ปิดฉากมหากาพย์ “พรีอุส” หวั่นกระทบฐานผลิต “อีวี”

PRIUS
คอลัมน์ : รายงาน

ทันทีที่ศาลฎีกาภาษีอากรกลางประกาศคำพิพากษาคดีข้อพิพาทการจัดเก็บภาษีนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุส (Prius) ระหว่างบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กับกรมศุลกากร เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ก็ถือเป็นการยุติมหากาพย์ “พรีอุส” ที่ยืดเยื้อมายาวนาน

โดยมีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นฝ่ายแพ้คดีต้องจ่ายภาษีที่ขาด เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม จำนวน 11,639,786,094.84 บาท แยกเป็น อากรขาเข้า 7,580,608,221.39 บาท ภาษีสรรพสามิต 2,029,576,752.79 บาท ภาษีเพื่อมหาดไทย 202,957,592.56 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,826,643,528.10 บาท

เสียภาษีไม่ถูกต้อง

เนื่องจากชิ้นส่วนที่โตโยต้านำเข้ามายังประเทศไทยนั้นเป็นชิ้นส่วนที่ใกล้จะประกอบสำเร็จสมบูรณ์เป็นรถพร้อมใช้งานได้แล้ว ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไข ความร่วมมือในทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่น (JTEPA) ที่จะขยายการค้าระหว่างกันโดยการปรับลดภาษีให้ต่ำลงและเป็นศูนย์ เพื่อให้เกิดการค้าอย่างเสรี รวมถึงการอำนวยความสะดวกทางการค้า ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550

เพราะฉะนั้นการเสียภาษีชิ้นส่วนอัตราอากรขาเข้า 30% ผิด ที่ถูกต้องเสียในอัตรา 80%

สำหรับคดีโตโยต้ากับกรมศุลฯเกิดข้อพิพาทกันมาตั้งแต่ปี 2560 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นฝ่ายชนะคดี แต่หลังจากนั้นศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ นำเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ก่อนที่จะมีคำพิพากษากลับให้บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นฝ่ายแพ้คดี ต่อมาฝ่ายโตโยต้าได้ยื่นฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรอนุญาตให้ฎีกาได้ คดีอยู่ในศาลนานถึง 5 ปี กระทั่งสิ้นสุดเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา

โตโยต้าต้องจ่ายภายใน 1 เดือน

หลังสื่อสารมวลชนรายงานคำพิพากษาไม่ถึง 2 ชั่วโมง โตโยต้าไทยแลนด์ออกแถลงการณ์ บริษัทได้ใช้สิทธิประโยชน์ตามอนุสัญญาระหว่างสองประเทศ หรือ JTEPA ซึ่งหน่วยงานราชการของไทยที่เกี่ยวข้องได้อนุมัติการใช้สิทธิประโยชน์ แต่อย่างไรก็ตาม โตโยต้าขอแสดงความเคารพต่อคำพิพากษาของศาลฎีกา และหลังจากได้รับสำเนาคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้ว จะศึกษารายละเอียดของคำพิพากษาและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้

ขณะที่คู่ความกระทรวงการคลัง โดย นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ยืนยันว่า เมื่อศาลสั่งแล้ว โตโยต้าต้องชำระภาษีอากรที่ขาดไปภายใน 30 วัน หลังจากวันที่มีคำพิพากษาที่สุด ล่าสุดทางโตโยต้าได้ประสานงานเข้ามาแล้ว ซึ่งตามคำพิพากษาต้องจ่ายทั้งหมด เป็นการรวมทั้งภาษีส่วนที่ขาด พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ส่วนกรณีเอกชนไม่สามารถจ่ายได้ในคราวเดียวนั้น ก็ต้องทำเรื่องขอผ่อนชำระ ซึ่งทุกอย่างพิจารณาไปตามกฎหมาย

ย้อนรอย “พรีอุส”

โตโยต้าถือเป็นผู้นำรถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า และเป็นเจ้าแรกที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย พรีอุส คือรถยนต์ลูกผสม (ไฮบริด) ที่ใช้เครื่องยนต์ผสมมอเตอร์ไฟฟ้า โตโยต้า พรีอุส เปิดตลาดบ้านเราครั้งแรกในปี พ.ศ. 2552

คำว่า พริอุส ในภาษาละตินหมายถึง “ผู้ที่ไปถึงก่อนใคร” จุดขายตอนนั้น นอกจากประหยัด ยังเป็นรถยนต์รักษ์โลก หลังจากนั้นในปี 2553 โตโยต้าเปิดสายการผลิต พรีอุส เจเนอเรชั่นที่ 3 ในไทย และเป็นประเทศที่ 3 ของโลก สำหรับการผลิต โตโยต้า พรีอุส ด้วยราคาจำหน่ายล้านต้น ๆ

ขายพรีอุสเกือบ 2 หมื่นคัน

18 กันยายน 2558 โตโยต้าประกาศยุติการผลิตและจัดจำหน่ายพรีอุสในประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่าความต้องการในประเทศลดลง ประกอบกับความขัดแย้งทางภาษีกับรัฐบาลไทย โดยตลอดระยะเวลา 5 ปี โตโยต้ามียอดขายพรีอุสในประเทศไทยไปกว่า 18,000 คัน แม้จะถอดรุ่นพรีอุสออกจากตลาด แต่โตโยต้ายังมุ่งมั่นต่อยอดพัฒนารถยนต์ “ไฮบริด” ปัจจุบันโตโยต้ามีรถยนต์ “ไฮบริด” ถึง 4 โมเดลหลัก ได้แก่ อัลติส, คัมรี, ซี-เอชอาร์ และครอส

จับตาถอยตั้งหลักหรือรุกคืบ

การพ่ายแพ้คดีของโตโยต้าครั้งนี้ แม้เม็ดเงินเทียบกับกำไรของโตโยต้าที่ปีหนึ่งทำได้หลายหมื่นล้าน แต่ก็มีหลายคนกังวลว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นรอยฝังลึกให้กับการทำธุรกิจในประเทศไทยมากน้อยขนาดไหน โดยเฉพาะการลงหลักปักฐานอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า

ซึ่งล่าสุดโตโยต้าลงนามทำเอ็มโอยูเข้าร่วมโครงการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้ากับรัฐบาลไทย โดยกำหนดจะใช้แบรนด์ bZ หรือ beyond Zero โมเดล bZ4X เป็นหัวหอกรุกตลาดในประเทศไทยปลายปีนี้ แต่ก็ยังมีกระแสข่าวเล็ดลอดออกมาตลอดว่า bZ4X รถยนต์ไฟฟ้า 100% รุ่นนี้จะใช้ประเทศอินโดนีเซียเป็นฐานผลิต โดยมีแหล่งแร่ที่ใช้ทำแบตเตอรี่ในอินโดนีเซียเป็นแรงขับเคลื่อน

เคสแบบนี้ไม่อยากให้กะพริบตา