ก่อนที่ อย.จะอนุมัติ ได้มีการตรวจสอบสูตรแล้วว่ามีส่วนผสมของกัญชาไม่เกินค่าที่กำหนดที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ไม่เกิดผลต่อระบบประสาทและสมอง โดยกำหนดสาร THC 1.6 มิลลิกรัม/Pack และรับประทานสาร THC ได้ไม่เกิน 3.2 มิลลิกรัมต่อวัน และบนฉลากของผลิตภัณฑ์ต้องมีข้อมูลคำเตือนเช่นกัน” นายแพทย์รุ่งเรืองกล่าว